คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4756/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2548 โจทก์ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยระบุให้มีผลเป็นการพ้นสภาพพนักงานในวันที่ 1 ธันวาคม 2548 เป็นการแสดงเจตนาเลิกสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลย เจตนาเลิกสัญญาของโจทก์มีผลแล้วนับแต่วันยื่นหนังสือลาออกต่อจำเลยและจะถอนไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 386 วรรคสอง การอนุมัติให้ลาออกเป็นขั้นตอนและระเบียบปฏิบัติภายในของจำเลย ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการแสดงเจตนาเลิกสัญญาของโจทก์ สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์จำเลยสิ้นสุดลงในวันที่ 1 ธันวาคม 2548 ตามหนังสือลาออกของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 360,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม2548 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และเงินเพิ่มร้อยละ 15 ต่อปีทุกระยะเวลา 7 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 45,000 บาท พร้อดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2548 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายเนื่องจากบริษัทธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2542 ในตำแหน่งนิติกร สังกัดสายงานนิติการ โจทก์ยื่นหนังสือลาออกถึงนายสมชาย รักษาการกรรมการผู้จัดการของจำเลย แจ้งความประสงค์ในการลาออกจากงานเพื่อไปปฏิบัติงานที่บริษัทอื่นและโจทก์มีความจำเป็นต้องไปเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2548 จึงยื่นหนังสือลาออกน้อยกว่า 30 วัน ก่อนวันที่ลาออก โดยขออนุมัติเป็นกรณีพิเศษให้มีผลเป็นการพ้นสภาพการเป็นพนักงานของจำเลยในวันที่ 1 ธันวาคม 2548 ตามหนังสือลาออก จำเลยรับทราบหนังสือลาออกของจำเลยแล้วตั้งแต่วันที่ยื่นหนังสือ ต่อมาวันที่ 23 พฤศจิกายน 2548 มีการประชุมคณะกรรมการของจำเลยครั้งที่ 14/2548 (114) มีมติให้ยุบสายงานนิติการของจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2548 เป็นต้นไป กับให้มีการปรับองค์กรใหม่ตามรายงานการประชุมและต่อมาวันที่ 25 พฤศจิกายน 2548 มีการประชุมคณะกรรมการพนักงานครั้งที่ 16/2548 พิจารณาหนังสือลาออกของโจทก์แล้วมีมติอนุมัติการลาออกตามความประสงค์ของโจทก์โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2548 เป็นต้นไปตามรายงานการประชุม
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าพฤติการณ์ของจำเลยเกี่ยวกับการมีมติยุบสายงานนิติการถือได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ก่อนที่โจทก์จะลาออกจากงานหรือไม่ เห็นว่า แม้การเลิกจ้างจะมีความหมายรวมถึงกรณีที่รัฐวิสาหกิจไม่ยอมให้พนักงานทำงานเกินเจ็ดวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม โดยไม่จ่ายเงินเดือนค่าจ้างให้และมีเจตนาจะไม่จ้างพนักงานนั้นทำงานต่อไปหรือกลั่นแกล้งพนักงาน ตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 95 วรรคหนึ่ง ประกอบระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสากิจ พ.ศ.2534 ข้อ 45 วรรคสอง แต่การที่จำเลยยุบสายงานนิติการตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2548 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่โจทก์ได้รับอนุมัติให้ลาออกจากงานย่อมไม่ใช่กรณีที่จำเลยไม่ยอมให้โจทก์ทำงาน หากเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ทำงานให้จำเลยเพราะไปทำงานที่อื่นเอง และแม้ตามรายงานการประชุม จะปรากฏสาเหตุที่ต้องยุบสายงานนิติการและปรับองค์กรใหม่เพราะไม่มีงานด้านนิติการที่จำเลยจะดำเนินการให้บริษัทธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) อีกต่อไป ก็ไม่อาจแปลความไปว่าจำเลยมีเจตนาจะไม่จ้างโจทก์ทำงานต่อไป พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างโจทก์ นอกจากนี้เมื่อโจทก์ยื่นหนังสือลาออกต่อจำเลยในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2548 โดยระบุให้มีผลเป็นการพ้นสภาพการเป็นพนักงานของจำเลยวันที่ 1 ธันวาคม 2548 อันเป็นการแสดงเจตนาเลิกสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลย การแสดงเจตนาเลิกสัญญาของโจทก์มีผลตามกฎหมายแล้วนับแต่วันยื่นหนังสือลาออกต่อจำเลยและจะถอนไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 วรรคสอง การอนุมัติให้ลาออกเป็นขั้นตอนและระเบียบปฏิบัติภายในของจำเลย ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการแสดงเจตนาเลิกสัญญาของโจทก์ สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงสิ้นสุดลงในวันที่ 1 ธันวาคม 2548 ตามหนังสือลาออกของโจทก์ ไม่ใช่กรณีที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ จำเลยไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ตามฟ้อง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องมานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share