คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ขณะจำเลยทำสัญญาขายไม้ไข่เขียวให้แก่โจทก์ร่วมจำเลยจะไม่ใช่ผู้รับสัมปทานทำไม้ในอ่างเก็บน้ำป่าพยอมโดยตรงตามที่อ้างต่อโจทก์ร่วมก็ตาม แต่จำเลยก็ได้เข้าทำไม้และทำสัญญาซื้อไม่ไข่เขียวจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ไว้พอที่จะขายให้แก่โจทก์ร่วมตามจำนวนที่โจทก์ร่วมตกลงซื้อไว้แล้ว ดังนั้น การที่จำเลยตกลงทำสัญญาขายไม้ไข่เขียวให้โจทก์ร่วม รับเงินค่าไม้ไปจากโจทก์ร่วมและส่งไม้ให้โจทก์ร่วมเพียง 2 ครั้ง ไม่ครบถ้วนตามสัญญาจึงเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง มิใช่เป็นการทุจริตหลอกลวงโจทก์ร่วมด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่โจทก์ร่วมอันจะเป็นความผิดฐานฉ้อโกง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 365,400 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฎิเสธ
ระหว่างนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น นายไล่ กาญจนไพโรจน์ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์โดยอธิบดีอัยการเขต 9 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2535 จำเลยตกลงขายไม้ไข่เขียวปริมาณ 600 ลูกบาศก์ฟุต ราคารวม 365,400 บาท ให้แก่นายไล่ กาญจนไพโรจน์ โจทก์ร่วม จำเลยขอเบิกเงินค่าไม้ล่วงหน้าเพื่อนำไปจ่ายเป็นค่าภาคหลวง และจำเลยตกลงว่าจะส่งไม้ไข่เขียวจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วมในภายหลัง ในวันนั้นเองจำเลยได้รับเช็คของนางสาวกาญจนา สุนทรัตน์ จำนวนเงิน 350,000 บาทจากโจทก์ร่วม เพื่อเป็นการชำระค่าไม้และเช็คฉบับดังกล่าวเรียกเก็บเงินได้ จำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกันการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์ร่วมกับนางสาวกาญจนา และจำเลยได้สั่งจ่ายเช็คของธนาคารมหานคร จำกัด สาขาหาดใหญ่ ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2535สั่งจ่ายเงินจำนวน 350,000 บาท 1 ฉบับ ให้แก่โจทก์ร่วมเพื่อค้ำประกันการที่จำเลยเบิกเงินล่วงหน้าค่าไม้จากโจทก์ร่วม ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ที่โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกาว่า ขณะที่จำเลยทำสัญญาจะขายไม้แก่โจทก์ร่วมก็ดี ภายหลังทำสัญญาแล้วก็ดี จำเลยไม่มีไม้ที่จะส่งให้แก่โจทก์ร่วม การที่จำเลยนำภาพถ่ายไม้ซุงมาให้พยานโจทก์ดู อ้างว่าจำเลยได้รับสัมปทานพร้อมที่จะมีไม้ส่งให้แก่โจทก์ร่วมนั้น เป็นการหลอกลวงแต่แรก เพราะจำเลยไม่สามารถส่งไม้ให้แก่โจทก์ร่วมได้ ที่จำเลยส่งไม้ให้แก่โจทก์ร่วมคิดเป็นเงินเพียง 50,000 บาทเศษ นั้น จำเลยกระทำพอเป็นพิธีเพื่อหลอกลวงโจทก์ร่วมเท่านั้น คดีนี้โจทก์มีตัวโจทก์ร่วมมาเบิกความยืนยันว่าเมื่อประมาณปี 2535 โจทก์ร่วมได้ทำสัญญารับจ้างก่อสร้างอาคารเรียน1 หลัง ให้แก่โรงเรียนแห่งหนึ่ง มีนางสาวกาญจนา สุนทรัตน์เป็นเจ้าของ และมีนายสุทัศน์ สุนทรัตน์ เป็นผู้อำนวยการในการก่อสร้างอาคารเรียนดังกล่าวโจทก์ร่วมต้องการใช้ไม้ไข่เขียวเป็นไม้แบบนั่งร้าน เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2535 โจทก์ร่วมพบจำเลย นายสุทัศน์ นางสาวกาญจนา และนายประยูร ล่อใจ ที่บ้านนายสุทัศน์ จำเลยอ้างว่าได้รับสัมปทานทำไม้ที่จังหวัดพัทลุงสามารถขายไม้ประมาณ 600 ลูกบาศก์ฟุต ให้แก่โจทก์ร่วมได้ โจทก์ร่วมตกลงจะซื้อไม้ไข่เขียวจากจำเลยในราคา 365,400 บาท จำเลยว่าต้องการรับเงินจากโจทก์ร่วมก่อนเพื่อนำเงินไปชำระค่าภาคหลวงในการทำไม้สัมปทาน โจทก์ร่วมจึงขอกู้เงินจากนางสาวกาญจนา และนางสาวกาญจนาสั่งจ่ายเช็คจำนวนเงิน 350,000 บาท ให้แก่โจทก์ร่วมและโจทก์ร่วมได้มอบเช็คฉบับดังกล่าวให้จำเลยและจำเลยได้ออกเช็คของจำเลย 1 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.2 สั่งจ่ายเงิน 350,000 บาทมอบให้แก่โจทก์ร่วมไว้ หากจำเลยไม่สามารถส่งไม้ให้แก่โจทก์ร่วมได้ก็ให้โจทก์ร่วมนำเช็คฉบับดังกล่าวไปขึ้นเงินได้ ต่อมาจำเลยส่งไม้ไข่เขียวให้โจทก์ร่วมเพียง 2 ครั้ง คิดเป็นเงินประมาณ50,000 บาท ส่วนไม้ที่เหลือจำเลยไม่ยอมส่งให้โจทก์ร่วม และโจทก์มีนายสุทัศน์ สุนทรัตน์ เป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่าจำเลยนำภาพไม้ซุงที่จำเลยอ้างว่าได้รับสัมปทานมาให้พยานและนายประยูรดูจำเลยอ้างว่าได้ถ่ายมาจากป่าไม้ที่จำเลยรับสัมปทาน ภายหลังที่จำเลยขายไม้ไข่เขียวให้แก่โจทก์ร่วมแล้วพยานและนายประยูรได้เดินทางไปดูไม้ที่จำเลยรับสัมปทาน ไม่พบจำเลย ส่วนนายประยูร ล่อใจ พยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความว่าภายหลังที่จำเลยทำสัญญาขายไม้ให้แก่โจทก์ร่วมแล้ว พยานนายสุทัศน์และพวกไปดูไม้ที่จำเลยได้รับสัมปทานที่ป่าพยอมพบมีไม้กองอยู่และได้ไปที่โรงเลื่อยที่อำเภอชะอวด แต่ไม่พบจำเลย ได้ความจากโรงเลื่อยดังกล่าวว่าจำเลยเคยมาติดต่อให้เลื่อยไม้และไม้ของจำเลยมีเพียงประมาณ 10 ท่อน และมีขนาดเล็กฝ่ายจำเลยมีตัวจำเลยเบิกความต่อสู้ว่า เกี่ยวกับการทำไม้ที่อ่างเก็บน้ำป่าพยอมในครั้งแรก องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ได้จ้างนายเอียงคิ้ม แซ่เฮ้ง นายประพันธ์ ชุมศรี และนายเสริม สิทธิการเป็นผู้รับจ้างทำไม้ ภายหลังบุคคลทั้งสามทิ้งงาน จึงมอบอำนาจให้จำเลยทำไม้แทน ตามใบเสร็จรับเงินและหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ล.3 ถึง ล.5 จำเลยตรวจสอบทะเบียนไม้ทราบว่ามีไม้ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้และมีไม้ไข่เขียวรวมอยู่ 133 ต้น คิดปริมาตร91.36 ลูกบาศก์เมตร สามารถแปรรูปได้ไม้ประมาณ 3,000 ลูกบาศก์ฟุตเมื่อจำเลยมั่นใจว่ามีไม้อยู่ในความดูแลจึงเสนอขายไม้ให้แก่โจทก์ร่วมเป็นไม้ไข่เขียว ขายลักษณะไม้แปรรูป จำเลยเรียกเก็บเงินค่าซื้อไม้ล่วงหน้าจากโจทก์ร่วม และจำเลยส่งไม้ให้โจทก์ร่วม 2 ครั้ง ครั้งละ 1 คันรถตามใบส่งของเอกสารหมาย จ.3และ จ.4 ภายหลังโจทก์ร่วมแจ้งว่าจำเลยจะส่งไม้ไม่ทันการก่อสร้างขอระงับการส่งและคิดยอดหนี้และขอเงินคืน และจำเลยมีนายพีระพงษ์ เรืองรัตน์ ผู้จัดการอุตสาหกรรมป่าไม้เขตหาดใหญ่จังหวัดสงขลา เป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า ในการทำไม้ที่อ่างเก็บน้ำป่าพยอมครั้งแรกองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ได้รับอนุญาตให้ตัดไม้ออกจากบริเวณอ่างเก็บน้ำดังกล่าว จึงจ้างให้นายเอียงคิ้ม นายประพันธ์ และนายเสริม เป็นผู้รับจ้างทำไม้ต่อมาบุคคลทั้งสามได้มอบอำนาจให้จำเลยทำไม้แทน ประเภทไม้บริเวณอ่างเก็บน้ำดังกล่าวปรากฎตามบัญชีเอกสารหมาย ล.6 ไม้ที่ตัดดังกล่าวจำเลยขอซื้อและองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ได้ตกลงขายให้จำเลยตามสำเนาบันทึกในแฟ้มเอกสารหมาย ป.ล.1 เห็นว่า เมื่อพิจารณาใบเสร็จรับเงินขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ตามเอกสารหมายป.ล.1 ที่ได้รับเงินมัดจำจากจำเลยในการทำไม้ออกจากอ่างเก็บน้ำป่าพยอมงวดที่ 2 จังหวัดพัทลุง จำนวน 426 ท่อน ปริมาตร431.98 ลูกบาศก์เมตร เป็นเงิน 30,000 บาท ประกอบหนังสือให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจวัดประทับตรา รข.ไม้ที่ทำออกจากอ่างเก็บน้ำป่าพยอม กับบัญชีตรวจวัดประทับตรา รข.ไม้ จำนวน 245 ต้น426 ท่อน ปริมาตร 431.98 ลูกบาศก์เมตร เอกสารหมาย ป.ล.2 แล้วแสดงว่าจำเลยตกลงซื้อไม้จำนวน 426 ท่อน ปริมาตร 431.98ลูกบาศก์เมตร จากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้และวางเงินมัดจำไว้จำนวน 30,000 บาท เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2535 จริง และตามบัญชีตรวจวัดประทับตรา รข. ไม้จำนวนดังกล่าวมีไม้ไข่เขียวรวมอยู่ด้วยซึ่งความในข้อนี้จำเลยเบิกความยืนยันว่า ตามบัญชีไม้ที่สามารถนำไปใช้ได้จำนวน 2,588 ต้น นั้น มีไม้ไข่เขียวรวมอยู่ด้วยถึง133 ตัน คิดเป็นปริมาตร 91.36 ลูกบาศก์เมตร สามารถนำมาแปรรูปได้ประมาณ 3,000 ลูกบาศก์ฟุต แสดงให้เห็นชัดแจ้งว่า ในขณะที่จำเลยตกลงขายไม้ไข่เขียวให้แก่โจทก์ร่วมเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม2535 นั้น จำเลยได้วางเงินมัดจำการซื้อไม้จากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้จำนวนไม้ 426 ท่อน ปริมาตร 431.98 ลูกบาศก์เมตร เป็นจำนวน 30,000 บาท และมีไม้ไข่เขียวรวมอยู่ด้วย ซึ่งจำเลยคาดหมายได้ว่าจำเลยมีไม้ประเภทดังกล่าวเพียงพอที่จะขายให้แก่โจทก์ร่วมปริมาตร 600 ลูกบาศก์ฟุต ได้อยู่แล้ว เช่นนี้การที่จำเลยตกลงทำสัญญาขายไม้ไข่เขียวจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วมและขอรับเงินจากโจทก์ร่วมจำนวน 350,000 บาท นั้น จึงมิใช่เป็นการทุจริตหลอกลวงโจทก์ร่วมด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่โจทก์ร่วม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 เพราะขณะจำเลยทำสัญญาขายไม้ไข่เขียวให้แก่โจทก์ร่วมแม้จำเลยจะไม่ใช่ผู้รับสัมปทานทำไม้ในอ่างเก็บน้ำป่าพยอมโดยตรงแต่จำเลยก็ได้เข้าทำไม้และทำสัญญาซื้อไม้ไข่เขียวจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ไว้พอที่จะขายให้แก่โจทก์ร่วม ตามที่โจทก์ร่วมตกลงซื้อไว้แล้ว ส่วนการที่จำเลยส่งไม้ให้โจทก์ร่วมเพียง 2 ครั้งยังไม่ครบถ้วนตามสัญญา กรณีน่าจะเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งมากกว่า การกระทำของจำเลยจึงหาเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้องไม่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share