คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 477/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การพิจารณาว่าจำเลยที่ 2 จะอุทธรณ์ได้หรือไม่ ต้องพิจารณาตามบทกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะยื่นอุทธรณ์ ปรากฏว่าขณะจำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22(4) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2532 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดพ.ศ. 2520 มาตรา 3 บัญญัติเป็นข้อยกเว้นให้จำเลยอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ ในกรณีที่ถ้าจำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษปรับเกินหนึ่งพันบาท ดังนั้น เมื่อศาลจังหวัดกาญจนบุรีพิพากษาลงโทษปรับจำเลยที่ 2 เพียงหนึ่งพันบาท จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4), 157 ให้ปรับ 1,000 บาทไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เป็นปัญหาข้อกฎหมายจึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์นั้น เห็นว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียวขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหายและพิพากษาลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 157ให้ปรับหนึ่งพันบาท จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า เหตุรถยนต์ชนกันมิได้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 2 แต่เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 อันเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษปรับเกินกว่าห้าร้อยบาท จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2532 ภายหลังจากพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ 4)พ.ศ. 2532 ใช้บังคับประกอบด้วยพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดพ.ศ. 2520 มาตรา 3 ที่แก้ไขแล้ว ดังนั้นการพิจารณาว่าจำเลยที่ 2 จะอุทธรณ์ได้หรือไม่ต้องพิจารณาตามบทกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะยื่นอุทธรณ์ ปรากฏว่าขณะจำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์พระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงพ.ศ. 2499 มาตรา 22 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ 4)พ.ศ. 2532 มาตรา 3 บัญญัติว่า “ในคดีอาญาห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลแขวงในปัญหาข้อเท็จจริง เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้ให้จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ฯลฯ
(4) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษปรับเกินหนึ่งพันบาท”
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับจำเลยที่ 2 เพียงหนึ่งพันบาท อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว”
พิพากษายืน

Share