คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4762/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ของโจทก์และโจทก์มีสิทธิในตึกแถวพิพาท โดยจำเลยที่ 1 นำสิทธิการเช่าช่วงตึกแถวพิพาทไปให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันหนี้การที่จำเลยที่ 3 ได้ไปติดต่อกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 แล้วได้ไปทำการจดทะเบียนยกเลิกสัญญาเช่าช่วงตึกแถวพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนให้จำเลยที่ 3 เช่าช่วงโดยจำเลยที่ 4 ให้ความยินยอมนั้น พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสี่ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยทั้งสี่กระทำไปทั้งที่รู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 เสียเปรียบ การกระทำของจำเลยทั้งสี่ดังกล่าวเป็นการฉ้อฉลโจทก์ โจทก์มีสิทธิเพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยทั้งสี่กระทำลงไปในนั้นได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของตึกแถวสองชั้นครึ่งเลขที่ 6/1 ถนนรณกิจ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2518 จำเลยที่ 2 ได้ทำหนังสือสัญญาเช่าตึกแถวดังกล่าวจากจำเลยที่ 4 มีกำหนด 20 ปี โดยจดทะเบียนการเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ต่อมาวันที่ 26 มกราคม2520 จำเลยที่ 2 ได้ทำหนังสือสัญญาให้จำเลยที่ 1 เช่าช่วงตึกแถวดังกล่าว มีกำหนด 18 ปี 10 เดือน โดยจำเลยที่ 4 ได้ให้ความยินยอมได้ไปจดทะเบียนการเช่าช่วงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หลังจากทำสัญญาเช่าช่วงแล้ว จำเลยที่ 1 ได้เข้าครอบครองตึกแถวดังกล่าวตลอดมาโดยจำเลยที่ 2 มิได้เกี่ยวข้องในตึกแถวดังกล่าวอีก เมื่อวันที่ 17กุมภาพันธ์ 2519 จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ สาขาหล่มสัก วงเงิน 200,000 บาท และต่อมาได้ลดวงเงินลงเหลือ 150,000 บาท เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2524 จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือสัญญามอบสิทธิการเช่าช่วงตึกแถวดังกล่าวให้แก่โจทก์เพื่อยึดถือไว้เป็นหลักประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 4ในฐานะเจ้าของและผู้ให้เช่าตึกแถวดังกล่าวได้ทำหนังสือยินยอมมอบสิทธิการเช่าดังกล่าวให้แก่โจทก์ด้วย จำเลยที่ 1 ได้เบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์แล้วผิดสัญญาต่อมาโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 219,696.08บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย คดีถึงที่สุดแล้ว ในขณะที่คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันทำการฉ้อฉลโจทก์ กล่าวคือ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2526 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันยื่นคำร้องขอเลิกสัญญาเช่าช่วงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ต่อนายอำเภอหล่มสัก ต่อมาจำเลยที่ 2ได้จดทะเบียนโอนสิทธิการเช่าช่วงตึกแถวดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3โดยความยินยอมของจำเลยที่ 4 การกระทำของจำเลยทั้งสี่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่สามารถบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวข้างต้นได้ เพราะจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่โจทก์จะบังคับชำระหนี้ได้ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2527 โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดสิทธิการเช่าช่วงของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้เลิกสิทธิการเช่าช่วงกับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2ได้โอนสิทธิการเช่าช่วงให้จำเลยที่ 3 แล้ว ขอศาลพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือสัญญาเช่าช่วงตึกแถวพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 ผู้ให้เช่าช่วงกับจำเลยที่ 3 ผู้เช่าช่วง และเพิกถอนหนังสือเรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมและการสอบสวนสิทธิในที่ดินประเภทเลิกเช่าช่วงตึกแถวระหว่างจำเลยที่ 1 ผู้เช่าช่วงกับจำเลยที่ 2 ผู้ให้เช่าช่วง กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันจัดการโอนสิทธิการเช่าช่วงตึกแถวดังกล่าวนี้กลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 ตามเดิม
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ได้เช่าตึกแถวพิพาทจากจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 2 ได้ให้จำเลยที่ 1 เช่าช่วงตึกแถวพิพาทจริงต่อมาจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ของจำเลยที่ 3 ต้องการที่จะโอนสิทธิการเช่าช่วงตึกแถวพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 เพื่อชำระหนี้จำเลยที่ 2จึงเลิกสัญญาเช่าช่วงกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาเช่าช่วงตึกแถวพิพาทกับจำเลยที่ 3 โดยความยินยอมของจำเลยที่ 4ด้วยความสุจริต จำเลยที่ 2 ไม่เคยทราบเรื่องความผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มาก่อน และไม่เคยทราบว่าโจทก์ฟ้องดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินจำเลยที่ 3จำนวน 120,000 บาท เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2524 จำเลยที่ 1ได้มอบสัญญาเช่าช่วงตึกแถวพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2เป็นประกันหนี้ และได้ทำสัญญาให้จำเลยที่ 3 เช่าช่วงตึกแถวพิพาทมีกำหนด 3 ปี อีกด้วย จำเลยที่ 3 ได้ครอบครองตึกแถวพิพาทตลอดมาต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัด ไม่ชำระหนี้แก่จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1จึงตกลงจดทะเบียนเลิกสัญญาเช่าช่วงตึกแถวพิพาทกับจำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ ได้จดทะเบียนให้จำเลยที่ 3 เช่าช่วงตึกแถวพิพาทโดยตรง การที่จำเลยที่ 1 มอบสิทธิการเช่าช่วงให้โจทก์ยึดไว้เป็นประกันหนี้นั้น หาทำให้โจทก์มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 3 ไม่ จำเลยที่ 3 กระทำไปโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของตึกแถวพิพาทเลขที่ 6/1 ถนนรณกิจ ได้ให้จำเลยที่ 2 เช่าตึกแถวพิพาทมีกำหนด20 ปี และได้ยินยอมให้จำเลยที่ 1 เช่าช่วงตึกแถวพิพาทจากจำเลยที่ 2 กับยินยอมให้จำเลยที่ 1 มอบสัญญาเช่าช่วงตึกแถวพิพาทไว้เป็นประกันหนี้โจทก์จริง ต่อมาจำเลยที่ 4 ได้รับแจ้งจากโจทก์ว่า จำเลยที่ 3 จะรับโอนสิทธิการเช่าตึกแถวพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3จะชำระหนี้ซึ่งจำเลยที่ 1 มีต่อโจทก์ให้แก่โจทก์ โจทก์ จำเลยที่ 1และจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 4 ไปลงชื่อให้ความยินยอมให้จำเลยที่ 1เช่าช่วงตึกแถวพิพาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการเช่าช่วงตึกแถวพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 ผู้ให้เช่าช่วง กับจำเลยที่ 3ผู้เช่าช่วง และให้เพิกถอนหนังสือเรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมและการสอบสวนสิทธิในที่ดินประเภทเลิกเช่าช่วงตึกแถวพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 ผู้เช่าช่วง กับจำเลยที่ 2 ผู้ให้เช่าช่วง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของตึกแถวพิพาท เลขที่ 6/1ถนนรณกิจ ตำบลหล่มสัก อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 4ธันวาคม 2518 จำเลยที่ 4 ได้จดทะเบียนให้จำเลยที่ 2 เช่า มีกำหนด20 ปี ต่อมาวันที่ 25 มกราคม 2520 จำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนให้จำเลยที่ 1 เช่าช่วงตึกแถวพิพาทมีกำหนด 18 ปี 10 เดือน โดยจำเลยที่ 4 ให้ความยินยอม เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2519 จำเลยที่ 1ได้ทำหนังสือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ ต่อมาวันที่ 16ตุลาคม 2524 จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือสัญญามอบสิทธิการเช่าช่วงตึกแถวพิพาทให้แก่โจทก์ไว้เป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 4 ให้ความยินยอม จำเลยที่ 1 ได้เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีแก่โจทก์แล้วผิดสัญญา โจทก์จึงฟ้องเรียกเงินจากจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 219,696.08บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 168/2526คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2526 จำเลยที่ 1และที่ 2 ได้ไปจดทะเบียนเลิกสัญญาเช่าช่วงตึกแถวพิพาท ต่อมาวันที่ 31 สิงหาคม 2526 จำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนให้จำเลยที่ 3เช่าช่วงตึกแถวพิพาทมีกำหนด 12 ปี 4 เดือน โดยจำเลยที่ 4ให้ความยินยอม
ข้อที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2มีสิทธิจดทะเบียนเลิกสัญญาเช่าช่วง และจำเลยที่ 2 มีสิทธิจดทะเบียนให้จำเลยที่ 3 เช่าช่วงตึกแถวพิพาท จำเลยทั้งสี่จึงไม่ได้กระทำการฉ้อฉลโจทก์นั้น ในข้อนี้จำเลยที่ 3 เบิกความว่า เมื่อจำเลยที่ 3 เข้าไปอยู่อาศัยในตึกแถวพิพาทได้ประมาณ 20 วัน พนักงานของโจทก์ได้มาแจ้งว่าโจทก์มีสิทธิในตึกแถวพิพาทจำเลยที่ 3 จึงไปติดต่อกับโจทก์ โจทก์ตกลงจะโอนสิทธิการเช่าช่วงตึกแถวพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 3 จะต้องให้เงินแก่โจทก์จำนวน 220,000 บาทครั้นถึงวันนัดจดทะเบียนโอนสิทธิการเช่าช่วง พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งเหตุขัดข้อง พนักงานของโจทก์บอกจำเลยที่ 3 ว่าเมื่อเหตุขัดข้องสิ้นไปแล้วจะแจ้งให้จำเลยที่ 3 ทราบ ต่อมาได้นัดโอนสิทธิการเช่าช่วงอีกครั้งหนึ่งถึงวันนัดโจทก์ไม่ไปพบพนักงานเจ้าหน้าที่พนักงานเจ้าหน้าที่บอกจำเลยที่ 3 ว่าไม่สามารถโอนสิทธิการเช่าช่วงได้ จำเลยที่ 3 จึงติดต่อให้จำเลยที่ 1 รีบดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็วจำเลยที่ 1 ได้ติดต่อกับจำเลยที่ 2 และจัดการจดทะเบียนยกเลิกสัญญาเช่าช่วงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนให้จำเลยที่ 3 เช่าช่วงตึกแถวพิพาทโดยจำเลยที่ 4 ให้ความยินยอม พิเคราะห์คำเบิกความของจำเลยที่ 3ดังกล่าวแล้ว เห็นว่าจำเลยที่ 3 รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ของโจทก์ และโจทก์มีสิทธิในตึกแถวพิพาท โดยจำเลยที่ 1นำสิทธิการเช่าช่วงตึกแถวพิพาทไปให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันหนี้การที่จำเลยที่ 3 ได้ไปติดต่อกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 แล้วได้ไปทำการจดทะเบียนยกเลิกสัญญาเช่าช่วงตึกแถวพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนให้จำเลยที่ 3 เช่าช่วง โดยจำเลยที่ 4 ให้ความยินยอม พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสี่ดังกล่าวแสดงว่า จำเลยทั้งสี่กระทำไปทั้งที่รู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 เสียเปรียบการกระทำของจำเลยทั้งสี่ดังกล่าวเป็นการฉ้อฉลโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิเพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยทั้งสี่กระทำลงไปนั้นได้
พิพากษายืน.

Share