แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คำขอกู้เงินบำรุงอ้อยระบุว่า ขอกู้เงินเพื่อซื้อพันธุ์อ้อยและบำรุงไร่อ้อย เมื่ออ้อยโตขึ้นผู้กู้ตกลงตัดขายแก่ผู้ให้กู้เพื่อนำเงินค่าอ้อยชำระหนี้ที่ได้กู้เงินมา มิได้ระบุว่าผู้กู้จะต้องปลูกอ้อยเพื่อตัดขายให้แก่ผู้ให้กู้เมื่อใด จึงเป็นหนี้ที่มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้กันไว้ ส่วนวันถึงกำหนดชำระเงินตามเช็คที่โจทก์ออกให้แก่จำเลยในการกู้เงินก็มิใช่กำหนดเวลาชำระหนี้เงินกู้ โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ จำเลยไม่ชำระหนี้ภายในกำหนด จึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันที่พ้นกำหนดดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2536 จำเลยตกลงทำสัญญาขายอ้อยสดจำนวน 600 เมตริกตัน ให้โจทก์ และกู้เงินส่งเสริมบำรุงอ้อยจากโจทก์ 3 ครั้ง รวมเป็นเงิน 67,694 บาท แต่เมื่อหนี้ถึงกำหนด จำเลยชำระหนี้เป็นเงินสดและอ้อยสดบางส่วนรวมเป็นเงิน 46,113 บาท โจทก์หักชำระดอกเบี้ยได้เพียงบางส่วน จำเลยคงค้างชำระต้นเงิน 67,694 บาท โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันครบกำหนดชำระหนี้เงินกู้แต่ละครั้งถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 41,560.89 บาท โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 109,254,89 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 67,694 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับดอกเบี้ยจำนวน 41,560.89 บาท เคลือบคลุมเนื่องจากไม่บรรยายว่าคิดดอกเบี้ยอย่างไร กับโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลย เนื่องจากจำเลยกู้เงินโจทก์เพื่อลงทุนซื้อพันธุ์อ้อยและบำรุงอ้อยกับขายอ้อยให้โจทก์ภายหลัง สัญญาจึงไม่มีการคิดดอกเบี้ยต่อกัน เมื่อจำเลยชำระเงินสดและจำนวนอ้อยแล้วจึงค้างชำระต้นเงินเพียง 21,581 บาท และระหว่างวันที่ 16 มกราคม 2542 ถึงวันที่ 25 ธันวาคม 2544 จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์อีก 4 ครั้ง จึงไม่มีต้นเงินค้างชำระอีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 42,948 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 40,945.59 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 สิงหาคม 2545) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนี้ในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 1,581 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 เมษายน 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกาโดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า จำเลยกู้เงินโจทก์ 3 ครั้ง รวมเป็นเงิน 67,694 บาท ไม่มีข้อตกลงจะให้ดอกเบี้ยแก่กัน ตามคำขอกู้เงินบำรุงอ้อยเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.5 หลังจากทำสัญญา จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์หลายครั้ง รวมเป็นเงิน 66,113 บาท คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การกู้เงินตามคำขอกู้เงินบำรุงอ้อยทั้งสามครั้งมีกำหนดเวลาชำระหนี้กันไว้หรือไม่ และจำเลยต้องชำระหนี้แก่โจทก์เพียงใด โจทก์ฎีกาว่าคำขอกู้เงินบำรุงอ้อยครั้งแรกตามเอกสารหมาย จ.3 ระบุกำหนดชำระหนี้คืนวันที่ 6 สิงหาคม 2536 คำขอกู้เงินบำรุงอ้อยฉบับที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.4 กำหนดชำระหนี้คืนวันที่ 23 กันยายน 2536 คำขอกู้เงินบำรุงอ้อยฉบับที่ 3 ตามเอกสารหมาย จ.5 กำหนดชำรหนี้คืนวันที่ 4 พฤษภาคม 2538 หนี้ทั้งสามรายจึงเป็นหนี้ที่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ไว้แน่นอนตามวันแห่งปฏิทิน เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ภายในเวลาที่ได้กำหนดไว้ตามคำขอกู้เงินบำรุงอ้อยแต่ละฉบับ จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้เสร็จสิ้นนั้น เห็นว่า คำขอกู้เงินบำรุงอ้อยเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.5 มีข้อความระบุว่า ผู้กู้ประสงค์จะปลูกอ้อยเพื่อขายให้แก่ผู้ให้กู้แต่ขาดเงินที่จะซื้อพันธุ์อ้อยและบำรุงอ้อยจึงขอกู้เงินเพื่อซื้อพันธุ์อ้อยและบำรุงไร่อ้อย เมื่ออ้อยโตขึ้นผู้กู้ตกลงตัดขายแก่ผู้ให้กู้เพื่อนำเงินค่าอ้อยชำระหนี้ที่ได้กู้เงินมา ซึ่งเป็นการตกลงเรื่องวิธีการชำระหนี้โดยส่งมอบอ้อยแทนเงินและมิได้ระบุว่าผู้กู้จะต้องปลูกอ้อยเพื่อตัดขายให้แก่ผู้ให้กู้เมื่อใด หนี้เงินกู้ทั้งสามรายจึงเป็นหนี้ที่มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้กันไว้ ส่วนวันที่ที่โจทก์อ้างว่าเป็นกำหนดเวลาชำระหนี้คืนตามคำขอกู้เงินบำรุงอ้อยแต่ละฉบับนั้นหาใช่เป็นวันกำหนดชำระหนี้คืนดังที่โจทก์อ้างไม่ แต่เป็นวันถึงกำหนดชำระเงินตามเช็คเอกสารหมาย จ.6 ที่โจทก์ออกให้แก่จำเลยในการกู้เงินดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า หนี้ตามคำขอกู้เงินบำรุงอ้อยตามเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.5 มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้กันไว้ โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ จำเลยได้รับหนังสือของโจทก์แล้วเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2545 แต่ไม่ชำระหนี้จึงตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 14 เมษายน 2545 จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว 66,113 บาท คงเหลือต้นเงินค้างชำระแก่โจทก์จำนวน 1,581 บาท จำเลยจึงต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 14 เมษายน 2545 จนกว่าจะชำระเสร็จนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ