แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย และเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำสั่งศาล ที่ดินและตึกแถวพิพาทเป็นมรดกของผู้ตาย โดยตึกแถวพิพาทเป็นสินสมรสของผู้ตายกับโจทก์ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2527 จำเลยที่ 1จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ในฐานะทายาทและในฐานะผู้จัดการมรดกเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันแบ่งสินสมรสและมรดกของผู้ตายแก่โจทก์ เช่นนี้โจทก์ได้บรรยายโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ อีกทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานั้นแล้วคำฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม และตามคำฟ้อง โจทก์ฟ้องแบ่งทรัพย์สินของผู้ตายทั้งในฐานะที่โจทก์เป็นภรรยามีส่วนแบ่งในสินสมรสของผู้ตาย ในฐานะที่โจทก์เป็นทายาทของผู้ตายและในฐานะที่โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ซึ่งไม่มีกฎหมายห้ามไม่ให้ฟ้องในฐานะต่าง ๆ ดังกล่าวรวมกันมาโจทก์ย่อมฟ้องรวมกันมาได้ โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นภรรยา เป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำสั่งศาล ขอให้จำเลยทั้งสองแบ่งสินสมรสและมรดกของผู้ตายแก่โจทก์ในฐานะคู่สมรสทายาทและผู้จัดการมรดก เพื่อแบ่งปันแก่บุตรผู้เยาว์ของผู้ตายต่อไป เช่นนี้ หาใช่ฟ้องในฐานะภรรยาหรือทายาทแต่อย่างเดียวไม่ และโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้แบ่งมรดกแก่บุตรผู้เยาว์ซึ่งเป็นทายาทได้ กรณีไม่เป็นการฟ้องคดีแทนบุตรอันจะเป็นอุทลุมแต่อย่างไร เมื่อบิดาของผู้ตายถึงแก่กรรม ผู้ตายยังเป็นผู้เยาว์ ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาของผู้ตายได้ครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกของบิดาผู้ตายต่อมา ย่อมเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทแทนผู้ตาย และเมื่อผู้ตายบรรลุนิติภาวะแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ยังครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาโดยมิได้แบ่งปันกัน ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้แสดงโดยแจ้งชัดต่อผู้ตายว่ามีเจตนาจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตนเองตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทแทนผู้ตายตลอดมา ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2527 โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 7 กันยายน 2527 คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ จำเลยให้การเพียงว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่สินสมรส หาได้ต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นสินเดิมไม่ เช่นนี้ ปัญหาว่าที่ดินพิพาทเป็นสินเดิมของจำเลยที่ 1 หรือไม่ เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ปัญหาว่าตึกแถวพิพาทจะให้เช่าได้เดือนละเท่าไรนั้น ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง และใบเสร็จรับเงินค่าเช่ามิใช่เอกสารที่จะต้องฟังเป็นยุติว่าทรัพย์สินนั้นให้เช่าได้เดือนละเท่าไร ศาลมีอำนาจวินิจฉัยพยานหลักฐานต่าง ๆ แล้วฟังว่าค่าเสียหายเป็นเงินเดือนเท่าไรได้ โจทก์ฟ้องขอแบ่งทรัพย์สินพิพาทอันเป็นสินสมรสและมรดกของผู้ตายทั้งในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายเพื่อแบ่งปันแก่บุตรผู้เยาว์ของผู้ตายต่อไป แต่ศาลล่างพิพากษาให้จำเลยทั้งสองแบ่งทรัพย์สินพิพาทให้โจทก์โดยมิได้ระบุว่าแบ่งให้โจทก์ในฐานะอะไรบ้างเป็นการไม่ชอบ เพราะอาจเกิดความเสียหายแก่บุตรผู้เยาว์ของผู้ตายอันเป็นทายาทได้ ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขโดยระบุให้ถูกต้องได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของพันตำรวจโทยงยุทธ สมานบุตร มีบุตรด้วยกัน 2 คน ซึ่งเป็นผู้เยาว์และอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของโจทก์พันตำรวจโทยงยุทธ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2527 โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำสั่งศาลจำเลยที่ 1 เป็นมารดาของผู้ตาย ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นพี่สาวของผู้ตายอันเกิดจากนายดำรัส สมานบุตร ซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว ระหว่างที่นายดำรัส กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภรรยากันมีสินสมรสคือที่ดินโฉนดเลขที่ 152 ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรีเนื้อที่ 77.2 ตารางวา ราคา 3,000,000 บาท ส่วนห้องแถว 2 ห้องซึ่งปลูกอยู่บนที่ดิน ผู้ตายได้ร่วมกับทายาทคนอื่นของบิดาปลูกขึ้นผู้ตายจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในตึกแถว โดยมีส่วนอยู่เป็นเงิน 400,000 บาท หลังจากนายดำรัส ถึงแก่กรรม ที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของนายดำรัส ตกได้แก่จำเลยทั้งสองและผู้ตาย แต่ยังไม่ได้แบ่งปันกัน เนื่องจากจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดูแลแทน ผู้ตายเป็นทายาทชั้นบุตร เมื่อหักส่วนแบ่งเป็นสินสมรสให้แก่จำเลยที่ 1เฉพาะที่ดินดังกล่าวออกกึ่งหนึ่งแล้วที่ดินมรดกตกได้แก่ผู้ตาย คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 13 ตารางวา เป็นเงิน 500,000 บาท ส่วนตึกแถว2 ห้อง โจทก์ในฐานะคู่สมรสของผู้ตายได้รับส่วนแบ่งกึ่งหนึ่งเป็นเงิน200,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 200,000 บาท ตกได้แก่ทายาทของผู้ตายโดยจำเลยที่ 1 ได้ 1 ส่วน โจทก์และบุตรของผู้ตาย 2 คน ได้คนละ1 ส่วน รวมเป็น 3 ส่วน เป็นเงิน 150,000 บาท รวมทรัพย์มรดกที่ตกได้แก่โจทก์และบุตรเป็นเงิน 850,000 บาท เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์2527 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ชอบ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 152 ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรีให้แก่โจทก์ 1 ใน 6 ส่วน เป็นเนื้อที่ 13 ตารางวา หากจำเลยไม่สามารถแบ่งแยกที่ดินให้โจทก์ได้ ขอให้ศาลสั่งให้นำทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินที่ขายมาแบ่งกันตามส่วน หรือให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 500,000 บาท ให้แก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันแบ่งตึกแถวพิพาทซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่โจทก์ 7 ใน 8 ส่วน หรือให้ขายทรัพย์สินดังกล่าวเอาเงินมาแบ่งกันตามส่วน หรือให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 350,000 บาทให้แก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 7,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะปฏิบัติตามคำขอแล้วเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินพิพาทและห้องแถว 2 ห้อง ซึ่งปลูกในที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ซึ่งปลูกสร้างด้วยทรัพย์ของตนเองแต่เพียงผู้เดียว ผู้ตายไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วม ที่ดินพิพาทไม่ใช่สินสมรสระหว่างนายดำรัส สมานบุตรกับจำเลยที่ 1 อันจะเป็นมรดกของนายดำรัส สมานบุตร และที่ดินพิพาทมีราคาเพียง 1,000,000 บาท นายดำรัส ได้ถึงแก่กรรมไป 35 ปีแล้วหากจะมีทรัพย์มรดก ผู้ตายก็ได้รับการแบ่งปันไปแล้ว ผู้ตายไม่เคยครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสองร่วมกันครอบครองมาโดยตลอดและไม่เคยครอบครองแทนผู้ตายโจทก์ไม่เคยครอบครองที่ดินพิพาทอันจะก่อให้เกิดสิทธิในการฟ้องคดีนี้ ถ้าหากโจทก์จะมีสิทธิเมื่อคิดเป็นเงินแล้วก็ไม่เกิน 160,000 บาท ส่วนตึกแถว 2 ห้อง โจทก์ในฐานะคู่สมรสของผู้ตาย หากจะมีสิทธิก็ไม่เกิน 200,000 บาท ส่วนบุตรผู้เยาว์ของโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องใด ๆ เพราะโจทก์หาได้ฟ้องคดีแทนบุตรไม่ และถ้าจะถือว่าโจทก์ฟ้องแทนบุตรผู้เยาว์ด้วย ก็เป็นอุทลุม รวมทรัพย์สินที่โจทก์มีสิทธิได้รับไม่เกิน 360,000 บาท จำเลยที่ 2 ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1ได้ใช้สิทธิของตนโดยชอบในขอบข่ายแห่งกฎหมาย ที่ดินพิพาทจึงเป็นของจำเลยที่ 2 ส่วนตึกแถว 2 ห้อง เป็นของจำเลยที่ 2 ไม่ใช่ทรัพย์มรดกตึกแถวพิพาทหากให้เช่าจะได้ค่าเช่าไม่เกินห้องละ 1,000 บาทต่อเดือน ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความมรดก โจทก์ไม่ใช่ทายาททรัพย์สินที่ฟ้องไม่ใช่มรดก โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม ไม่ระบุให้แน่ชัดว่าโจทก์มีสิทธิอย่างไร ในฐานะใด และในทรัพย์ส่วนใด อันทำให้จำเลยทั้งสองหลงต่อสู้คดี ฟ้องของโจทก์เฉพาะที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 เป็นอุทลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 152ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรีให้โจทก์ 1 ใน 9 ส่วน หากจำเลยทั้งสองไม่สามารถแบ่งแยกให้ได้ให้นำทรัพย์ออกขายทอดตลาดนำเงินที่ขายได้แบ่งกันตามส่วนข้างต้น และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันแบ่งตึกแถวพิพาทให้โจทก์ 7 ใน 16ส่วน หากไม่สามารถแบ่งได้ให้นำทรัพย์ออกขายทอดตลาดนำเงินที่ขายได้แบ่งกันตามส่วน กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์เป็นค่าเสียหายเดือนละ 3,500 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ
โจทก์และจำเลยทั้งสองต่างอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 152 ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ออกให้โจทก์ 1 ใน 6 ส่วน พร้อมกับชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 3,500 บาทแก่โจทก์ นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวข้างต้นนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของพ้นตำรวจโท ยงยุทธ สมานบุตร ผู้ตายมีบุตรด้วยกัน 2 คน ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ จำเลยที่ 1 เป็นมารดาของผู้ตาย จำเลยที่ 2 เป็นพี่ร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตายจำเลยที่ 1 กับนายดำรัส สมานบุตร บิดาโจทก์และจำเลยที่ 2แต่งงานอยู่กินมาประมาณ 50 ปี ตั้งแต่ก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ใช้บังคับ นายดำรัส สมานบุตรถึงแก่กรรมไปประมาณ 30 ปีแล้ว ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนดเดิมมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2527 จำเลยที่ 1โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 ในที่ดินพิพาทมีตึกแถว 2 ห้องเลขที่ 38 และ 40 ปลูกอยู่ มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองดังต่อไปนี้
ปัญหาว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์เป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของผู้ตายที่ดินเป็นมรดกตกได้แก่ผู้ตาย และตกได้แก่โจทก์และบุตรผู้เยาว์2 คน จึงอาจแยกได้ว่าสำหรับที่ดินมรดกนั้น โจทก์ฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดกส่วนตึกแถวซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมตกได้แก่โจทก์และบุตร2 คน โจทก์ฟ้องในฐานะภรรยาและแทนบุตรผู้เยาว์อีก 2 คน ดังนั้นมูลคดีย่อมแยกกันออกไปอย่างชัดแจ้ง ไม่อาจจะรวมกันได้ เพราะจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ไม่อาจรับผิดร่วมกันหรือแทนกันได้อีกทั้งโจทก์ไม่บรรยายให้ชัดแจ้งว่าฟ้องในฐานะอะไร เท่าที่ปรากฏในฟ้องเป็นการฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกอย่างชัดแจ้ง ไม่เกี่ยวกับผู้จัดการมรดก ถือได้ว่าฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องที่เคลือบคลุม และโจทก์ไม่ได้ฟ้องแทนบุตร แต่ฟ้องในนามของตนเองในฐานะภรรยาเท่านั้น พิเคราะห์แล้ว โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย และเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำสั่งศาล ที่ดินและตึกแถวพิพาทเป็นมรดกของผู้ตาย โดยตึกแถวพิพาทเป็นสินสมรสของผู้ตายกับโจทก์ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2527จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ในฐานะทายาทและในฐานะผู้จัดการมรดกเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันแบ่งสินสมรสและมรดกของผู้ตายแก่โจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ได้บรรยายโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ อีกทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานั้นแล้วคำฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม และตามคำฟ้องโจทก์ฟ้องแบ่งทรัพย์สินของผู้ตายทั้งในฐานะที่โจทก์เป็นภรรยามีส่วนแบ่งในสินสมรสของผู้ตาย ในฐานะที่โจทก์เป็นทายาทของผู้ตายและในฐานะที่โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ซึ่งไม่มีกฎหมายห้ามไม่ให้ฟ้องในฐานะต่าง ๆ ดังกล่าวรวมกันมา โจทก์จึงฟ้องรวมกันมาได้
ปัญหาว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ฟ้องในฐานะภรรยาเฉพาะส่วนของตนเท่านั้น ไม่เป็นการฟ้องแทนบุตรหรืออ้างฐานะผู้จัดการมรดกเพราะโจทก์ฟ้องว่าโจทก์ในฐานะทายาท หาใช่เป็นการรวบรวมทรัพย์มรดกตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกไม่ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับบุตร ถ้าถือว่าโจทก์ฟ้องแทนบุตรก็เป็นอุทลุมต้องห้ามตามกฎหมายนั้นเห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องมาแล้วว่า โจทก์เป็นภรรยาเป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำสั่งศาล ขอให้จำเลยทั้งสองแบ่งสินสมรสและมรดกของผู้ตายแก่โจทก์ในฐานะคู่สมรสทายาทและผู้จัดการมรดก เพื่อแบ่งปันแก่บุตรผู้เยาว์ของผู้ตายต่อไป หาใช่ฟ้องในฐานะภรรยาหรือทายาทอย่างเดียวดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาไม่ และโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้แบ่งมรดกแก่บุตรผู้เยาว์ซึ่งเป็นทายาทได้ กรณีไม่เป็นการฟ้องคดีแทนบุตรอันจะเป็นอุทลุมแต่อย่างไร
ปัญหาว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า นายดำรัส สมานบุตร ถึงแก่กรรมไปนานกว่า 30 ปีแล้วจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของนายดำรัส สมานบุตร มาตลอด และไม่ได้ครอบครองแทนผู้ตายผู้ตายไม่เคยครอบครองที่ดินพิพาท คดีโจทก์จึงขาดอายุความนั้นเห็นว่า ได้ความว่า เมื่อนายดำรัส สมานบุตร ถึงแก่กรรมนั้น ผู้ตายยังเป็นผู้เยาว์ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาของผู้ตายได้ครอบครองที่ดินพิพาทต่อมา จึงเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทแทนผู้ตาย และเมื่อผู้ตายบรรลุนิติภาวะแล้วจำเลยที่ 1 ก็ยังครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาโดยมิได้แบ่งปันกัน ทั้งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้แสดงโดยแจ้งชัดต่อผู้ตายว่ามีเจตนาจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตนเองตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทแทนผู้ตายตลอดมา ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2527 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 7 กันยายน 2527คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ได้ที่ดินพิพาทมาโดยนำเอาทรัพย์สินของตนเองไปซื้อมา ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินเดิมของจำเลยที่ 1นั้น เห็นว่า จำเลยให้การเพียงว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่สินสมรส หาได้ต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นสินเดิมไม่ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ผู้ตายมิได้มีกรรมสิทธิ์ร่วมในตึกแถวพิพาทอันจะเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทได้ เพราะจำเลยที่ 1เป็นผู้ออกเงินสร้างตึกพิพาทนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าผู้ตายมีกรรมสิทธิ์ร่วมในตึกแถวพิพาทกับจำเลยที่ 2 คนละครึ่ง
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ค่าเช่าตึกแถวพิพาทมีการออกใบเสร็จตามเอกสารหมาย ล.11 และ ล.12 ว่าค่าเช่าเดือนละ 500 บาท การที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 3,500บาท จนกว่าจำเลยทั้งสองจะแบ่งตึกแถวพิพาทให้แก่โจทก์เป็นการรับฟังพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงพยานเอกสารจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่าปัญหาว่าตึกแถวพิพาทจะให้เช่าได้เดือนละเท่าไรนั้น ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง และใบเสร็จรับเงินค่าเช่ามิใช่เอกสารที่จะต้องรับฟังเป็นยุติว่าทรัพย์สินนั้นให้เช่าได้เดือนละเท่าไร การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยพยานหลักฐานต่าง ๆ แล้วฟังว่าค่าเสียหายเป็นเงินเดือนละ 3,500 บาท จึงชอบแล้วดุจกัน แต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสองแบ่งทรัพย์สินพิพาทให้โจทก์โดยมิได้ระบุว่าแบ่งให้โจทก์ในฐานอะไรบ้างนั้น ยังไม่ชอบเพราะอาจเกิดความเสียหายแก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองคนของผู้ตายอันเป็นทายาทได้ ปัญหานี้เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็เห็นสมควรแก้ไข ได้ความว่าโจทก์มีสิทธิแบ่งที่ดินพิพาทในฐานะผู้จัดการมรดกสำหรับตึกแถวที่ปลูกในที่ดินพิพาทนั้น โจทก์มีสิทธิแบ่งในฐานะส่วนตัวเพราะเป็นสินสมรส 4 ใน 16ส่วนในฐานะผู้จัดการมรดก 3 ใน 16 ส่วน ส่วนค่าเสียหายสำหรับตึกแถวพิพาทที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยทั้งสองใช้ให้แก่โจทก์เดือนละ3,500 บาทนั้น ก็เป็นของโจทก์ในฐานะส่วนตัวเพราะเป็นดอกผลของสินสมรสส่วนของโจทก์เพียงเดือนละ 2,000 บาท และในฐานะผู้จัดการมรดกเดือนละ 1,500 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 152ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ออกให้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของพันตำรวจโทยงยุทธ สมานบุตร 1 ใน 6ส่วน ให้จำเลยทั้งสองแบ่งตึกแถวเลขที่ 38 และ 40 ซึ่งปลูกในที่ดินนี้ให้โจทก์ในฐานะส่วนตัว 4 ใน 16 ส่วน ในฐานะผู้จัดการมรดกของพันตำรวจโทยงยุทธ สมานบุตร 3 ใน 16 ส่วน และให้จำเลยทั้งสองใช้เงินค่าเสียหายแก่โจทก์ในฐานะส่วนตัวเดือนละ 2,000 บาทในฐานะผู้จัดการมรดกดังกล่าวเดือนละ 1,500 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.