คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4755/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้จำเลยเป็นฝ่ายครอบครองทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกตลอดมา แต่จำเลยยื่นคำร้องขอรับมรดกของเจ้ามรดกในฐานะจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกเพื่อรับมรดกไปแบ่งให้แก่ทายาทผู้มีส่วนรับมรดกของเจ้ามรดก เมื่อนายอำเภอได้ทำการสอบสวนจำเลยก็ให้ถ้อยคำว่า จำเลยมีหน้าที่จะต้องแบ่งมรดกของเจ้ามรดกรายนี้ให้แก่ทายาทผู้มีส่วนได้เสียทุกคน และหลังจากรับโอนมรดกแล้วจำเลยยังได้โอนบางส่วนของที่ดินพิพาทให้แก่ บ. ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกไป อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่บางส่วนของผู้จัดการมรดก พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงไว้แทนทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกทุกคนด้วย หาใช่ครอบครองเพื่อตนเองแต่ผู้เดียวไม่ ดังนั้นแม้โจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกแก่โจทก์ทั้งสามเป็นเวลาเกิน 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วก็ตาม จำเลยก็ไม่อาจอ้างได้ว่าจำเลยครอบครองที่พิพาททั้งสองแปลงเพื่อตนเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 และไม่อาจยกอายุความมรดกตามมาตรา 1754 ขึ้นใช้ยันโจทก์ทั้งสามผู้เป็นทายาทของเจ้ามรดกได้ ดังนี้ ฟ้องของโจทก์ทั้งสามไม่ขาดอายุความ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเย็นนางเจริญ หงษ์ทอง นายเย็นถึงแก่ความตาย มีทรัพย์มรดกคือที่ดินน.ส.3 เลขที่ 726 เนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน 73 ตารางวา และที่ดินน.ส.3 เลขที่ 777 เนื้อที่ 23 ไร่ 2 งาน 26 ตารางวา ตำบลพันเสาอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายเย็นตามคำสั่งของศาลชั้นต้นจะต้องแบ่งที่ดินมรดกให้แก่ทายาท 6 คนรวมทั้งโจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามมีส่วนได้รับมรดกคนละ 1 ใน 6 ส่วนโจทก์ทั้งสามได้แจ้งให้จำเลยจัดการแบ่งมรดกให้แก่โจทก์ทั้งสามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ทำให้โจทก์ทั้งสามเสียหาย หากนำทรัพย์ดังกล่าวไปหาผลประโยชน์จะได้เดือนละ 900 บาท ขอให้บังคับจำเลยแบ่งที่ดินมรดกให้แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 1 ใน 6 ส่วน หากจำเลยไม่จัดการก็ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามเดือนละ 900 บาท
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสามจะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเย็น หงษ์ทองหรือไม่ จำเลยไม่รับรอง จำเลยเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเย็นและมีบุตรด้วยกัน 5 คน ที่ดินตามฟ้องเป็นสินสมรสระหว่างนายเย็นกับจำเลย เมื่อนายเย็นถึงแก่ความตาย จำเลยได้ครอบครอบตลอดมา โจทก์ทั้งสามไม่เคยเกี่ยวข้องต่อมาปี พ.ศ. 2522จำเลยไปยื่นคำร้องขอรับมรดกของนายเย็น โจทก์ที่ 3 ไปคัดค้านโดยอ้างว่าโจทก์ที่ 3 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเย็น คดีโจทก์ทั้งสามขาดอายุความเพราะไม่ฟ้องขอแบ่งมรดกภายใน 1 ปี นับแต่วันที่นายเย็นถึงแก่ความตายหากจะฟังว่าโจทก์ทั้งสามเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเย็น โจทก์ทั้งสามก็ไม่มีสิทธิที่จะได้รับมรดกของนายเย็นถึงคนละ 1 ใน 6 ส่วน โจทก์ทั้งสามไม่ได้รับความเสียหายขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 1 ใน 6 ส่วน หากจำเลยไม่จัดการหรือมิอาจทำได้ให้เอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย และห้ามมิให้จำเลยยุ่งเกี่ยวทรัพย์มรดกในส่วนที่เป็นสิทธิของโจทก์ทั้งสามและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามปีละ 900 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะจัดการแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ทั้งสามเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…แม้จำเลยเป็นฝ่ายครอบครองทรัพย์มรดกขายนายเย็นมาตลอด แต่จำเลยยื่นคำร้องขอรับมรดกของนายเย็นในฐานะจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายเย็นเพื่อรับมรดกไปแบ่งให้แก่ทายาทผู้มีส่วนรับมรดกของนายเย็น ทั้งเมื่อนายอำเภอบางระกำได้ทำการสอบสวนจำเลยยังให้ถ้อยคำว่า จำเลยมีหน้าที่จะต้องแบ่งมรดกของเจ้ามรดกรายนี้ให้แก่ทายาทผู้มีส่วนได้เสียทุกคนปรากฏตามสำเนาบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย จ.17 และหลังจากรับโอนมรดกแล้วจำเลยยังได้โอนบางส่วนของที่ดินพิพาทแปลงเนื้อที่ 23 ไร่เศษให้แก่นางบุญหรือสมศรีทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกไปปรากฏตามสารบัญจดทะเบียนในสำเนา น.ส.3ก.เอกสารหมาย จ.4 อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่บางส่วนของผู้จัดการมรดกแล้ว พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงไว้แทนทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกทุกคนด้วย หาใช่ครอบครองเพื่อตนเองแต่ผู้เดียวไม่ ดังนั้นแม้โจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกให้แบ่งมรดกแก่โจทก์ทั้งสามเป็นเวลาเกิน 1 ปีนับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายยแล้วก็ตาม จำเลยก็ไม่อาจอ้างได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเพื่อตนเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 และไม่อาจยกอายุความมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ขึ้นใช้ยันโจทก์ทั้งสามผู้เป็นทายาทของเจ้ามรดกได้ ฟ้องของโจทก์ทั้งสามจึงไม่ขาดอายุความ…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยแบ่งมรดกที่ดินตาม น.ส.3ก. เลขที่726 และเลขที่ 777 ตำบลพันเสา อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลกให้แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 1 ส่วน ใน 12 ส่วน หากจำเลยไม่จัดการหรือไม่อาจจัดการได้ให้ถือเอาคำพิพากษาศาลฎีกาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามปีละ 450 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะจัดการแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ทั้งสามเสร็จ.

Share