แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่โจทก์ฟ้องจำเลยพร้อมกับยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งห้ามจำเลยจำหน่ายจ่ายโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและให้อายัดเงินในบัญชีเงินฝากประจำหลายบัญชี แต่ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอายัดเงินในบัญชีเงินฝากไปยังธนาคาร จำเลยถอนเงินจากบัญชีและปิดบัญชีดังกล่าวทั้งหมดแล้วนำเงินฝากไปเปิดบัญชีเงินฝากประจำใหม่ที่ธนาคารอื่นนั้นเมื่อการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอายัดเงินในบัญชีเงินฝากของธนาคารซึ่งปิดบัญชีแล้วเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ทำให้ศาลชั้นต้นสั่งไปโดยหลงผิด ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะเพิกถอนคำสั่งเดิมและมีคำสั่งใหม่ให้ตรงกับความเป็นจริงเพื่อให้คำสั่งนั้นสัมฤทธิผลในทางปฏิบัติได้โดยโจทก์ทั้งสามหาจำต้องยื่นคำร้องขอให้คุ้มครองชั่วคราวอีกครั้งหนึ่งไม่ทั้งศาลชั้นต้นก็ไม่จำต้องไต่สวนแต่ประการใดอีก
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสามในฐานะทายาทโดยพินัยกรรมของนางเสงี่ยม เจริญถาวร ผู้ตาย ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นสามีของนางเสงี่ยมผู้ตายให้แบ่งทรัพย์มรดกจากสินสมรสทั้งหมดให้โจทก์ทั้งสามครึ่งหนึ่งพร้อมกับยื่นคำร้องขอให้คุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยขอให้ศาลอายัดการเบิกเงินจากบัญชีเงินฝากในธนาคารและห้ามมิให้จำเลยโอนขายจำหน่ายทรัพย์มรดกเป็นการชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาของโจทก์ทั้งสามแล้ว มีคำสั่งห้ามจำเลยจำหน่ายจ่ายโอนที่ดินหลายโฉนดและสิ่งปลูกสร้างตามที่ได้ความจากทางไต่สวน กับมีคำสั่งอายัดเงินครึ่งหนึ่งในบัญชีเงินฝาก 6 บัญชี ซึ่งรวมทั้งบัญชีเงินฝากประจำเลขที่ 324-2-01277-7ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาถนนรามอินทรา ก.ม.2บัญชีเงินฝากประจำเลขที่ 029-1-09866-2 ของธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน) สาขาหลักสี่ และบัญชีเงินฝากประจำเลขที่ 111-1-00001-2ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักรัชโยธิน
ต่อมาโจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 3 มีนาคม 2541ต่อศาลชั้นต้นว่า ตามคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาโจทก์ทั้งสามขอให้ศาลชั้นต้นอายัดเงินฝากในบัญชีธนาคารของจำเลยทั้งหมดโดยไม่เจาะจงบัญชีใดบัญชีหนึ่ง ซึ่งตามทางไต่สวนได้ความว่า จำเลยมีบัญชีเงินฝากในธนาคาร 6 บัญชี หลังจากโจทก์ที่ 1 เบิกความชั้นไต่สวนเสร็จแล้ว จำเลยยื่นคำแถลงฉบับลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2540 ต่อศาลชั้นต้นว่า จำเลยย้ายเงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาหลักสี่ บัญชีเลขที่029-1-09866-2 กับสำนักรัชโยธิน บัญชีเลขที่ 111-1-00001-2 และจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาถนนรามอินทรา ก.ม.2บัญชีเลขที่ 324-2-01277-7 ไปเปิดบัญชีใหม่ที่ธนาคารเอเชีย จำกัด(มหาชน) สำนักงานสาธร กับเปิดบัญชีเงินฝากที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาถนนรามอินทรา ก.ม.2 อีก 1 บัญชี ซึ่งบัญชีที่เปิดใหม่ตามบัญชีเงินฝากประจำเลขที่ 324-2-01789-8 ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาถนนรามอินทรา ก.ม.2 เป็นเงินฝากจำนวนเดียวกับเงินฝากในบัญชีเงินฝากประจำเลขที่ 324-2-01277-7ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)สาขาถนนรามอินทรา ก.ม.2บัญชีเงินฝากประจำเลขที่ 047-3-04697-5 ของธนาคารเอเชีย จำกัด(มหาชน) สำนักงานสาธร เป็นเงินฝากจำนวนเดียวกับเงินฝากในบัญชีเงินฝากประจำเลขที่ 029-1-09866-2 ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) สาขาหลักสี่ และบัญชีเงินฝากประจำเลขที่ 047-3-04655-5ของธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) สำนักงานสาธร เป็นเงินฝากจำนวนเดียวกับเงินฝากในบัญชีเงินฝากประจำเลขที่ 111-1-00001-2 ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักรัชโยธิน อันเป็นเงินฝากที่โจทก์ทั้งสามได้ขออายัดชั่วคราวก่อนพิพากษา แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอายัดเฉพาะเงินในบัญชีเงินฝากเดิมโดยมิได้อายัดเงินในบัญชีเงินฝากใหม่ซึ่งจำเลยโอนมาจากบัญชีเงินฝากเดิมที่โจทก์ทั้งสามได้ขออายัดไว้คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย ซึ่งศาลชั้นต้นมีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ขอให้มีคำสั่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยให้อายัดเงินในบัญชีเงินฝากประจำธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาถนนรามอินทรา ก.ม.2 บัญชีเลขที่ 324-2-01789-8 บัญชีเงินฝากประจำธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) สำนักงานสาธร บัญชีเลขที่047-3-04697-5 และบัญชีเงินฝากประจำธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน)สำนักงานสาธร บัญชีเลขที่ 047-3-04655-5 โดยห้ามจำหน่ายจ่ายโอนและอายัดไว้จำนวนครึ่งหนึ่งตามสิทธิของโจทก์ทั้งสามที่อาจได้รับตามพินัยกรรม
ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องของโจทก์ทั้งสามฉบับลงวันที่ 3 มีนาคม2541 ประกอบคำแถลงของจำเลยฉบับลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2540และฟังคำแถลงของคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้ว เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอายัดชั่วคราวไปยังบัญชีเงินฝากที่ปิดแล้วเป็นการผิดหลง จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งอายัดเงินตามบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ที่ถูกปิดทั้งสามบัญชีดังกล่าวข้างต้น และมีคำสั่งให้อายัดเงินไปยังบัญชีธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) สาขาถนนรามอินทรา ก.ม.2 บัญชีเลขที่ 324-2-01789-8และบัญชีธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) สำนักงานสาธร บัญชีเลขที่047-3-04697-5 และบัญชีเลขที่ 047-3-04655-5 โดยให้อายัดเงินในบัญชีดังกล่าวครึ่งหนึ่งของจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เมื่อโจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยพร้อมกับยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยขอให้ศาลชั้นต้นอายัดการเบิกเงินจากบัญชีเงินฝากในธนาคาร กับห้ามมิให้จำเลยโอน ขาย จำหน่ายทรัพย์มรดกที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งห้ามจำเลยจำหน่ายจ่ายโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและให้อายัดเงินในบัญชีเงินฝากประจำหลายบัญชีรวมทั้งบัญชีเงินฝากประจำเลขที่ 324-2-01277-7 ของธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำกัด (มหาชน) สาขาถนนรามอินทรา ก.ม.2 บัญชีเงินฝากประจำเลขที่029-1-09866-2 ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาหลักสี่และบัญชีเงินฝากประจำเลขที่ 111-1-00001-2 ของธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน) สำนักรัชโยธิน ตามคำขอของโจทก์ทั้งสาม แต่ปรากฏข้อเท็จจริงตามคำแถลงของจำเลย ฉบับลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2540และคำแถลงของคู่ความตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 10 มิถุนายน 2541 ว่าก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอายัดเงินในบัญชีเงินฝากทั้งสามบัญชีดังกล่าวไปยังธนาคาร จำเลยได้ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากประจำทั้งสามบัญชีดังกล่าวออกจากธนาคารและปิดบัญชีเงินฝากดังกล่าวทั้งหมด แล้วนำเงินฝากทั้งสามบัญชีดังกล่าวไปเปิดบัญชีเงินฝากประจำใหม่ที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)สาขาถนนรามอินทรา ก.ม.2 บัญชีเลขที่ 324-2-01789-8 กับที่ธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) สำนักงานสาธร บัญชีเลขที่ 047-3-04697-5 และบัญชีเลขที่ 047-3-04655-5 ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอายัดเงินในบัญชีเงินฝากของธนาคารซึ่งบัญชีปิดไปแล้วจึงเป็นการสั่งโดยหลงผิดตามคำขอของโจทก์ทั้งสาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามคำแถลงของจำเลยเองว่าจำเลยเป็นผู้ถอนเงินฝากจากบัญชีทั้งสามบัญชีดังกล่าวไปจนหมดสิ้นและปิดบัญชีทั้งสาม แล้วนำเงินจำนวนทั้งหมดดังกล่าวไปฝากเข้าบัญชีที่เปิดใหม่ ซึ่งจำเลยได้กระทำภายหลังที่โจทก์ที่ 1 เบิกความชั้นไต่สวนคำร้องเสร็จสิ้นลงแล้วและก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอายัดเงินฝากดังกล่าวไปยังธนาคาร การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอายัดเงินในบัญชีเงินฝากของธนาคารซึ่งปิดบัญชีแล้วเช่นนี้ จึงเกิดจากการกระทำของจำเลยเองที่ทำให้ศาลชั้นต้นสั่งไปโดยหลงผิดเช่นนั้น เพื่อให้คำสั่งอายัดเงินในบัญชีเงินฝากของธนาคารมีผลคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ทั้งสามอย่างแท้จริงหาได้ไร้ผลในทางปฏิบัติไม่ ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะเพิกถอนคำสั่งเดิมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคหนึ่ง และมีคำสั่งใหม่ให้ตรงกับความเป็นจริงเพื่อให้คำสั่งนั้นสัมฤทธิผลในทางปฏิบัติได้ที่จำเลยฎีกาว่า หากโจทก์ทั้งสามประสงค์จะขอให้อายัดเงินในบัญชีเงินฝากที่เปิดใหม่เพิ่มเติม โจทก์ทั้งสามต้องยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาเพื่อให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องก่อน การที่ศาลชั้นต้นแก้ไขคำสั่งจึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งเดิมและมีคำสั่งใหม่เกี่ยวกับหมายเลขบัญชีเงินฝากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอายัดเงินไปยังธนาคารเป็นการใช้อำนาจเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ทั้งข้อเท็จจริงก็ปรากฏชัดตามคำแถลงของคู่ความแล้วว่าจำเลยถอนเงินฝากจากบัญชีเดิมแล้วปิดบัญชีและนำเงินไปฝากเข้าบัญชีซึ่งเปิดใหม่ ซึ่งจำเลยกระทำภายหลังที่โจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา และเมื่อโจทก์ที่ 1 เบิกความชั้นไต่สวนคำร้องขอดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว เช่นนี้โจทก์ทั้งสามหาจำต้องยื่นคำร้องขอให้คุ้มครองชั่วคราวอีกครั้งหนึ่งไม่ ทั้งศาลชั้นต้นก็ไม่จำต้องไต่สวนแต่ประการใดอีกเพราะมิฉะนั้นแล้วหากก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอายัดเงินไปยังธนาคาร แล้วจำเลยถอนเงินจากบัญชีและปิดบัญชีนำเงินไปฝากเข้าบัญชีใหม่ ศาลก็ต้องไต่สวนเพื่อจะมีคำสั่งอายัดเงินฝากไปยังบัญชีที่เปิดใหม่เช่นนี้เรื่อยไปอันจะไม่มีที่สิ้นสุดและคำสั่งนั้นก็จะไม่มีผลในทางปฏิบัติที่สามารถบังคับได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งอายัดเงินตามบัญชีของธนาคารที่จำเลยปิดไปและมีคำสั่งอายัดเงินไปยังบัญชีธนาคารที่จำเลยนำเงินไปฝากใหม่นั้นจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน