แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาคำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 264 ต่อมาศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีในส่วนที่ศาลชั้นต้นไม่รับคำให้การ (ที่ถูก คำร้อง) ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งอ้างว่าผู้ซื้อทรัพย์ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีคำพิพากษาให้ยกอุทธรณ์ ปรากฏว่าไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงถึงที่สุดแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชั้นขอคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ซึ่งเป็นคดีสาขาของคดีดังกล่าว ถึงแม้จะพิจารณาต่อไปก็ไม่เป็นประโยชน์หรือเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัย จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากผู้ซื้อทรัพย์ได้รับโอนอสังหาริมทรัพย์จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ตรี (เดิม) ศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้ขับไล่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและบริวารออกจากทรัพย์พิพาทสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 88 ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 90907, 90908 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ ผู้ซื้อทรัพย์จึงขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดี ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายใน 8 วัน เมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าวจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังคงอาศัยอยู่ในที่พิพาท เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงขอให้ศาลชั้นต้นออกคำสั่งจับกุมและกักขังจำเลยที่ 1 และที่ 2 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งออกหมายจับจำเลยที่ 1 และที่ 2 และอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในชั้นบังคับคดี เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2559 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำให้การ (ที่ถูก ต้องทำเป็นคำร้อง) ว่า ผู้ซื้อทรัพย์ซื้อทรัพย์พิพาทจากการขายทอดตลาดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทของจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ใช่ผู้มีสิทธิแสดงอำนาจพิเศษในกรณีนี้ จึงไม่มีสิทธิยื่นคำให้การ ไม่รับคำให้การ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งพร้อมกับยื่นคำร้องขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งคุ้มครองประโยชน์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264 โดยมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 อาศัยบ้านเลขที่ 88 ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 90907, 90908 ในระหว่างที่รอคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำคัดค้าน ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งส่งศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณา
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของจำเลยที่ 1 และที่ 2
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งคุ้มครองประโยชน์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264 โดยขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 อาศัยอยู่ในบ้านเลขที่ 88 ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 90907 และ 90908 ในระหว่างที่รอคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต่อไป ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 1 และ ที่ 2 ฎีกาคำสั่งของศาลอุทธรณ์ดังกล่าว ต่อมาปรากฏว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีในส่วนที่ศาลชั้นต้นไม่รับคำให้การ (ที่ถูก คำร้อง) ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งอ้างว่า ผู้ซื้อทรัพย์ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ปรากฏว่าไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงถึงที่สุดแล้ว ดังนี้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชั้นขอคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ซึ่งเป็นคดีสาขาของคดีดังกล่าว ถึงแม้จะพิจารณาต่อไปก็ไม่เป็นประโยชน์หรือเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัย
จึงให้จำหน่ายคดีของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จากสารบบความ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ