คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6192/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีเดิมศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ ร.หาก ส. จะขอให้ศาลตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกคนใหม่แทนโจทก์ ตามปกติย่อมกระทำได้โดยยื่นคำร้องในคดีเดิม หรืออาจฟ้องโจทก์แยกจากคดีเดิมได้โดยอาศัยเหตุตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1727 เพราะบทบัญญัติดังกล่าวเป็นแต่ให้สิทธิยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีเดิมก่อนการปัน มรดก เสร็จสิ้นลงเท่านั้น หาเป็นการตัดสิทธิมิให้ฟ้องเป็นคดีใหม่อีกต่างหากไม่
คำสั่งศาลชั้นต้นในคดีใหม่ให้ถอนโจทก์จากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้ง ส. เป็นผู้จัดการมรดกของ ร. แทนนั้น เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ย่อมมีผลผูกพันโจทก์ โจทก์มิใช่ผู้จัดการมรดกของ ร. อีกต่อไป
การที่ ส. ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกทำตามมติที่ประชุมทายาทโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ย่อมเป็นการจัดการตามอำนาจหน้าที่และมิใช่เป็นการทำนิติกรรมที่ตนมีส่วนได้เสียอันเป็นปรปักษ์ต่อกองมรดก นิติกรรมจึงมีผลสมบูรณ์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายรอด มงคลชาติตามคำสั่งศาล ต่อมาศาลชั้นต้นในอีกคดีหนึ่งมีคำสั่งถอนโจทก์จากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งนายสมคิดเป็นผู้จัดการมรดกของนายรอด อันเป็นการไม่ชอบ เพราะมิได้ร้องขอในคดีเดิม โจทก์จึงยังคงเป็นผู้จัดการมรดกของนายรอดอยู่ หลังจากนั้นนายสมคิดกับจำเลยที่ ๑ สมคบกันจดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกในฐานะผู้จัดการมรดกแล้วโอนขานให้จำเลยที่ ๑ โดยไม่มีอำนาจ และจำเลยที่ ๒ ในฐานะเจ้าพนักงานที่ดินได้จดทะเบียนให้ ทั้งที่รู้ว่าผู้รับโอนไม่มีอำนาจ ขอให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนการโอนที่ดินพิพาท และให้จำเลยที่ ๒ โอนใส่ชื่อโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดก
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ถอนโจทก์จากการเป็นผู้จัดการมรดก และตั้งนายสมคิดเป็นผู้จัดการมรดกชอบแล้วจำเลยที่ ๑ รับโอนโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า ได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทโดยชอบด้วยระเบียบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ยังคงเป็นผู้จัดการมรดกของนายรอดผู้ตายนั้น เห็นว่า คดีเดิมศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายรอดผู้ตาย เมื่อนายสมคิดประสงค์จะขอให้ศาลตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกคนใหม่แทนโจทก์ตามปกติแล้วย่อมกระทำได้โดยยื่นคำร้องเข้ามาในคดีเดิม แต่ถ้านายสมคิดประสงค์จะฟ้องโจทก์แยกจากคดีเดิมโดยอาศัยเหตุตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๒๗ ก็ไม่ต้องห้าม เพราะบทบัญญัติดังกล่าวเป็นแต่ให้สิทธิยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีเดิมก่อนที่การแบ่งปันมรดกเสร็จสิ้นลงเท่านั้น หากเป็นการตัดสิทธิมิให้นำไปฟ้องเป็นคดีใหม่อีกต่างหากไม่ ดังนั้น เมื่อศาลสืบพยานในคดีดังกล่าวและมีคำสั่งถอนโจทก์จากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายรอดผู้ตาย และตั้งนายสมคิดเป็นผู้จัดการมรดกแทนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขแดงที่ ๓๘๕/๒๕๒๘ ซึ่งคดีถึงที่สุดแล้วคำสั่งดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์มีผลเป็นการเพิกถอนโจทก์จากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายรอดผู้ตาย โจทก์จึงมิใช่ผู้จัดการมรดกของนายรอดผู้ตายตามกฎหมายต่อไป ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของนายรอดผู้ตาย
ปัญหาข้อต่อไปที่ว่า โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายรอดผู้ตายมิได้มอบอำนาจให้นายสมคิดโอนขายที่ดินมรดกให้แก่จำเลยที่ ๑นิติกรรมดังกล่าวตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๑๓ เห็นว่า กรณีนี้เป็นการดำเนินการเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดก การที่นายสมคิดทำตามมติที่ประชุมทายาทตามเอกสารหมาย จ.ล.๙ โดยโอนทรัพย์สินมรดกให้แก่จำเลยที่ ๑ จึงเป็นการจัดการเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกของนายรอดผู้ตายและมิใช่เป็นนิติกรรมที่ตนทำขึ้นโดยมีส่วนได้เสียอันเป็นปรปักษ์ต่อกองมรดกตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๒๒จึงหาต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ก่อนไม่ทั้งไม่ปรากฏว่านายสมคิดผู้จัดการมรดกของนายรอดผู้ตายละเลยไม่กระทำการตามหน้าที่ดังนั้นนิติกรรมดังกล่าวจึงสมบูรณ์ตามกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนใน น.ส.๓ ดังกล่าว
พิพากษายืน.

Share