คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2210/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดี พ.ศ. 2522 ข้อ 68 วรรคแรก ที่กำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการปิดประกาศขายทอดตลาดโดยเปิดเผย ณ สถานที่ที่ทรัพย์จะขายตั้งอยู่ด้วย เป็นข้อกำหนดเพื่อประสงค์ให้บุคคลภายนอกที่สนใจมาประมูลซื้อทรัพย์ในการขายทอดตลาดเท่านั้น ระเบียบดังกล่าวหาได้เป็นกฎหมายไม่ แม้หากจะไม่มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวแต่เมื่อได้ความว่าจำเลยได้ทราบกำหนดวันขายทอดตลาดตามประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีล่วงหน้าแล้ว ถือได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้แจ้งวันขายทอดตลาดให้จำเลยทั้งสองซึ่งมีส่วนได้เสียในการบังคับคดีทราบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 306 แล้ว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 306,308 หมวดที่ 2ว่าด้วยวิธียึดทรัพย์อายัดทรัพย์และการจ่ายเงินประกอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนที่ 3 ว่าด้วยการขายทอดตลาดและระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดี พ.ศ. 2522 หมวดที่ 8 ว่าด้วยการขายทรัพย์ไม่มีบทบัญญัติหรือข้อกำหนดว่าในการขายทอดตลาด เมื่อผู้ขายทอดตลาดจะแสดงความตกลงด้วยการเคาะไม้ ถ้าผู้มีส่วนได้เสียคัดค้านว่าราคาต่ำไปยังไม่สมควรแสดงความตกลงขาย ผู้ขายทอดตลาดจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนหรือต้องรอให้ศาลวินิจฉัยข้อคัดค้านนั้นเสียก่อนดังนั้น แม้ไม่มีการดำเนินการดังกล่าวก็หาทำให้การขายทอดตลาดนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 466,080.31 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 132367 ตำบลสามเสนนอก(สามเสนนอกฝั่งเหนือ) อำเภอห้วยขวาง (บางซื่อ) กรุงเทพมหานครพร้อมสิ่งปลูกสร้างขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ขอหมายบังคับคดีนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองดังกล่าวและขายทอดตลาดไปในราคา 770,000 บาท
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ยื่นคำร้องว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ปิดประกาศการขายทอดตลาด ณ สถานที่ที่ทรัพย์ตั้งอยู่ ขายทอดตลาดไปโดยไม่ขออนุญาตจากศาลกับผู้อำนวยการกองและขายทรัพย์ไปในราคาต่ำเป็นการฝ่าฝืนกฎระเบียบขอให้มีคำสั่งเพิกถอนขายทอดตลาด
โจทก์และผู้ซื้อทรัพย์แถลงคัดค้านว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดโดยชอบแล้ว ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาประการแรกว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้ปิดประกาศขายทอดตลาด ณ สถานที่ที่ทรัพย์ตั้งอยู่ เป็นการฝ่าฝืนระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการบังคับคดี ฯลฯ ในข้อนี้โจทก์มีสำเนารายงานการเดินหมายลงวันที่16 กุมภาพันธ์ 2533 ตามเอกสารหมาย ร.ค.1 เป็นหลักฐานแสดงว่าพนักงานเดินหมายได้นำประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ไปปิดไว้ที่ประตูบ้านเลขที่ 502/64 ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ แขวงสามเสนนอกเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นที่อยู่ของจำเลยที่ 1 ที่ 2และเป็นสถานที่ที่ทรัพย์ตั้งอยู่แล้วโดยมีนายนิพนธ์ บุษบงผู้อำนวยการกองบังคับคดีแพ่ง 2 กรมบังคับคดี มาเบิกความรับรองแต่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ก็ได้เบิกความปฏิเสธว่าพนักงานเดินหมายไม่ได้ปฏิบัติดังกล่าวและจำเลยไม่เคยเห็นประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ศาลฎีกาเห็นว่า ระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดี พ.ศ. 2522 ข้อ 68 วรรคแรกกำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการปิดประกาศขายทอดตลาดโดยเปิดเผยณ สถานที่ที่ทรัพย์ที่จะขายตั้งอยู่ด้วย ซึ่งเป็นข้อกำหนดเพื่อประสงค์ให้บุคคลภายนอกที่สนใจมาประมูลซื้อทรัพย์ในการขายทอดตลาดเท่านั้น ระเบียบดังกล่าวหาได้เป็นกฎหมายไม่ แม้จะรับฟังตามข้ออ้างของจำเลยดังกล่าว แต่จำเลยที่ 2 ก็ได้เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า จำเลยที่ 2 ได้ทราบว่าจะมีการขายทอดตลาดคดีนี้ตอนปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2533 แสดงว่าจำเลยได้ทราบกำหนดวันขายทอดตลาดตามประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีล่วงหน้าแล้วถือได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้แจ้งวันขายทอดตลาดให้จำเลยที่ 1ที่ 2 ซึ่งมีส่วนได้เสียในการบังคับคดีทราบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 306 แล้ว ฎีกาจำเลยที่ 1 ที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาประการที่สองว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ขายทอดตลาดได้เคาะไม้ 3 ที แสดงความตกลง โดยไม่ได้ขออนุญาตจากศาลก่อนเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในข้อนี้จำเลยที่ 1ยื่นคำร้องและนำสืบว่าในขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ขายทอดตลาดเคาะไม้ครั้งที่สอง จำเลยได้คัดค้านว่ายังไม่สมควรที่จะขายในราคา770,000 บาท เพราะต่ำไปเนื่องจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของจำเลยมีราคาถึง 1 ล้านบาทเศษ แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่รับฟังกลับเคาะไม้ครั้งที่สามแสดงความตกลงโดยพละการ ไม่ขออนุญาตศาลหรือผู้มีอำนาจเสียก่อนเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 306, 308 ในหมวดที่ 2 ว่าด้วยวิธียึดทรัพย์ อายัดทรัพย์และการจ่ายเงิน ประกอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนที่ 3 ว่าด้วยการขายทอดตลาดและระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดี พ.ศ. 2522 หมวดที่ 8 ว่าด้วยการขายทรัพย์ มิได้มีบทบัญญัติหรือข้อกำหนดว่าในการขายทอดตลาด เมื่อผู้ขายทอดตลาดจะแสดงความตกลงด้วยการเคาะไม้ ถ้ามีผู้มีส่วนได้เสียคัดค้านว่าราคาต่ำไปยังไม่สมควรแสดงความตกลงขาย ผู้ขายทอดตลาดจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน หรือต้องรอให้ศาลวินิจฉัยข้อคัดค้านนั้นเสียก่อนดังที่จำเลยอ้าง ประกอบกับการขายทอดตลาดคดีนี้ได้ความจากนายนิพนธ์ บุษบง ว่า ได้รับอนุญาตให้ขายจากนายไกรสร บารมีอวยชัยผู้ช่วยอธิบดีกรมบังคับคดี ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาแล้วตามเอกสารหมายร.ค.3 จึงฟังไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้แสดงความตกลงโดยพละการ การขายทอดตลาดจึงบริบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้วฎีกาจำเลยที่ 1 ที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 1 ที่ 2 มานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 1 ที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share