คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4766/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องในข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 177 และมาตรา 180 ข้อหาดังกล่าวจึงต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 แม้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องความผิดฐานนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 180 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี ปรับไม่เกินหกพันบาท อันจะต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 193 ทวิ ก็ตาม แต่ความผิดดังกล่าวเป็นกรรมเดียวกันกับความผิดฐานเบิกความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 ซึ่งมีอัตราโทษอันเป็นบทหนัก จำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ ดังนั้นความผิดฐานนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานเท็จจึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ได้กระทำผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกระทงต่างกรรมกันคือ
ก. เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2525 เวลากลางวัน จำเลยที่ 3ในฐานะส่วนตัวและผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานกลางแทนได้เบิกความเท็จต่อศาลแรงงานกลาง
ข. ตามวันเวลาในข้อ ก. จำเลยที่ 3 ได้เบิกความเท็จต่อศาลแรงงานกลางอีกข้อหนึ่ง
ค. ระหว่างวันที่ 17 มีนาคม 2525 ถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2525เวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยที่ 3 ได้แสดงพยานหลักฐานใบประเมินผลงานอันเป็นเท็จต่อศาลในการพิจารณาคดีแรงงาน ซึ่งจำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 3 ได้ร่วมกันทำปลอมขึ้น
ง. วันที่ 14 กรกฎาคม 2525 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันนำสืบและแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จต่อศาลแรงงานกลาง
ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177, 180, 264, 268,90, 91, 83, 84
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วให้ประทับฟ้องเฉพาะข้อหาความผิดตามมาตรา177, 180, 83, 84, 90, 91
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 จำคุก 1 ปี และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี
โจทก์และจำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายในข้อแรกว่า สำหรับฎีกาโจทก์ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 และมาตรา 180สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 นั้น ปรากฏว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืนต้องกันให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ดังนั้นคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532 มาตรา 13 และศาลฎีกาวินิจฉัยในข้อต่อมาว่า การอุทธรณ์คดีอาญาในปัญหาข้อเท็จจริงนั้น ศาลจะต้องพิจารณาอัตราโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายสำหรับข้อหาแต่ละกระทงความผิดว่าต้องห้ามอุทธรณ์หรือไม่ ซึ่งตามฟ้องความผิดฐานนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 180 นั้น ได้กระทำพร้อมกันไปกับกากรกระทำผิดบานเบิกความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 177 เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวกัน และอัตราโทษในบทหนักตามมาตรา 177 จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงต่อไปแล้วพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 สำหรับข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177.

Share