คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4757/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าเป็นภรรยาเป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำสั่งศาล ขอให้จำเลยทั้งสองแบ่งสินสมรสและมรดกของผู้ตายแก่โจทก์ในฐานะคู่สมรส ทายาทและผู้จัดการมรดก เพื่อแบ่งปันแก่บุตรผู้เยาว์ของผู้ตายต่อไปหาใช่ฟ้องในฐานะภรรยาหรือทายาทอย่างเดียวไม่ และโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้แบ่งมรดกแก่บุตรผู้เยาว์ซึ่งเป็นทายาทได้กรณีไม่เป็นการฟ้องคดีแทนบุตรอันจะเป็นอุทลุม ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสองแบ่งทรัพย์สินพิพาทให้โจทก์โดยมิได้ระบุว่าแบ่งให้โจทก์ในฐานะอะไรบ้างนั้น ยังไม่ชอบเพราะอาจเกิดความเสียหายแก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองคนของผู้ตายอันเป็นทายาทได้ ปัญหานี้เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็เห็นสมควรแก้ไข.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของพันตำรวจโทยงยุทธ สมานบุตร ผู้ตาย มีบุตรด้วยกัน 2 คน ซึ่งยังเป็นผู้เยาว์และอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของโจทก์ พันตำรวจโทยงยุทธ สมานบุตรถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2527 โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำสั่งศาล จำเลยที่ 1 เป็นมารดาของผู้ตายส่วนจำเลยที่ 2 เป็นพี่สาวของผู้ตายอันเกิดจากนายดำรัส สมานบุตรซึ่งถึงแก่กรรมไปประมาณ 30 ปีแล้ว ระหว่างที่นายดำรัส สมานบุตรกับจำเลยที่ 1 อยู่กินเป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีทรัพย์สินซึ่งเป็นสินสมรส คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 152 ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมืองกาญจนบุรี เนื้อที่ 77.2 ตารางวา คิดเป็นเงิน 3,000,000 บาทส่วนห้องแถว 2 ห้อง เลขที่ 38 และ 40 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวได้ถูกไฟไหม้เสียหายหมดเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2524 ผู้ตายเห็นว่าตนมีส่วนได้รับมรดกซึ่งเป็นที่ดินนี้อยู่ด้วย จึงได้ร่วมกับทายาทคนอื่นของบิดาปลูกตึกแถว 2 ห้อง ขึ้นบนที่ดิน โดยใช้เลขที่บ้านเดิมคือเลขที่ 38 และ 40 ดังนั้น ผู้ตายจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในตึกแถว 2 ห้อง ดังกล่าว โดยมีส่วนอยู่เป็นเงิน 400,000 บาท หลังจากนายดำรัส สมานบุตร ถึงแก่กรรม ที่ดินเป็นทรัพย์มรดกของนายดำรัสจึงตกได้แต่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และผู้ตาย แต่ยังไม่ได้แบ่งปันกันเนื่องจากจำเลยที 1 ยังมีชีวิตอยู่และเป็นผู้ดูแลแทนทายาทคนอื่น ๆจนบัดนี้ ผู้ตายเป็นทายาทชั้นบุตร เมื่อหักส่วนแบ่งเป็นสินสมรสให้แก่จำเลยที่ 1 เฉพาะที่ดินดังกล่าวออกกึ่งหนึ่งแล้ว ที่ดินซึ่งเป็นมรดกตกได้แก่ผู้ตาย คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 13 ตารางวา เป็นเงิน500,000 บาท (หรือ 1 ใน 6 ส่วน) ส่วนตึกแถว 2 ห้อง โจทก์ในฐานะคู่สมรสของผู้ตายย่อมได้รับส่วนแบ่งกึ่งหนึ่งเป็นเงิน 200,000 บาทส่วนที่เหลืออีก 200,000 บาท ตกได้แก่ทายาทของผู้ตาย โดยจำเลยที่ 1ได้ 1 ส่วน โจทก์และบุตรของผู้ตาย 2 คน ได้คนละ 1 ส่วน รวมเป็น3 ส่วน เป็นเงิน 150,000 บาท รวมทรัพย์มรดกทั้งสิ้นที่ตกได้แก่โจทก์และบุตรเป็นเงิน 850,000 บาท ตึกแถวอันเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมของผู้ตายหากให้เช่าจะได้ค่าเช่าห้องละ 8,000 บาทต่อเดือน (รวมเงินกินเปล่า) ซึ่งโจทก์และบุตรจะได้รับ 7 ใน 8 ส่วน คือเป็นเงิน7,000 บาท ต่อเดือน เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2527 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวดังกล่าวข้างต้นให้แก่จำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในระหว่างที่ผู้ตายกำลังป่วยหนัก โจทก์ในฐานะทายาทและผู้จัดการมรดกของผู้ตายย่อมได้รับความเสียหาย เพราะไม่สามารถรวบรวมทรัพย์มรดกของผู้ตายมาไว้ในกองมรดกเพื่อแบ่งปันกันระหว่างทายาทตามกฎหมายได้ครบถ้วน โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองจัดการแบ่งมรดกดังกล่าวให้โจทก์ จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือบอกกล่าวของโจทก์แล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งสองแย่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 152 ถนนบวร ตำบลบ้านเหนืออำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ให้แก่โจทก์ 1 ใน 6 ส่วนเป็นเนื้อที่ 13 ตารางวา หากจำเลยไม่สามารถแบ่งแยกที่ดินให้โจทก์ได้ ขอให้ศาลสั่งให้นำทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินที่ขายมาแบ่งกันตามส่วนหรือให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงินจำนวน 500,000 บาท ให้แก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันแบ่งตึกแถวพิพาท เลขที่ 38 และ 40 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวข้างต้นให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่โจทก์ 7 ใน 8 ส่วน ของจำนวนเงินกรรมสิทธิ์รวม 400,000บาท หรือให้ขายทรัพย์สินดังกล่าวเอาเงินมาแบ่งกันตามส่วน หรือให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงินจำนวน 350,000 บาทให้แก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ 7,000 บาท นับจากวันฟ้องตลอดไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะปฏิบัติตามคำขอข้างต้นแล้วเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นมารดา และจำเลยที่ 2เป็นพี่สาวของผู้ตายจริง ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 152 เนื้อที่ 77.2ตารางวา และห้องแถว 2 ห้อง เลขที่ 38 และ 40 ซึ่งปลูกในที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ซึ่งปลูกสร้างด้วยทรัพย์ของตนเองแต่เพียงผู้เดียว ผู้ตายไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมตามฟ้อง ที่ดินพิพาทไม่ใช่สินสมรสระหว่างนายดำรัส สมานบุตร กับจำเลยที่ 1 อันจะเป็นมรดกของนายดำรัส สมานบุตร และที่ดินพิพาทมีราคาเพียง 1,000,000บาท เท่านั้น นายดำรัสได้ถึงแก่กรรมไป 35 ปีแล้ว หากจะมีทรัพย์มรดกผู้ตายก็ได้รับการแบ่งปันไปแล้ว ผู้ตายไม่เคยครอบครองที่ดินพิพาทจำเลยทั้งสองร่วมกันครอบครองมาโดยตลอด และไม่เคยครอบครองแทนผู้ตายโจทก์ไม่เคยครอบครองที่ดินพิพาทอันจะก่อให้เกิดสิทธิในการฟ้องคดีนี้ ถ้าหากโจทก์จะมีสิทธิเมื่อคิดเป็นเงินแล้วก็ไม่เกิน 160,000บาท ส่วนตึกแถว 2 ห้อง โจทก์ในฐานะคู่สมรสของผู้ตาย หากจะมีสิทธิก็ไม่เกิน 200,000 บาท ส่วนบุตรผู้เยาว์ของโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องใด ๆ เพราะโจทก์หาได้ฟ้องคดีแทนบุตรไม่ และถ้าจะถือว่าโจทก์ฟ้องแทนบุตรผู้เยาว์ด้วย ก็เป็นอุทลุมต้องห้ามตามกฎหมายรวมทรัพย์สินที่โจทก์มีสิทธิได้รับคิดเป็นเงินไม่เกิน 360,000 บาท จำเลยที่ 2ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ได้ใช้สิทธิของตนโดยชอบในขอบข่ายแห่งกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1336 ที่ดินพิพาทจึงเป็นของจำเลยที่ 2 โดยสมบูรณ์ ส่วนตึกแถว2 ห้อง เป็นของจำเลยที่ 2 ซึ่งได้ลงทุนสร้างเอง ไม่ใช่ทรัพย์มรดกตึกแถวพิพาทหากให้เช่าจะได้ค่าเช่าไม่เกินห้องละ 1,000 บาท ต่อเดือนฟ้องของโจทก์ขาดอายุความมรดก โจทก์ไม่ใช่ทายาท ทรัพย์สินที่ฟ้องไม่ใช่มรดก โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม ไม่ระบุให้แน่ชัดว่าโจทก์มีสิทธิอย่างไร ในฐานะใดและในทรัพย์ส่วนใด อันทำให้จำเลยทั้งสองหลงต่อสู้คดี ฟ้องของโจทก์เฉพาะที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 เป็นอุทลุมต้องห้ามตามกฎหมาย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 152 ถนนบวร ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ให้โจทก์ 1 ใน 9 ส่วน หากจำเลยทั้งสองไม่สามารถแบ่งแยกให้ได้ ให้นำทรัพย์ออกขายทอดตลาดนำเงินที่ขายได้แบ่งกันตามส่วนข้างต้น และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันแบ่งตึกแถวเลขที่ 38 และ 40 ซึ่งปลูกในที่ดินพิพาทให้โจทก์ 7 ใน 16 ส่วน หากไม่สามารถแบ่งได้ให้นำทรัพย์ออกขายทอดตลาดนำเงินที่ขายได้แบ่งกันตามส่วนข้างต้น กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์เป็นค่าเสียหายเดือนละ 3,500บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ
โจทก์และจำเลยทั้งสองต่างอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 152 ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรีออกให้โจทก์ 1 ใน 6 ส่วน พร้อมกับชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 3,500 บาทแก่โจทก์นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวข้างต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…โจทก์บรรยายฟ้องมาแล้วว่า โจทก์เป็นภรรยาเป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำสั่งศาล ขอให้จำเลยทั้งสองแบ่งสินสมรสและมรดกของผู้ตายแก่โจทก์ในฐานะคู่สมรส ทายาทและผู้จัดการมรดก เพื่อแบ่งปันแก่บุตรผู้เยาว์ของผู้ตายต่อไป หาใช่ฟ้องในฐานะภรรยาหรือทายาทอย่างเดียวดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาไม่และโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้แบ่งมรดกแก่บุตรผู้เยาว์ซึ่งเป็นทายาทได้ กรณีไม่เป็นการฟ้องคดีแทนบุตรอันจะเป็นอุทลุมแต่อย่างไร…
ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสองแบ่งทรัพย์สินพิพาทให้โจทก์มิได้ระบุว่าแบ่งให้โจทก์ในฐานะอะไรบ้างนั้น ยังไม่ชอบเพราะอาจเกิดความเสียหายแก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสองคนของผู้ตายอันเป็นทายาทได้ ปัญหานี้เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็เห็นสมควรแก้ไข ได้ความว่าโจทก์มีสิทธิแบ่งที่ดินพิพาทในฐานะผู้จัดการมรดก สำหรับตึกแถวที่ปลูกในที่ดินพิพาทนั้น โจทก์มีสิทธิแบ่งในฐานะส่วนตัวเพราะเป็นสินสมรส 4 ใน 16 ส่วนในฐานะผู้จัดการมรดก 3 ใน 16 ส่วน ส่วนค่าเสียหายสำหรับตึกแถวภพิพาทที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยทั้งสองใช้ให้แก่โจทก์เดือนละ 3,500 บาทนั้น ก็เป็นของโจทก์ในฐานะส่วนตัวเพราะเป็นดอกผลของสินสมรส ส่วนของโจทก์เพียงเดือนละ 2,000 บาท และในฐานะผู้จัดการมรดกเดือนละ1,500 บาท”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่152 ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ออกให้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของพันตำรวจโทยงยุทธ สมานบุตร 1 ใน 6 ส่วนให้จำเลยทั้งสองแบ่งตึกแถวเลขที่ 38 และ 40 ซึ่งปลูกในที่ดินนี้ให้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของพันตำรวจโทยงยุทธ สมานบุตร 3 ใน 16ส่วน และให้จำเลยทั้งสองใช้เงินค่าเสียหายแก่โจทก์ในฐานะส่วนตัวเดือนละ 2,000 บาท ในฐานะผู้จัดการมรดกดังกล่าวเดือนละ 1,500 บาทนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share