แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 3 ทำหนังสือค้ำประกันการชำระหนี้เงินค่าจ้างเหมาตามสัญญาของจำเลยที่ 1 ให้ไว้แก่โจทก์โดยมีเงื่อนไขว่าการเรียกร้องค่าเสียหายจะต้องยื่นเป็นลายลักษณะอักษร ณ ที่สำนักงานของจำเลยที่ 3 ก่อนปิดทำการของวันที่ 20 ตุลาคม 2530อันเป็นวันหมดอายุหนังสือค้ำประกัน เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาต่อโจทก์หนี้เกิดจากการผิดสัญญาที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 20ตุลาคม 2530 จึงอยู่ในอายุหนังสือค้ำประกัน แต่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องได้ก็ต่อเมื่อโจทก์ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวเสียก่อน เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 โดยมิได้ยื่นคำเรียกร้องเป็นลายลักษณ์อักษรให้จำเลยที่ 3 ทราบตามเงื่อนไขภายในกำหนดเวลาในหนังสือค้ำประกัน จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ทำสัญญาจ้างเหมาให้โจทก์ทำการติดตั้งกระจกตามโครงการสุภาคาร คอนโดมิเนียมมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ออกหนังสือค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญาของจำเลยที่ 1 มอบให้แก่โจทก์และโจทก์ทำหนังสือค้ำประกันการปฏิบัติงานตามสัญญาซึ่งออกให้โดยธนาคารกรุงไทย จำกัด มอบให้จำเลยที่ 1ไว้ด้วย หลังจากทำสัญญาได้มีการขยายระยะเวลาทำงานต่อไปอีกโดยใช้สัญญาเดิมซึ่งจำเลยที่ 3 ก็ได้ขยายเวลาคำ้ประกันออกไปจนถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2530 ด้วย และโจทก์ก็ได้ทำหนังสือขยายอายุสัญญาค้ำประกันของธนาคารกรุงไทย จำกัด หลังจากนั้นโจทก์ทำงานแล้วเสร็จตามสัญญา และส่งมอบงานให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 โดยส่งมอบงานในเดือนมิถุนายน 2530 สิงหาคม 2530 กันยายน 2530 และตุลาคม 2530แต่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ผิดสัญญาไม่ชำระเงินค่าจ้างให้แก่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 4,901,788.15 บาทพร้อมดอกเบี้ย และให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 คืนหนังสือต่ออายุสัญญาค้ำประกันซึ่งออกโดย ธนาคารกรุงไทย จำกัด
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวเป็นผู้ทำสัญญาจ้างเหมาโจทก์ โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ส่งมอบงานให้จำเลยที่ 1ตามสัญญาโจทก์จะต้องเสียค่าปรับให้จำเลยที่ 1 เมื่อหักกลบลบหนี้ของโจทก์แล้วทำให้หนี้ของจำเลยที่ 1 หมดไป โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องหนี้ใด ๆ อีก และจำเลยที่ 1 มีสิทธิยึดถือสัญญาค้ำประกันไว้ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ค้ำประกันเฉพาะหนี้ค่าเสียหายซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 ที่ได้เกิดมีขึ้นแล้วในวันที่ 25 มิถุนายน 2530 และในวันที่ 20 ตุลาคม 2530 โดยมีเงื่อนไขว่า โจทก์จะต้องได้เรียกร้องเป็นลายลักษณ์อักษรที่สำนักงานของจำเลยที่ 3 ก่อนเวลาปิดทำการในวันดังกล่าวด้วย โจทก์มิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องจำเลยที่ 3ไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3ร่วมกันชำระเงิน 4,901,788.15 บาท พร้อมดอกเบี้ย คำขออื่นให้ยกและให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาต่อโจทก์ ตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 3 ทำไว้กับโจทก์ จำเลยที่ 3 ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2530 ฉะนั้นหนี้ที่เกิดจากการผิดสัญญาที่เกิดขึ้นก่อนวันดังกล่าวจึงอยู่ภายในอายุสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ แต่สัญญาค้ำประกันได้ระบุเงื่อนไขว่าโจทก์จะต้องยื่นคำเรียกร้องเป็นลายลักษณ์อักษรไปยังจำเลยที่ 3ภายในวันหมดอายุสัญญาค้ำประกัน โจทก์จึงต้องแจ้งข้อเรียกร้องให้จำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันทราบภายในวันที่ 20 ตุลาคม 2530 ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาค้ำประกัน โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาค้ำประกันได้ก็ต่อเมื่อโจทก์ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาค้ำประกันดังกล่าวแล้วเสียก่อน ดังนั้นเมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 โดยมิได้ยื่นคำเรียกร้องให้จำเลยที่ 3ทราบเป็นลายลักษณ์อักษรตามเงื่อนไขภายในกำหนดเวลาในสัญญาค้ำประกันก่อน จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
พิพากษายืน