แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำฟ้องของโจทก์นอกจากจะบรรยายว่าจำเลยทั้งสามทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว ยังบรรยายด้วยว่า จำเลยทั้งสามทำผิดหน้าที่ผู้อาศัยเป็นเหตุให้ทรัพย์สินที่อาศัยเสียหาย คดีจึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยด้วยว่า จำเลยทั้งสามในฐานะผู้อาศัยจะต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดเพลิงไหม้แก่ห้องแถวของโจทก์หรือไม่
โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า โจทก์ให้จำเลยทั้งสามอยู่อาศัยในห้องแถวของโจทก์โดยไม่ต้องเสียค่าเช่า เพราะจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภรรยาจำเลยที่ 3 และเป็นมารดาจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ซึ่งเห็นได้ว่าการที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยทั้งสามอยู่อาศัยดังกล่าวมิใช่เป็นสิทธิอาศัย ทั้งมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่บริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 ไม่อาจนำบทบัญญัติบรรพ 4ลักษณะ 5 ว่าด้วยสิทธิอาศัยมาใช้บังคับให้จำเลยทั้งสามรับผิดต่อโจทก์ได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เป็นเจ้าของห้องแถว ๖ ห้อง จำเลยที่ ๑ เป็นผู้เยาว์ และเป็นบุตรของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จำเลยที่ ๒ เป็นลูกจ้างประจำของโจทก์ จำเลยที่ ๓ เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ ๒ จำเลยทั้งสามได้รับสิทธิอาศัยในห้องแถวเลขที่ ๑๗๒/๓๔ ดังกล่าวจากโจทก์ เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๒๕ เวลากลางคืนหลังเที่ยงห้องแถวดังกล่าวทั้ง ๖ ห้อง ถูกเพลิงไหม้เสียหายหมด เพราะความผิดของจำเลยทั้งสามในฐานะผู้ได้รับสิทธิอาศัย การกระทำของจำเลยที่ ๑เป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ ๑ เป็นผู้เยาว์อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชดใช้เงิน ๓๓๒,๓๘๗ บาทและดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน ๓๓๒,๓๘๗ บาทนับแต่วันละเมิดและผิดสิทธิอาศัยถึงฟ้องคิดเป็นเงิน ๒๔,๙๒๙ บาทรวมเป็นเงิน ๓๕๗,๓๑๖ บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน ๓๕๗,๓๑๖ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยทั้งสามได้อาศัยอยู่ในห้องแถวของโจทก์จริง เหตุเพลิงไหม้มิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสาม จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิด ค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องสูงเกินความเป็นจริง ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้ศาลล่างทั้งสองจะพิพากษายืนตามกันว่าเหตุเพลิงไหม้มิได้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ ๑ ผู้เยาว์ จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ เป็นบิดามารดาจึงไม่ต้องร่วมรับผิดฐานกระทำละเมิดต่อโจทก์ก็ตาม แต่คดีนี้นอกจากโจทก์จะฟ้องว่าจำเลยทั้งสามทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว โจทก์ยังได้บรรยายฟ้องด้วยว่า จำเลยทั้งสามทำผิดหน้าที่ผู้อาศัย เป็นเหตุให้ทรัพย์สินที่อาศัยเสียหาย คดีจึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยด้วยว่าจำเลยทั้งสามในฐานะผู้อาศัยจะต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดเพลิงไหม้แก่ห้องแถวของโจทก์หรือไม่ หากต้องรับผิดจะต้องรับผิดเพียงใดและคดีโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ ซึ่งประเด็นทั้งสามข้อดังกล่าว ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยมา แต่ศาลฎีกาเห็นว่าประเด็นพิพาททุกข้อดังกล่าวคู่ความได้นำสืบมาจนสิ้นกระแสความแล้ว จึงเห็นสมควรพิจารณาพิพากษาไปทีเดียว โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองพิพากษาใหม่ก่อนแต่อย่างใด
ประเด็นแรก จำเลยทั้งสามในฐานะผู้อาศัยจะต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดเพลิงไหม้แก่ห้องแถวของโจทก์หรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า โจทก์ให้จำเลยทั้งสามอยู่อาศัยในห้องแถวเลขที่ ๑๗๒/๓๔ ของโจทก์โดยไม่ต้องเสียค่าเช่า ทั้งนี้เพราะจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นภรรยาจำเลยที่ ๓ และเป็นมารดาจำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างของโจทก์ ซึ่งเห็นได้ว่าการที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยอยู่อาศัยดังกล่าวมิใช่เป็นสิทธิอาศัย ทั้งมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงไม่บริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๙ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติบรรพ ๔ ลักษณะ ๕ ว่าด้วยสิทธิอาศัยมาใช้บังคับให้จำเลยทั้งสามรับผิดต่อโจทก์ดังที่โจทก์ฎีกาได้ คดีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นอีกต่อไป ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน.