แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้เสียหายและจำเลยกับพวกนั่งดื่มสุรากันที่บ้านพักจำเลย ต่อมาผู้เสียหายเรียกจำเลยให้ลงไปพูดกัน จำเลยไม่ลง ผู้เสียหายดึงมือจำเลยหลายครั้งจนจำเลยตกจากที่นั่ง แล้วจำเลยเดินหนีเข้าไปในห้องนอนของจำเลย ผู้เสียหายเดินตามจำเลยเข้าไปในห้องกระชากมือจำเลยออกมา เช่นนี้ ผู้เสียหายเป็นผู้ก่อเหตุ กรณีถือได้ว่าจำเลยถูกผู้เสียหายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยใช้เหล็กตะไบสามเหลี่ยมแทงผู้เสียหายที่บริเวณหน้าท้อง 2 ทีขณะที่ผู้เสียหายเข้าไปกระชากมือหรือจับบ่า จำเลยดึงออกมาข้างนอกห้อง จึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๐,๒๘๘, ๓๓
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๘๐, ๒๘๘ จำคุก ๑๐ ปี คำให้การจำเลยในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก ๖ ปี ๘ เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๘๐, ๖๙ จำคุก ๓ ปี คำให้การจำเลยในช้นสอบสวนและชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาของศาล ลดโทษให้นึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๒ ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าผู้เสียหาย จำเลย นายสุพรรณ โกรธกล้า นายประสพ วังเวงจิตรและพวกนั่งดื่มสุรากันอยู่ที่บ้านพักจำเลย ต่อมาผู้เสียหายได้เรียกจำเลยให้ลงไปพูดกัน จำเลยไม่ลง ผู้เสียหายได้ดึงมือจำเลยหลายครั้งจนจำเลยตกจากที่นั่ง แล้วจำเลยได้เดินหนีเข้าไปในห้องนอนของจำเลย ผู้เสียหายเดินตามจำเลยเข้าไป จำเลยได้ใช้เหล็กตะไบสามเหลี่ยมแทงผู้เสียหายที่บริเวณหน้าท้อง ๒ ที ในปัญหาที่ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายหรือไม่ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า คดีฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย แต่น่าเชื่อว่าจำเลยแทงผู้เสียหายขณะที่ผู้เสียหายเข้าไปกระชาดมือหรือจับบ่าจำเลยดึงออกมาข้างนอกห้องการที่ผู้เสียหายกระทำดังกล่าว ผู้เสียหายจึงเป็นผู้ก่อเหตุ กรณีถือได้ว่าจำเลยถูกผู้เสียหายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมจำเลยกระทำความผิดต่อผู้เสียหายในขณะนั้นจึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๒
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๘๐, ๒๘๘ ประกอบด้วยมาตรา ๗๒ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.