แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เป็นกฎหมายพิเศษการฟ้องบังคับตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นเรื่องที่กฎหมายมีวัตถุประสงค์ให้อำนาจเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่จะคุ้มครองประโยชน์และความปลอดภัยแก่ประชาชนเป็นสำคัญ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงฟ้องขอให้บังคับให้รื้อถอนได้เสมอหากอาคารที่ก่อสร้างโดยฝ่าฝืนกฎหมายยังคงอยู่กรณีไม่อาจนำบทบัญญัติเรื่องอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับได้ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 42 กำหนดว่าการก่อสร้างดัดแปลงอาคารโดยฝ่าฝืนกฎหมายในกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารดำเนินการรื้อถอนอาคารนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนได้ ดังนั้น โจทก์จึงฟ้องบังคับ จำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าของและจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ครอบครองอาคารพิพาทได้ อาคารพิพาทเป็นตึกแถว จึงอยู่ในบังคับของข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522ข้อ 76(4) ให้ต้องมีที่ว่างโดยปราศจากสิ่งปกคลุมไว้เป็นทางเดินหลังอาคารได้ถึงกันมีความกว้างไม่น้อยกว่า 2 เมตรการที่อาคารของจำเลยทุกห้องมีการดัดแปลงก่อสร้างต่อเติมเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กเต็มที่ว่างด้านหลังอาคารทุกชั้นรวมทั้งการต่อเติมอีก 2 ชั้น ดังกล่าวย่อมเห็นได้โดยสภาพว่าไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครฯ ดังกล่าวได้ นอกจากจะรื้อถอนส่วนที่ดัดแปลงก่อสร้างต่อเติมดังกล่าวออกไป การที่โจทก์สั่งให้จำเลยที่ 2ถึงที่ 5 รื้อถอนโดยไม่สั่งให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงจึงชอบแล้ว
ย่อยาว
คดีนี้ทั้งสามสำนวน ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยกำหนดให้เรียกจำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3เรียกจำเลยในสำนวนที่สองว่าจำเลยที่ 4 และเรียกจำเลยในสำนวนที่สามว่า จำเลยที่ 5
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รื้อถอนอาคารพิพาทเลขที่ 174 จำเลยที่ 4รื้อถอนอาคารพิพาทเลขที่ 180 และจำเลยที่ 5 รื้อถอนอาคารพิพาทเลขที่ 176 และเลขที่ 178 ถนนสวนมะลิ 1 (มหาจักร)แขวงวัดเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย (สามยอด)กรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 15116, 15113,15114 และ 15115 กรุงเทพมหานคร โดยให้รื้อถอนชั้น 5 และชั้น 6ของอาคารพิพาท กับให้รื้อถอนอาคารพิพาทส่วนที่ก่อสร้างต่อเติมปกคลุมด้านหลังตึกแถวพิพาทชั้นที่ 1 ถึงชั้นที่ 6 ออกให้เว้นเป็นช่องว่างปราศจากสิ่งปกคลุมมีความกว้าง 2 เมตร หากจำเลยทั้งห้าไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการรื้อถอนอาคารพิพาทได้เอง โดยให้จำเลยทั้งห้าเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายตามส่วน
ระหว่างพิจารณา ก่อนจำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การ โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยทั้งสามสำนวนให้การว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มิได้เป็นผู้ก่อสร้างอาคารพิพาทและไม่เคยได้รับคำสั่งจากโจทก์ให้รื้อถอนอาคารพิพาท โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เมื่อพ้นกำหนด10 ปี นับแต่วันที่โจทก์ตรวจพบการก่อสร้างอาคารพิพาทผิดไปจากแบบแปลนและแผนผังบริเวณ คดีโจทก์จึงขาดอายุความตึกแถวพิพาทยังอยู่ในวิสัยที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขแบบแปลนให้ถูกต้องได้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงไม่จำต้องรื้อถอนตึกแถวพิพาทส่วนที่ต่อเติม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันรื้อถอนอาคารพิพาทเลขที่ 174 ถนนสวนมะลิ 1 แขวงวัดเทพศิรินทร์เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ให้จำเลยที่ 4 รื้อถอนอาคารพิพาทเลขที่ 180 ถนนสวนมะลิ 1 แขวงวัดเทพศิรินทร์เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ให้จำเลยที่ 5 รื้อถอนอาคารพิพาทเลขที่ 176 และเลขที่ 178 ถนนสวนมะลิ 1แขวงวัดเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานครเฉพาะส่วนที่ก่อสร้างผิดไปจากแบบแปลนและแผนผังบริเวณตามที่ได้รับอนุญาต โดยให้รื้อถอนอาคารพิพาทชั้นที่ 5 และชั้นที่ 6ของแต่ละอาคารออกไป กับให้รื้อถอนส่วนที่ก่อสร้างต่อเติมด้านหลังอาคารพิพาททั้ง 6 ชั้น ของแต่ละอาคารออกไปโดยเว้นด้านหลังอาคารพิพาทแต่ละอาคารเป็นที่ว่าง ปราศจากสิ่งปกคลุมมีความกว้างเป็นระยะ 2 เมตร หากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่ยอมรื้อถอนให้โจทก์รื้อถอนเองได้ โดยให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนตามส่วนที่แต่ละคนจะต้องรับผิดในการรื้อถอน
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับกันฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อาคารพิพาทเลขที่ 174 โดยซื้อมาจากบุคคลอื่นเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2525 และมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ครอบครองอาคารจำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อาคารพิพาทเลขที่ 180 โดยซื้อมาจากบุคคลอื่นเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2525 และจำเลยที่ 5 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อาคารพิพาทเลขที่ 176 และ 178 โดยซื้อมาจากบุคคลอื่นเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2525 อาคารพิพาททั้ง 4 ห้องเป็นตึกแถวติดต่อกันตั้งอยู่ถนนสวนมะลิ 1 (มหาจักร) แขวงวัดเทพศิรินทร์เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย (สามยอด) กรุงเทพมหานคร เดิมนายสุวรรณ วาณิชย์สถาพร เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างเป็นอาคารพาณิชย์ตึกแถว 4 ชั้น แต่ได้มีการดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาตคือก่อสร้างเพิ่มเติมเป็น 6 ชั้น และต่อเติมด้านหลังเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กปิดทางเดินด้านหลังอาคารทั้งหมดทุกห้องจนเต็มพื้นที่โดยไม่เว้นที่ว่างด้านหลังปราศจากสิ่งปกคลุมไว้เป็นทางเดินมีความกว้างไม่น้อยกว่า 2 เมตร ซึ่งโจทก์ได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 รื้อถอนอาคารที่ดัดแปลงต่อเติมดังกล่าว แต่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง คงมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ดังต่อไปนี้
ประเด็นข้อแรก จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ฎีกาทำนองเดียวกันว่าการฟ้องคดีเรื่องดัดแปลงต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กฎหมายไม่ได้กำหนดอายุความไว้ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จำเลยที่ 2 รับโอนกรรมสิทธิ์อาคารพิพาทเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2525 จำเลยที่ 4 และที่ 5รับโอนกรรมสิทธิ์อาคารพิพาทมาเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2525 และโจทก์ทราบเรื่องการดัดแปลงอาคารพิพาทก่อนวันที่ 30 ธันวาคม 2525แต่โจทก์มาฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2535 และฟ้องจำเลยที่ 4 และที่ 5 เมื่อวันที่ 25 และ 29 ธันวาคม 2535 ตามลำดับ ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เป็นกฎหมายพิเศษการฟ้องบังคับตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นเรื่องที่กฎหมายมีวัตถุประสงค์ให้อำนาจเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่จะคุ้มครองประโยชน์และความปลอดภัยแก่ประชาชนเป็นสำคัญ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงฟ้องขอให้บังคับรื้อถอนได้เสมอ หากอาคารที่ก่อสร้างโดยฝ่าฝืนกฎหมายยังคงอยู่ กรณีไม่อาจนำบทบัญญัติเรื่องอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับได้ฎีกาของจำเลยที่ 2ถึงที่ 5 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ประเด็นข้อที่สอง จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า การก่อสร้างอาคารพิพาททนายสุวรรณเป็นผู้ก่อสร้าง จำเลยที่ 2 และที่ 3ไม่มีส่วนรู้เห็นในการก่อสร้าง จึงไม่ต้องรับภาระเป็นผู้รื้อถอนตามฟ้องนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 42 กำหนดว่าการก่อสร้างดัดแปลงอาคารโดยฝ่าฝืนกฎหมายในกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารดำเนินการรื้อถอนอาคารนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนได้ ดังนั้นโจทก์จึงฟ้องบังคับจำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าของและจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ครอบครองอาคารพิพาทได้ ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ประเด็นข้อที่สาม จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า ไม่ทราบคำสั่งให้รื้ออาคารพิพาทส่วนที่ดัดแปลงต่อเติม เห็นว่า การแจ้งคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นนั้น ตามมาตรา 47 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กำหนดให้ทำเป็นหนังสือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับให้ผู้ซึ่งจะต้องรับคำสั่งดังกล่าว ณ ภูมิลำเนาของผู้นั้น และให้ปิดประกาศคำสั่งดังกล่าวไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ อาคารหรือบริเวณที่มีการกระทำดังกล่าว และให้ถือว่าผู้ซึ่งจะต้องรับคำสั่งได้ทราบคำสั่งนั้นแล้วเมื่อพ้นกำหนดสามวันนับแต่วันที่ได้มีการปิดประกาศดังกล่าวเรื่องนี้ได้ความจากนายนิพนธ์ หาญพันธุ์บุษกร พยานโจทก์ว่าได้ดำเนินการแจ้งคำสั่งให้รื้อถอนอาคารส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้วแต่ไม่มีผู้รับ ปรากฏตามใบแจ้งผลการไต่สวนเอกสารหมาย จ.13 จึงได้นำคำสั่งดังกล่าวไปปิดไว้ที่อาคารพิพาทเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2530 และวันที่ 2 เมษายน 2530โดยมีเจ้าพนักงานตำรวจไปเป็นพยานด้วย ปรากฏตามสำเนาคำสั่งเอกสารหมาย จ.15 และ จ.16 จำเลยที่ 2 และที่ 3 เพียงแต่นำสืบปฏิเสธลอย ๆ ว่าไม่เคยได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งและไม่มีเจ้าหน้าที่ไปปิดประกาศที่อาคารพิพาท จึงไม่น่ารับฟัง เชื่อว่าโจทก์ได้ดำเนินการแจ้งคำสั่งให้รื้อถอนอาคารตามที่กฎหมายกำหนดโดยชอบแล้วจึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทราบคำสั่งดังกล่าวแล้วตามมาตรา 47 ทวิ ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
ประเด็นข้อสุดท้าย จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ฎีกาว่า อาคารพิพาทส่วนที่ก่อสร้างต่อเติมสามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ โจทก์จึงสั่งให้รื้อถอนโดยไม่สั่งให้ดำเนินการแก้ไขก่อนไม่ได้ เรื่องนี้ข้อเท็จจริงรับกันว่าอาคารพิพาทของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5ทั้ง 4 ห้องอยู่ติดต่อกันได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างเป็นอาคารตึกแถว 4 ชั้น แต่ได้มีการดัดแปลงต่อเติมเป็นอาคาร 6 ชั้นและยังดัดแปลงต่อเติมด้านหลังเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กเต็มพื้นที่ด้านหลังทั้ง 6 ชั้น โดยไม่ได้กันที่ว่างด้านหลังอาคารปราศจากสิ่งปกคลุมไว้เป็นทางเดิน มีความกว้างไม่น้อยกว่า2 เมตรตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคารพ.ศ. 2522 โจทก์เห็นว่าเป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องจึงมีคำสั่งให้รื้อถอน เห็นว่า อาคารพิพาทเป็นตึกแถวจึงอยู่ในบังคับของข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคารพ.ศ. 2522 ข้อ 76(4) ให้ต้องมีที่ว่างโดยปราศจากสิ่งปกคลุมไว้เป็นทางเดินหลังอาคารได้ถึงกันมีความกว้างไม่น้อยกว่า 2 เมตรการที่อาคารของจำเลยทุกห้องมีการดัดแปลงก่อสร้างต่อเติมเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กเต็มที่ว่างด้านหลังอาคารทุกชั้นรวมทั้งการต่อเติมอีก 2 ชั้นดังกล่าวย่อมเห็นได้โดยสภาพว่าไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ได้ นอกจากจะรื้อถอนส่วนที่ดัดแปลงก่อสร้างต่อเติมดังกล่าวออกไป การที่โจทก์สั่งให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 รื้อถอน โดยไม่สั่งให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ฟังไม่ขึ้นทุกข้อ
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความให้สำนวนละ 8,000 บาทนั้น เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ การกำหนดค่าทนายความในอัตราดังกล่าวจึงเกินกว่าตาราง 6 อัตราค่าทนายความท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เห็นควรกำหนดให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ใช้ค่าทนายความแทนโจทก์ในศาลชั้นต้น สำนวนละ 3,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ต่างใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาสำนวนละ 1,000 บาท แทนโจทก์