แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ละเมิดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เครื่องตัดกระแสไฟฟ้าของโจทก์ จำเลยให้การปฏิเสธว่าสิทธิบัตรโจทก์ไม่สมบูรณ์และฟ้องแย้งขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรดังกล่าว ภาระการพิสูจน์และหน้าที่นำสืบในประเด็นว่า สิทธิบัตรโจทก์สมบูรณ์หรือไม่ย่อมตกแก่จำเลยทั้งสี่ แต่เมื่อโจทก์มีหน้าที่นำสืบก่อนหลายประเด็นประกอบกับโจทก์และจำเลยทั้งสี่ต่างนำพยานหลักฐานเข้าสืบด้วยกันทั้งสองฝ่ายแล้ว แม้โจทก์จะเป็นฝ่ายนำสืบก่อนก็ไม่ทำให้โจทก์เสียเปรียบศาลฎีกาไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาใหม่ การที่จำเลยทั้งสี่ฟ้องแย้งขอให้ศาลเพิกถอนสิทธิบัตรโจทก์เพราะเป็นสิทธิบัตรที่ไม่สมบูรณ์นั้น เป็นการฟ้องตามมาตรา 64 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522ไม่ใช่การฟ้องเนื่องจากมูลละเมิด เมื่ออายุความเกี่ยวกับอำนาจฟ้องดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงต้องถืออายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ลงโฆษณาเผยแพร่และผลิตภัณฑ์เครื่องตัดกระแสไฟฟ้ามาก่อนเป็นเวลาหลายปีแล้วต่อมาจึงนำผลิตภัณฑ์ของโจทก์ดังกล่าวไปขอรับสิทธิบัตรรูปแบบผลิตภัณฑ์ ถือไม่ได้ว่าแบบผลิตภัณฑ์เครื่องตัดกระแสไฟฟ้าดังกล่าวเป็นแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะนำไปยื่นรับคำขอสิทธิบัตรได้ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 56และ 57 สิทธิบัตรโจทก์จึงไม่สมบูรณ์จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องตัดกระแสไฟฟ้าเช่นเดียวกับโจทก์ จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสีย และมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรโจทก์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2528 โจทก์ได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ “เครื่องตัดกระแสไฟฟ้า”ต่อกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ ต่อมาอธิบดีกรมทะเบียนการค้าได้ออกสิทธิบัตรให้แก่โจทก์หลังจากนั้นโจทก์ได้ดำเนินการผลิต โฆษณา และจำหน่ายเครื่องตัดกระแสไฟฟ้าของโจทก์ภายใต้เครื่องหมายการค้าหรือยี่ห้อ “เซฟ-ที-คัท” ตลอดมา ภายหลังโจทก์ทราบจากการโฆษณาในหนังสือพิมพ์ว่าจำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันผลิตสินค้าเครื่องตัดกระแสไฟฟ้ายี่ห้อ “ไอ-ที-เซฟ” โดยรูปแบบผลิตภัณฑ์สินค้าของจำเลยทั้งสี่มีรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่เหมือนกันหรือเกือบเหมือนกันกับรูปแบบของผลิตภัณฑ์เครื่องตัดกระแสไฟฟ้าของโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสี่ทำให้ประชาชนทั่วไปหลงผิดว่าเครื่องตัดกระแสไฟฟ้าที่จำเลยทั้งสี่ผลิตภัณฑ์ของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน5,000,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวัน ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยเอง หรือโจทก์เป็นผู้ดำเนินการด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินวันละ 136,981.63 บาทแก่โจทก์นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะหยุดการผลิตโฆษณาและจำหน่ายสินค้าเครื่องตัดกระแสไฟฟ้าดังกล่าวให้จำเลยทั้งสี่หยุดการผลิตโฆษณา และจำหน่ายหรือการกระทำอื่นใดที่ใช้รูปแบบผลิตภัณฑ์ที่เลียนแบบเหมือนกันหรือเกือบเหมือนกับรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่โจทก์จดทะเบียนไว้ต่อกระทรวงพาณิชย์
จำเลยทั้งสี่ให้การและฟ้องแย้งในทำนองเดียวกันว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำตามฟ้องจำเลยที่ 3 ผลิตเครื่องตัดกระแสไฟฟ้า ยี่ห้อ “ไอ-ที-เซฟ”ซึ่งเป็นแบบทั่ว ๆ ไปและจำเลยที่ 2 และที่ 4 ซึ่งเป็นเพียงผู้ขายสินค้า ได้กระทำการผลิตและขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวโดยสุจริตมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 ก่อนวันที่โจทก์ขอรับสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ที่โจทก์ได้รับสิทธิบัตรได้มีการใช้หรือใช้แพร่หลายอยู่ในราชอาณาจักร หรือนอกราชอาณาจักรก่อนวันขอรับสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ของโจทก์จึงไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ใหม่และไม่สามารถจะขอรับสิทธิบัตรได้ สิทธิบัตรโจทก์ไม่สมบูรณ์ ขอให้ศาลเพิกถอนสิทธิบัตรของโจทก์ ขอให้ศาลบังคับให้โจทก์โฆษณาข้อความในหนังสือพิมพ์ โดยค่าใช้จ่ายของโจทก์เอง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ฟ้องแย้งเคลือบคลุมจำเลยทั้งสี่ทราบถึงการขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2528 ซึ่งเป็นวันที่ยื่นคำขอรับสิทธิบัตร แต่จำเลยทั้งสี่เพิ่งนำคดีมาฟ้องแย้งวันที่9 ธันวาคม 2530 ล่วงเลยเวลา 1 ปี ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสี่ขาดอายุความ ขอให้พิพากษายกฟ้องแย้งจำเลยทั้งสี่
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์และให้เพิกถอนสิทธิบัตรเลขที่ 389 ของโจทก์เสีย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกซึ่งฎีกาว่าในประเด็นว่าสิทธิบัตรของโจทก์สมบูรณ์หรือไม่ ศาลชั้นต้นจะต้องกำหนดให้จำเลยทั้งสี่มีภาระการพิสูจน์และหน้าที่นำสืบก่อนมิใช่ว่าให้ตกเป็นภาระและหน้าที่ของโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ในประเด็นนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่กระทำละเมิดต่อสิทธิบัตรของโจทก์ จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธต่อสู้ว่าสิทธิบัตรของโจทก์ไม่สมบูรณ์พร้อมกับฟ้องแย้งขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรของโจทก์ จึงเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสี่ยกความไม่สมบูรณ์ในสิทธิบัตรของโจทก์ชั้นอ้างตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตรพ.ศ.2522 ภารการพิสูจน์ว่าสิทธิบัตรของโจทก์สมบูรณ์หรือไม่ย่อมตกแก่จำเลยทั้งสี่จำเลยทั้งสี่จึงมีหน้าที่นำสืบก่อนในประเด็นนี้ แต่อย่างไรก็ตาม คดีนี้โจทก์มีหน้าที่นำสืบก่อนหลายประเด็น ประกอบกับโจทก์และจำเลยทั้งสี่ต่างนำพยานหลักฐานเข้าสืบมาด้วยกันทั้งสองฝ่ายแล้วแม้โจทก์จะเป็นฝ่ายนำสืบก่อนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นก็ไม่ทำให้โจทก์เสียเปรียบ ฉะนั้น ศาลฎีกาจะได้ดำเนินการพิจารณาต่อไปตามรูปคดีได้ โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาใหม่
ปัญหาข้อที่สองฟ้องแย้งขาดอายุความหรือไม่ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยทั้งสี่ฟ้องแย้งโดยอาศัยมูลเหตุละเมิดจึงมีอายุความเพียง 1 ปีนั้น เห็นว่าจำเลยทั้งสี่ฟ้องแย้งขอให้ศาลเพิกถอนสิทธิบัตรของโจทก์เพราะเป็นสิทธิบัตรไม่สมบูรณ์เป็นการฟ้องโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 64 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ไม่ใช่เป็นการฟ้องเนื่องจากมูลละเมิด เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ กรณีจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 ซึ่งกำหนดอายุความไว้ 10 ปี ฟ้องแย้งไม่ขาดอายุความ
ปัญหาข้อต่อไป สิทธิบัตรของโจทก์สมบูรณ์หรือไม่ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงเชื่อว่าเครื่องตัดกระแสไฟฟ้าของโจทก์รุ่นที่ผลิตจำหน่ายมาก่อนนำไปขอรับสิทธิบัตรกับรุ่นที่นำไปขอรับสิทธิบัตรเป็นรุ่นเดียวกันและมีรูปแบบผลิตภัณฑ์เช่นเดียวกันด้วย นอกจากนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้ลงโฆษณาเผยแพร่ภาพและระบุรายละเอียดสาระสำคัญของเครื่องตัดกระแสไฟฟ้าของโจทก์ดังกล่าวในหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และสมุดรายการนามผู้ใช้โทรศัพท์ ก่อนวันที่โจทก์ไปขอรับสิทธิบัตร ดังนั้นแบบผลิตภัณฑ์เครื่องตัดกระแสไฟฟ้าของโจทก์ไม่ใช่เป็นแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะนำไปยื่นรับคำขอสิทธิบัตรจากพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตามมาตรา 56, 57 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 สิทธิบัตรของโจทก์จึงไม่สมบูรณ์เป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรได้ เมื่อคดีฟังได้ว่าสิทธิบัตรของโจทก์ไม่สมบูรณ์โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายและห้ามจำเลยทั้งสี่ใช้แบบผลิตภัณฑ์เครื่องตัดกระแสไฟฟ้าตามที่โจทก์ฟ้อง
พิพากษายืน