คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 476/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในการขอเฉลี่ยทรัพย์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 (เดิม) มีประเด็นคือผู้ขอเฉลี่ยทรัพย์ไม่สามารถเอาชำระได้จากทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งผู้ขอเฉลี่ยทรัพย์ต้องพิสูจน์ให้ได้ในขณะยื่นคำขอ เมื่อผู้ร้องเคยยื่นคำร้องเพื่อขอเฉลี่ยทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องเนื่องจากผู้ร้องไม่ขวนขวายหาทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 จึงฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องไม่สามารถเอาชำระหนี้จากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ได้ การที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องในครั้งนี้อีกเพื่อขอเฉลี่ยทรัพย์เดิม โดยอ้างพยานหลักฐานการตรวจสอบกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือตรวจสอบบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ผู้ร้องสามารถกระทำได้ในการยื่นคำขอครั้งแรก อีกทั้งทรัพย์สินที่ผู้ร้องอ้างว่าถูกเจ้าหนี้อื่นยึดไว้ก็ล้วนเป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 มีมาตั้งแต่ก่อนผู้ร้องยื่นคำร้องครั้งแรก การตรวจสอบทรัพย์สินดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ผู้ร้องสามารถกระทำได้แต่ต้นแต่ไม่ดำเนินการเอง การที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ในครั้งนี้อีก จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 27,984,261.73 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 7,875,000 บาท ของต้นเงิน 9,200,000 บาท และของต้นเงิน 1,375,000 บาท นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2553 กับของต้นเงิน 1,300,000 บาท นับแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2553 ของต้นเงิน 8,575,000 บาท นับแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2553 ของต้นเงิน 4,540,000 บาท นับแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2553 และของต้นเงิน 2,300,000 บาท นับแต่วันที่ 6 กันยายน 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกินจำนวน 446,772.97 บาท ตามขอ (ฟ้องวันที่ 20 กันยายน 2553) กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นให้ยก แต่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตาม โจทก์จึงขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี ต่อมาวันที่ 14 ตุลาคม 2554 โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดเครื่องจักรของจำเลยที่ 1 รวม 33 รายการ เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาเป็นเงินรวม 31,999,000 บาท วันที่ 12 ธันวาคม 2557 เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดเครื่องจักรดังกล่าวเสร็จสิ้นในราคารวม 7,422,000 บาท และวันที่ 18 พฤศจิกายน 2557 โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินภายในโรงงานของจำเลยที่ 1 จำนวน 26 รายการ เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาเป็นเงินรวม 3,300,000 บาท
ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้มีคำสั่งให้ผู้ร้องได้รับการเฉลี่ยทรัพย์จากเครื่องจักรรวม 33 รายการ และทรัพย์สินอื่นอีก 26 รายการ ของจำเลยที่ 1 ที่โจทก์ยึดเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2554 และ 18 พฤศจิกายน 2557
โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 ไม่ยื่นคำคัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างผู้ร้องกับโจทก์และผู้คัดค้านให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า อนุญาตให้ผู้ร้องมีสิทธิเฉลี่ยเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เฉพาะการยึดทรัพย์ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2557 ตามสัดส่วนซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดตกเป็นพับ
โจทก์และผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า วันที่ 14 ตุลาคม 2554 โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดเครื่องจักรของจำเลยที่ 1 รวม 33 รายการ เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาเป็นเงินรวม 31,999,000 บาท วันที่ 12 ธันวาคม 2557 เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดเครื่องจักรดังกล่าวเสร็จสิ้นในราคารวม 7,422,000 บาท และวันที่ 18 พฤศจิกายน 2557 โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินภายในโรงงานของจำเลยที่ 1 จำนวน 26 รายการ เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาเป็นเงินรวม 3,300,000 บาท ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมของจำเลยที่ 1 ในคดีของศาลจังหวัดชลบุรี คดีหมายเลขแดงที่ 205/2554 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2555 ผู้ร้องเคยยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์จากเครื่องจักรรวม 33 รายการ ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง เนื่องจากข้อเท็จจริงไม่อาจรับฟังได้ว่าผู้ร้องไม่สามารถเอาชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่น ๆ ของจำเลยที่ 1 ได้อีก
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ในคดีนี้สำหรับทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2554 เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือไม่ ที่ผู้ร้องฎีกาว่าผู้ร้องได้สืบหาทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ภายหลังจากศาลยกคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ของผู้ร้อง ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน หรือเงินฝากในธนาคารและทรัพย์อื่นที่มีก็ถูกเจ้าหนี้รายอื่นยึดไว้แล้ว นั้น เห็นว่า ในการขอเฉลี่ยทรัพย์มีประเด็นที่ศาลต้องพิจารณา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรคสอง (เดิม) คือ ผู้ขอเฉลี่ยทรัพย์ไม่สามารถเอาชำระจากทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ดังนั้น ประเด็นที่ว่าผู้ขอไม่สามารถเอาชำระหนี้ตามคำพิพากษาจึงเป็นประเด็นที่ผู้ขอเฉลี่ยทรัพย์ต้องพิสูจน์ให้ได้ในขณะยื่นคำขอ ดังนั้น เมื่อผู้ร้องเคยยื่นคำร้องเพื่อขอเฉลี่ยทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2554 มาแล้ว และศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องเนื่องจากผู้ร้องไม่ขวนขวายสืบหาทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องไม่สามารถเอาชำระหนี้จากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ได้การที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องในครั้งนี้อีกเพื่อขอเฉลี่ยทรัพย์เดิม โดยพยานหลักฐานที่ผู้ร้องอ้างประกอบการยื่นคำขอ ทั้ง การตรวจสอบกรรมสิทธิ์ในที่ดิน หรือตรวจสอบบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ผู้ร้องสามารถกระทำได้ในการยื่นคำขอครั้งแรก อีกทั้งทรัพย์สินที่ผู้ร้องอ้างว่าถูกเจ้าหนี้อื่นยึดไปก็ล้วนเป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 มีมาตั้งแต่ก่อนผู้ร้องยื่นคำร้องครั้งแรก การตรวจสอบหาทรัพย์สินเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่ผู้ร้องสามารถกระทำได้ตั้งแต่ต้นแต่ไม่ดำเนินการเอง การที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ในครั้งนี้สำหรับทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2554 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำขอเฉลี่ยทรัพย์หรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า หนี้ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลจังหวัดชลบุรี คดีหมายเลขแดงที่ 205/2554 ที่ผู้ร้องอ้างสิทธิความเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามายื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์เป็นหนี้ที่เกิดจากการสมยอมกัน และผู้ร้องยื่นขอเฉลี่ยทรัพย์โดยไม่สุจริต นั้น เห็นว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมในคดีหมายเลขแดงที่ 205/2554 ของศาลชั้นต้น ซึ่งเคยมีกรรมการเดิมของจำเลยที่ 1 ขอเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความ และศาลชั้นต้นยกคำร้อง คดีถึงที่สุด เมื่อโจทก์กล่าวอ้างข้อเท็จจริงว่า หนี้ตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวเป็นหนี้สมยอมระหว่างผู้ร้องและจำเลยที่ 1 โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าว โดยพยานหลักฐานของโจทก์มีนางสาวนวลปรางค์ เบิกความประกอบเอกสารงบการเงิน ความว่า ไม่มีรายการกู้ยืมเงินซึ่งเป็นมูลหนี้ที่ผู้ร้องนำมาฟ้องจำเลยที่ 1 จนมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ในคดีหมายเลขแดงที่ 205/2554 ถูกระบุไว้ในงบการเงินของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 มิได้กู้ยืมเงินกันจริง การฟ้องคดีดังกล่าวจึงเป็นการฟ้องที่ไม่มีมูลหนี้แต่เป็นการสมยอมเพื่อทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้ผู้ร้องได้รับประโยชน์ในลักษณะเป็นทรัพย์สินเพื่อเอาเปรียบเจ้าหนี้อื่น ส่วนผู้ร้องมีนายอนุสรณ์ เบิกความว่า ผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินผู้ร้องจำนวน 5,500,000 เหรียญสิงค์โปร์ ผู้ร้องโอนเงินกู้ให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว ต่อมามีการขอแก้ไขการผ่อนชำระเงินกู้ แต่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญา ผู้ร้องจึงนำมูลหนี้ดังกล่าวฟ้องจำเลยที่ 1 และศาลมีคำพิพากษาตามยอม ในคดีหมายเลขแดงที่ 205/2554 นั้น เห็นว่า โจทก์ที่เป็นฝ่ายมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่ว่าหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมเป็นหนี้สมยอมมีพยานเพียงนางสาวนวลปรางค์ เบิกความลอย ๆ ว่า ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 มิได้กู้ยืมเงินกันจริง เพราะไม่ได้ระบุการกู้ยืมดังกล่าวไว้ในงบการเงินของจำเลยที่ 1 นั้น แม้ในงบการเงินของจำเลยที่ 1 จะไม่มีระบุเรื่องการกู้ยืมเงินจากผู้ร้องดังกล่าวก็ตาม แต่เมื่อผู้ร้องมีสัญญากู้ และหลักฐานการโอนเงินกู้ให้แก่จำเลยที่ 1 มาแสดง พยานผู้ร้องจึงน่าเชื่อว่า ผู้ร้องได้ให้จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจริง และจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ ผู้ร้องจึงฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดจนศาลมีคำพิพากษาตามยอม กรณีจึงไม่อาจฟังข้อเท็จจริงว่าคำพิพากษาดังกล่าวเกิดจากการสมคบสมยอมกันดังที่โจทก์กล่าวอ้าง ส่วนการที่ผู้ร้องจะไม่รีบขวนขวายดำเนินการบังคับคดีกับจำเลยที่ 1 ด้วยตนเองภายหลังศาลมีคำพิพากษา ก็มิได้เป็นเหตุให้การขอเฉลี่ยทรัพย์ของผู้ร้องเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตแต่อย่างใด เพราะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีระยะเวลาบังคับคดี 10 ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 (เดิม) ดังนั้น เมื่อได้ความจากนายอนุสรณ์พยานผู้ร้องเบิกความประกอบเอกสารว่า จำเลยที่ 1 มีเจ้าหนี้หลายราย ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ส่วนใหญ่ถูกเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นยึดและนำออกขายทอดตลาด จำเลยที่ 1 ไม่มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์และเงินฝากในธนาคารที่เพียงพอจะชำระหนี้ของผู้ร้องโดยสิ้นเชิง จึงน่าเชื่อว่าผู้ร้องไม่สามารถเอาชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ได้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยทรัพย์จากการยึดของเจ้าพนักงานบังคับคดีวันที่ 18 พฤศจิกายน 2557 ตามส่วนที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ผู้ร้องจึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share