แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์เป็นข้อตกลงที่จะให้มีบัญชีเดินสะพัดต่อกัน มีกำหนด 12 เดือน นับแต่วันที่ 20 กันยายน 2526 ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 20 กันยายน 2527 จำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2527 และหลังจากนั้นคงมีแต่รายการคิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนตลอดมา ทั้งยอดหนี้ในวันครบกำหนดสัญญาก็มีจำนวนสูงกว่าที่ตกลงไว้ในสัญญา ประกอบกับสัญญาครบกำหนดแล้วก็ไม่ปรากฏว่ามีการเดินสะพัดทางบัญชีอันแสดงว่าโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีต่อไปอีก แม้ภายหลังครบกำหนดตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี จำเลยที่ 1 ได้นำเงินเข้าบัญชีกระแสรายวัน 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2530แต่ก็เป็นการนำเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ ไม่ใช่เพื่อให้มีการเดินสะพัดทางบัญชี เพราะไม่มีลักษณะเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีหักกลบลบกันในระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 แสดงว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์จะต่ออายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีอีกต่อไป ถือว่าสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกกันนับแต่วันที่ 20 กันยายน2527 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856 หาจำต้องบอกเลิกสัญญาหรือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้ก่อนไม่
การที่จำเลยที่ 1 โอนเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ในวันที่ 23 เมษายน 2530 เป็นการรับสภาพตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีต่อจำเลยที่ 1 อายุความเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(มาตรา 172 เดิม) และเริ่มนับอายุความขึ้นใหม่ตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน2530 เป็นต้นไป หนี้รายนี้เป็นบัญชีเดินสะพัดซึ่งมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม2537 จึงเป็นการฟ้องภายในกำหนดอายุความ 10 ปี นับแต่เหตุที่อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลง ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ
จำเลยที่ 1 ให้การยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ ศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ได้รับสภาพหนี้เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงและคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความได้ ไม่เป็นการนอกฟ้องนอกประเด็น
ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี จำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ17.5 ต่อปีได้ อันเป็นไปตามสิทธิที่โจทก์จะเรียกดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามพระราชบัญญัติให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 ดังนี้ หลังจากสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเลิกกันแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี โดยไม่ทบต้นจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์
สำหรับจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ จำกัดวงเงินจำนวน 75,000 บาท รวมทั้งดอกเบี้ย แม้จะปรากฏว่า โจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีเกินวงเงิน 75,000 บาท ก็เป็นการผูกพันกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เท่านั้น หามีผลผูกพันจำเลยที่ 2 ด้วยไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดและต้องรับผิดในดอกเบี้ยต่อโจทก์เพียงใด ผู้ค้ำประกันก็ต้องรับผิดเช่นเดียวกัน จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นเงินจำนวน 75,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2527 ถึงวันที่ 20 กันยายน 2527 และดอกเบี้ยไม่ทบต้น นับแต่วันที่ 21 กันยายน 2527 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 403,305.61 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ในต้นเงิน 228,874.59 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามหนังสือรับรองการขายตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 81,044.01 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ในต้นเงิน 30,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์มีกำหนด 12 เดือน สัญญาจะสิ้นสุดลงในวันที่ 20 กันยายน 2527 และตามบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 หยุดการเดินสะพัดตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2527 ถือว่าสัญญาสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2527 โจทก์นำคดีมาฟ้องเกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ส่วนหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน วันที่ถึงกำหนดใช้เงินตามตั๋วคือวันที่ 14 ธันวาคม 2527 โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยภายใน 3 ปี นับแต่วันที่ถึงกำหนดใช้เงิน ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความเช่นเดียวกัน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 30,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2527 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องไม่เกิน 51,044.01 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีไว้แก่โจทก์ สาขาเจริญผล ตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 มีกำหนด 12 เดือน ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 20 กันยายน 2527 ในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 4 มีข้อตกลงว่า เมื่อถึงกำหนด 12 เดือน และไม่มีการต่ออายุการเบิกเงินเกินบัญชีเป็นหลักฐานหนังสือกำหนดเวลากันใหม่ จำเลยที่ 1 และโจทก์ตกลงกันให้มีการเบิกเงินเกินบัญชีตามสัญญานี้ต่อไปอีกคราวละ 6 เดือนตลอดไป
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ซึ่งจะต้องพิจารณาว่าสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีตามฟ้องสิ้นสุดลง เมื่อใด เห็นว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์เป็นข้อตกลงที่จะให้มีบัญชีเดินสะพัดต่อกันมีกำหนด 12 เดือน นับแต่วันที่ 20 กันยายน 2526 ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 20 กันยายน2527 แต่ก่อนครบกำหนดสัญญาปรากฏตามคำเบิกความของนายวิสันตา พกนนท์ พยานโจทก์ตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 1 ประกอบกับเอกสารหมาย จ.15 แผ่นที่ 3 ว่าจำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2527 และหลังจากนั้นคงมีแต่รายการคิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนตลอดมา ทั้งยอดหนี้ในวันครบกำหนดสัญญาก็มีจำนวนสูงกว่าที่ตกลงไว้ในสัญญา ประกอบกับสัญญาครบกำหนดแล้วก็ไม่ปรากฏว่ามีการเดินสะพัดทางบัญชีอันแสดงว่า โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีต่อไปอีก แม้ภายหลังครบกำหนดตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี จำเลยที่ 1 ได้นำเงินเข้าบัญชีกระแสรายวัน 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2530 แต่ก็เป็นการนำเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ ไม่ใช่เพื่อให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีต่อไป เพราะไม่มีลักษณะเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีหักกลบลบกัน ในระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวแต่อย่างใด พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์จะต่ออายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีอีกต่อไป ถือว่าสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกกัน นับแต่วันที่ 20 กันยายน 2527 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้ว ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856 หาจำต้องบอกเลิกสัญญาหรือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้ก่อนไม่ เมื่อฟังว่าจำเลยที่ 1 โอนเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ในวันที่ 23 เมษายน 2530 จำนวน 829.63 บาท จึงเป็นการรับสภาพตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีต่อจำเลยที่ 1 อายุความเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 เดิม และเริ่มนับอายุความขึ้นใหม่ตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน2530 เป็นต้นไป หนี้รายนี้เป็นบัญชีเดินสะพัดซึ่งมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม2537 จึงเป็นการฟ้องให้รับผิดตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีภายในกำหนดอายุความ 10 ปี นับแต่เหตุที่อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลง ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ และเห็นว่ากรณีจำเลยที่ 1 ให้การยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ได้รับสภาพหนี้เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงและคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความได้ ไม่เป็นการนอกฟ้องนอกประเด็น
ปัญหาข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีให้แก่โจทก์เพียงใด ปัญหานี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยไว้ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยอีก เห็นว่าเมื่อสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเลิกกันตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2527 โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจนถึงวันที่ 20 กันยายน 2527 หามีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นถึงวันที่ 6 พฤษภาคม 2534 ดังโจทก์ฎีกาไว้ไม่ สำหรับยอดหนี้ที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระในวันที่ 20 กันยายน 2527 ต่อไปอีกนั้น โจทก์คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยโดยไม่ทบต้นตลอดไปจนกว่าจะมีการชำระหนี้เสร็จ จำนวนยอดหนี้ ณ วันที่ 20 กันยายน 2527 ไม่มีระบุไว้ในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.15 คงระบุแต่ยอดหนี้ ณ วันที่ 27 สิงหาคม 2527จำนวน 78,477.02 บาท จึงให้คิดดอกเบี้ยทบต้นของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2527 ถึงวันที่ 20 กันยายน 2527 และดอกเบี้ยไม่ทบต้นนับแต่วันที่ 21 กันยายน 2527 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ส่วนปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราเท่าใดหลังจากสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเลิกกันแล้ว เห็นว่า ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี จำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปีได้ อันเป็นไปตามสิทธิที่โจทก์จะเรียกดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามพระราชบัญญัติให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 ดังนี้ หลังจากสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเลิกกันแล้วโจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี โดยไม่ทบต้นจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์ เพราะกรณีดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวมาตั้งแต่ต้นแล้ว โจทก์หาจำต้องนำสืบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้แต่อย่างใด
สำหรับจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 ค้ำประกันจำกัดวงเงินจำนวน 75,000 บาท รวมทั้งดอกเบี้ยแม้จะปรากฏว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีเกินวงเงิน 75,000 บาท ก็เป็นการผูกพันกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เท่านั้น หามีผลผูกพันจำเลยที่ 2 ด้วยไม่เมื่อจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดและต้องรับผิดในดอกเบี้ยต่อโจทก์เพียงใดผู้ค้ำประกันก็ต้องรับผิดเช่นเดียวกันจำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นเงินจำนวน 75,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2527 ถึงวันที่ 20 กันยายน 2527 และดอกเบี้ยไม่ทบต้นนับแต่วันที่ 21 กันยายน 2527 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำนวน78,477.02 บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยทบต้นในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2527 ถึงวันที่ 20 กันยายน 2527 และดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวไม่ทบต้นของต้นเงิน ณ วันที่ 20 กันยายน 2527 นับแต่วันที่ 21 กันยายน 2527 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ให้หักเงินที่จำเลยที่ 1 นำเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้โจทก์เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2530 จำนวน 829.63 บาท จากหนี้ดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2534 ถึงวันที่ 14 ธันวาคม 2537 ซึ่งเป็นวันฟ้องให้ไม่เกิน 174,431.02 บาท โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดจำนวน 75,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2527 ถึงวันที่ 20กันยายน 2527 และดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวไม่ทบต้นนับแต่วันที่ 21 กันยายน 2527เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์