คำวินิจฉัยที่ 102/2559

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองจำเลยที่ ๑ ว่าก่อสร้างถนนคอนกรีตรุกล้ำที่ดินของตน เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการโต้แย้งสิทธิในที่ดิน ซึ่งหากศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์การก่อสร้างถนนคอนกรีตของจำเลยที่ ๑ ก็เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ แต่หากที่ดินพิพาทตกเป็นที่สาธารณประโยชน์ซึ่งอยู่ในการดูแลรักษาของจำเลยที่ ๑ แล้ว จะเป็นผลให้จำเลยที่ ๑ มีอำนาจเข้าไปจัดให้มีและบำรุงรักษาทางพิพาทได้ ไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ คำฟ้องของโจทก์ จึงมีความมุ่งหมายที่จะให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ซึ่งมีข้อพิพาทเกี่ยวกับการโต้แย้งสิทธิกันระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๑
ส่วนการที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ คัดค้านการรังวัดและรับรองแนวเขตที่ดินสาธารณะรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นเพียงการใช้สิทธิของเจ้าของที่ดินข้างเคียงเช่นเดียวกับเอกชนทั่วไปในการระวังแนวเขตที่ดินอันเนื่องมาจากมีการขอรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ตามมาตรา ๖๙ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน จึงมิใช่การใช้อำนาจตามกฎหมายแต่อย่างใด คดีระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสาม จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๐๒ /๒๕๕๙

วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๙

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดเพชรบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองเพชรบุรี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดเพชรบุรีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๘ นายอ๋า รังสิยานุพงศ์ โจทก์ ยื่นฟ้อง องค์การบริหารส่วนตำบลแก่งกระจาน ที่ ๑ นายสุรสิทธิ์ บัวจีน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแก่งกระจาน ที่ ๒ นายธนศักดิ์ ศุภศิริพงษ์ชัย นายอำเภอแก่งกระจาน ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๙๓๒/๒๕๕๘ ความว่า โจทก์ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๓๒ ตำบลแก่งกระจาน อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี วันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๗ โจทก์นำช่างรังวัดทำการรังวัดพบว่ามีถนนคอนกรีตซึ่งสร้างโดยจำเลยที่ ๑ รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์บางส่วนทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ตลอดแนวเขตที่ดิน ผู้รับมอบอำนาจจำเลยที่ ๒ กับผู้รับมอบอำนาจจำเลยที่ ๓ คัดค้านการรังวัดชี้แนวเขตและลงชื่อรับรองแนวเขตที่ดินสาธารณประโยชน์เข้ามาในที่ดินของโจทก์โดยอ้างว่าที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นถนนคอนกรีตนั้นเป็นทางสาธารณประโยชน์ ขอให้ศาลมีคำพิพากษา ให้จำเลยที่ ๑ รื้อถนนคอนกรีต สิ่งปลูกสร้างทั้งหมด และขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๓๒ หากจำเลยที่ ๑ ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ ๑ พร้อมกับให้จำเลยที่ ๑ ชดใช้ค่าเสียหายนับจากวันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะรื้อถอนเสร็จ ห้ามจำเลยทั้งสามเข้ามารบกวนการครอบครองที่ดิน หรือคัดค้านแนวเขตโฉนดที่ดิน ๑๑๓๒
จำเลยทั้งสามให้การว่า ที่ดินพิพาทตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน การคัดค้านโดยผู้รับมอบอำนาจของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดิน อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการและการใช้อำนาจตามกฎหมายไปโดยถูกต้อง ตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดเพชรบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ที่เป็นหน่วยงานทางปกครองและจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นหน้าที่ของรัฐในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ ๑ แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีของโจทก์ก็สืบเนื่องมาจากโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ ๑ ทำถนนคอนกรีตรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ดังนั้นการที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้ จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือเป็นทางสาธารณะเป็นสำคัญ คดีพิพาทจึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองเพชรบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า การสร้างถนนอันเป็นการจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก เป็นการดำเนินการตามอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะของ จำเลยที่ ๑ ตามมาตรา ๑๖ (๒) แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบมาตรา ๖๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตําบล พ.ศ. ๒๕๓๗ เมื่อการดำเนินการใช้อำนาจตามกฎหมายดังกล่าวโจทก์อ้างว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดินของโจทก์และทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และการที่ฟ้องจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เรื่องการระวังชี้แนวเขตและลงชื่อรับรองเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ ข้อพิพาทก็สืบเนื่องมาจากเหตุแห่งการฟ้องคดีของโจทก์ที่อ้างว่าจำเลยที่ ๑ ทำถนนคอนกรีตรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามนัยมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่เอกชนยื่นฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบลแก่งกระจาน จำเลยที่ ๑ ว่าก่อสร้างถนนคอนกรีตรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์บางส่วนตลอดแนวเขตที่ดินของโจทก์และฟ้องจำเลยที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ ที่คัดค้านการรังวัดที่ดินของโจทก์โดยรับรองแนวเขตถนนคอนกรีตดังกล่าวว่าเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ โดยมีคำขอหลักให้ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ รื้อถนนคอนกรีต สิ่งปลูกสร้างทั้งหมดและขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๓๒ หากจำเลยที่ ๑ ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ ๑ จำเลยทั้งสามให้การว่า ที่ดินพิพาทตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน การคัดค้านการรังวัดของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการและการใช้อำนาจตามกฎหมายไปโดยถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้จำเลยที่ ๑ มีฐานะเป็นราชการส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และจำเลยที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ เป็นคดีนี้นั้น โจทก์อ้างเหตุประการเดียวว่าจำเลยที่ ๑ ก่อสร้างถนนคอนกรีตรุกล้ำที่ดินของโจทก์ ซึ่งเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินเป็นสำคัญ ซึ่งหากศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ การก่อสร้างถนนคอนกรีตของจำเลยที่ ๑ ก็เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ แต่หากที่ดินพิพาทตกเป็นที่สาธารณประโยชน์ซึ่งอยู่ในการดูแลรักษาของจำเลยที่ ๑ แล้วจะเป็นผลให้จำเลยที่ ๑ มีอำนาจเข้าไปจัดให้มีและบำรุงรักษาทางพิพาทได้ ไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ และทำให้โจทก์ต้องเสียสิทธิในที่ดินส่วนพิพาท คำฟ้องของโจทก์จึงมีความมุ่งหมายที่จะให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ซึ่งมีข้อพิพาทเกี่ยวกับการโต้แย้งสิทธิกันระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๑ ส่วนจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ โจทก์ฟ้องอ้างว่า จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ คัดค้านการรังวัดและรับรองแนวเขตที่ดินสาธารณะรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์นั้น การกระทำของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นเพียงการใช้สิทธิของเจ้าของที่ดินข้างเคียงเช่นเดียวกับเอกชนทั่วไปในการระวังแนวเขตที่ดินอันเนื่องมาจากมีการขอรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ตามมาตรา ๖๙ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินจึงมิใช่การใช้อำนาจตามกฎหมายแต่อย่างใด แต่เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน คดีระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสาม จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายอ๋า รังสิยานุพงศ์ โจทก์ องค์การบริหารส่วนตำบลแก่งกระจาน ที่ ๑ นายสุรสิทธิ์ บัวจีน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแก่งกระจาน ที่ ๒ นายธนศักดิ์ศุภศิริพงษ์ชัย นายอำเภอแก่งกระจาน ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share