แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ก่อนที่จะทำบันทึกการขอทดลองใช้ท่าเพื่อลดความคับคั่งจำเลยเคยมีหนังสือร้องขอโจทก์หลังจากนั้นมีการประชุมร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่บริหารของโจทก์และจำเลยเพื่อตกลงในรายละเอียดที่ประชุมเห็นพ้องร่วมกันกับข้อความในร่างบันทึกดังกล่าวและกำหนดแนวทางปฏิบัติโดยให้เริ่มตั้งแต่วันที่14ตุลาคม2531บันทึกดังกล่าวก็ลงวันที่14ตุลาคม2531เช่นเดียวกันกับมีข้อความเหมือนกับร่างบันทึกดังกล่าวทุกประการแสดงว่าคู่กรณีต่างมีเจตนาตรงกันจึงได้ทำความตกลงตามข้อความในบันทึกดังกล่าวบันทึกดังกล่าวจึงใช้บังคับได้ส่วนการที่มีเพียงจำเลยฝ่ายเดียวลงชื่อในบันทึกหาทำให้ข้อตกลงตามบันทึกใช้บังคับไม่ได้ไม่เพราะเงื่อนไขและข้อตกลงในบันทึกเป็นการต่างตอบแทนซึ่งกันและกันเมื่อฝ่ายโจทก์ได้จัดให้จำเลยใช้ท่าเรือดังที่ระบุไว้ในบันทึกแล้วจำเลยย่อมต้องผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในบันทึกนั้นแม้โจทก์จะมิได้ลงชื่อในบันทึกก็ตามสัญญาต่างตอบแทนระหว่างโจทก์จำเลยในกรณีนี้เกิดขึ้นแล้วเพราะเป็นที่แน่ชัดว่าทั้งโจทก์จำเลยได้ตกลงกันในสาระสำคัญหมดทุกข้อถือว่ามีสัญญาต่อกันแล้วหาได้มีกรณีเป็นที่สงสัยดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา366ไม่ การชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยหมายถึงลูกหนี้ไม่อาจปฏิบัติการชำระหนี้ได้เลยแต่ในกรณีของจำเลยปรากฏว่ามีบริษัทอื่นสามารถขนถ่ายสินค้าได้ตามจำนวนที่ตกลงกันไว้จึงหาใช่กรณีที่ไม่อาจปฏิบัติได้อันเป็นการพ้นวิสัยไม่ความสามารถในการขนถ่ายตู้สินค้าขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของกลุ่มเรือแต่ละกลุ่มเมื่อจำเลยไม่สามารถขนถ่ายตู้สินค้าได้ตามจำนวนที่กำหนดไว้โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเงินชดเชยการใช้ท่าจากจำเลยได้ตามข้อตกลงในบันทึกการขอทดลองใช้ท่าเพื่อลดความคับคั่ง ตามบันทึกการขอทดลองใช้ท่าเพื่อลดความคับคั่วข้อ4.1ระบุว่าหากจำเลยขนถ่ายตู้สินค้าเข้า-ออกได้ไม่เท่าจำนวนปีละ144,000ทีอียูจำเลยจะต้องจ่ายเงินชดเชยการใช้ท่าให้แก่โจทก์โดยคิดเมื่อครบรอบ1ปีหรือเมื่อโจทก์มีคำสั่งยกเลิกการใช้ท่าเพราะเห็นว่าจำเลยไม่อาจปฏิบัติตามข้อตกลงต่อไปได้และข้อ4.3ระบุว่าหากจำเลยประสงค์จะเลิกการใช้ท่าให้แจ้งแก่โจทก์ทราบเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้า3วันและหากขนถ่ายตู้สินค้าไม่ได้ตามเกณฑ์ในข้อ4.1ให้คิดเงินชดเชยโดยถือวันสุดท้ายที่เรือของจำเลยออกจากท่าเป็นวันรวมเวลาคำนวณจำนวนตู้ตามบันทึกดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่มิได้กำหนดเงื่อนเวลาสิ้นสุดไว้ข้อตกลงจะสิ้นสุดลงต่อเมื่อได้มีการบอกเลิกของคู่กรณีดังที่กำหนดไว้ส่วนระยะเวลา1ปีที่ระบุไว้ในข้อ4.1เป็นเพียงการกำหนดให้มีการคิดเงินชดเชยกันเมื่อครบรอบ1ปีแล้วเท่านั้นหาใช่เงื่อนเวลาสิ้นสุดของข้อตกลงตามบันทึกไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำบันทึกการทดลองขอใช้ท่าเพื่อลดความคับคั่วกับโจทก์ โดยตกลงว่าจำเลยต้องดำเนินการขนถ่ายตู้สินค้า เข้า-ออกจำนวนท่าละ 12,000 ตู้ ต่อเดือนหรือปีละ144,000 คู่ หากทำไม่ได้จำเลยต้องจ่ายเงินชดเชยการใช้ท่าให้โจทก์ในตู้สินค้าส่วนที่ขาดตู้ละ 250 บาท โดยคิดเมื่อครบรอบ1 ปี หรือเมื่อโจทก์มีคำสั่งยกเลิกการใช้ท่าเพราะเห็นว่าจำเลยไม่อาจปฏิบัติตามข้อตกลงต่อไปได้ โจทก์มอบท่าเรือหมายเลข 20 ซีให้จำเลยใช้ขนถ่ายสินค้าตลอดมา แต่จำเลยขนถ่ายสินค้าได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ต่อมาจำเลยและกลุ่มตัวแทนเรือหลายบริษัทที่ทำข้อตกลงใช้ท่าเรือกับโจทก์ได้ร้องขอลดจำนวนตู้กำหนดไว้เดิมจาก144,000 ตู้ ต่อปี เป็นถือจำนวนตู้ที่ผ่านท่าโจทก์จริงในปีงบประมาณ2532 เฉลี่ยด้วยท่าทั้ง 8 ท่า แต่จำเลยยังขนถ่ายสินค้าเข้าออกท่าเรือของโจทก์ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ตกลง โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญากับจำเลยขอให้บังคับจำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า บันทึกการขอทดลองใช้ท่าเพื่อลดความคับคั่งจำเลยลงชื่อเพียงฝ่ายเดียว หากดำเนินการแล้วเป็นที่พอใจกันทั้งสองฝ่ายจึงจะทำสัญญาลงชื่อทั้งสองฝ่ายต่อไป และมิได้มีการตกลงกันหมดทุกข้อ ยังไม่ถือว่ามีสัญญาต่อกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 โจทก์จึงจะอ้างว่าจำเลยผิดสัญญาเรียกเอาเงินชดเชยการใช้ท่าพร้อมดอกเบี้ยหาได้ไม่ แม้หากแปลงบันทึกดังกล่าวใช้บังคับได้ ก็ปรากฏว่าหลังจากจำเลยได้ทำบันทึกดังกล่าวแล้วเศรษฐกิจซบเซาลง มีเรือสินค้าเข้าออกประเทศไทยลดลงมาก ปัญหาความคับคั่งที่ท่าเรือคลองเตยของโจทก์ก็หมดไป การที่จำเลยไม่สามารถขนถ่ายตู้สินค้าได้ตามที่กำหนดจึงเป็นเรื่องพ้นวิสัย มิใช่ความผิดของจำเลย และไม่ทำให้โจทก์ต้องเสียหายโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินชดเชยจากจำเลย อย่างไรก็ดีบันทึกดังกล่าวมีกำหนดเวลา 1 ปี โจทก์จึงไม่อาจเรียกเงินชดเชยในส่วนหลังจากครบ 1 ปี อีกทั้งเงินชดเชยที่ระบุให้จำเลยชดใช้แก่โจทก์นั้น เป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้ามีลักษณะเป็นเบี้ยปรับซึ่งสูงเกินส่วน หากศาลเห็นว่าจำเลยต้องรับผิด ก็ขอให้ลดเบี้ยปรับแก่จำเลยด้วย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติว่า เมื่อกลางปี2531 โจทก์มีปัญหาเกี่ยวกับความแออัดของเรือขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือ ทำให้เรือต้องรอเพื่อทำการขนถ่ายสินค้าเป็นเวลานานซึ่งเรือดังกล่าวได้คิดค่าธรรมเนียมรอการขนถ่ายสินค้าอันเป็นผลกระทบต่อผู้ส่งออกและนำเข้าสินค้า ทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้นรัฐบาลจึงมีนโยบายให้โจทก์ทำการแก้ไข โจทก์ได้หารือกับบริษัทตัวแทนเรือและวางนโยบายจัดให้เรือเข้าเทียบท่าได้ก่อนโดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องขนถ่ายสินค้าได้ไม่ต่ำกว่าจำนวนตู้สินค้า(ทีอียู) ที่กำหนด และไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมแออัดจากผู้นำเข้าหรือส่งออกสินค้า เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2531 จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ขอสิทธิในการให้เรือคอนเทนเนอร์ได้เทียบท่าก่อนโดยจำเลยจะไม่เก็บค่าแออัดจากผู้นำเข้าและผู้ส่งออก ตามเอกสารหมาย จ.1และต่อมาวันที่ 4 ตุลาคม 2531 จำเลยได้ทำหนังสือถึงโจทก์ยืนยันขอใช้ท่าเรือร่วมกับบริษัทสยามคอนทรานส์ จำกัดโดยสามารถจะขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ได้จำนวน 144,000 ตู้ต่อปีต่อหนึ่งท่า ตามเอกสารหมาย จ.2 โจทก์จึงได้จัดประชุมตัวแทนเรือที่ขอใช้ท่าเพื่อลดความคับคั่วเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2531 และได้ข้อยุติตามรายงานผลการประชุมเอกสารหมาย จ.4 ต่อมาวันที่ 14 ตุลาคม 2531 จำเลยได้ทำบันทึกการทดลองใช้ท่าเพื่อลดความคับคั่งกับโจทก์ โดยใช้ท่าเรือหมายเลข 20 ซีเพื่อขนถ่ายสินค้า ตกลงว่าต้องดำเนินการขนถ่ายสินค้าเข้าออกจำนวน 12,000 ตู้ ต่อเดือนหรือปีละ 144,000 ตู้ หากทำไม่ได้จำเลยต้องจ่ายเงินชดเชยการใช้ท่าให้โจทก์สำหรับตู้สินค้าส่วนที่ขาดตู้ละ 250 บาท โดยคิดเมื่อครบรอบ 1 ปี หรือเมื่อโจทก์มีคำสั่งยกเลิกการใช้ท่าเพราะเห็นว่าจำเลยไม่อาจปฏิบัติตามข้อตกลงต่อไปได้ตามบันทึกเอกสารหมาย จ.6 (ล.2) จำเลยได้ขนถ่ายสินค้านับตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2531 เป็นต้นมาปรากฏว่าจำเลยและตัวแทนเรือที่ทำบันทึกการทดลองใช้ท่าเพื่อลดความคับคั่ง ส่วนใหญ่ขนถ่ายสินค้าได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ตกลง ตัวแทนเรือดังกล่าวและจำเลยได้ทำหนังสือขอลดจำนวนตู้ที่กำหนดไว้ตามบันทึกลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2533โจทก์จึงได้จัดประชุมระหว่างโจทก์ จำเลยและตัวแทนเรือดังกล่าวเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2533 และมีการตกลงลดจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ลงเหลือ 113,100 ตู้ ดังรายละเอียดในเอกสารหมาย จ.11 (ล.7) แต่จำเลยก็ยังขนถ่ายสินค้าเข้าออกท่าเรือของโจทก์ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ตกลง โจทก์จึงมีหนังสือลงวันที่27 เมษายน 2533 แจ้งยกเลิกการใช้ท่าเรือต่อจำเลย โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2533 ตามเอกสารหมาย จ.14ปรากฏว่าในช่วงตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2531 ถึงวันที่13 ตุลาคม 2532 จำเลยถ่ายสินค้าได้จำนวน 61,443 ตู้เมื่อหักลดหย่อนจำนวนวันที่ปิดท่าเรือแล้วต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดจำนวน 37,517 ตู้ ต้องข่ายเงินชดเชยตู้ละ 250 บาทเป็นเงิน 9,379,250 บาทและช่วงวันที่ 14 ตุลาคม 2532ถึงวันที่ 30 เมษายน 2533 รวม 199 วันจำเลยขนถ่ายสินค้าได้26,575 ตู้ เมื่อหักลดหย่อนจำนวนวันที่ปิดท่าเรือและวันที่พนักงานของโจทก์ประชุมวิสามัญแล้ว ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดจำนวน33,847 ตู้ต้องจ่ายเงินชดเชยตู้ละ 250 บาท เป็นเงิน8,461,750 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 17,841,000 บาทโจทก์มีหนังสือให้จำเลยชำระเงินชดเชยดังกล่าวเมื่อวันที่12 กรกฎาคม 2533 ตามเอกสารหมาย จ.20 และเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2533 ตามเอกสารหมาย จ.21 จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว แต่ไม่ชำระ
พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกว่าบันทึกการขอทดลองใช้ท่าเพื่อลดความคับคั่งเอกสารหมาย จ.6 (ล.2)ใช้บังคับได้หรือไม่จำเลยฎีกาว่า บันทึกดังกล่าวเป็นเพียงคำเสนอฝ่ายเดียวของจำเลยที่แจ้งไปยังโจทก์เท่านั้น โจทก์มิได้ลงลายมือชื่อในฐานะคู่สัญญาด้วย ทั้งปรากฏว่าโจทก์และจำเลยยังมิได้ตกลงกันหมดทุกอย่าง จึงยังถือไม่ได้ว่ามีสัญญาต่อกันแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 บันทึกนั้นจึงใช้บังคับไม่ได้ เห็นว่า ก่อนที่จะทำบันทึกเอกสารหมาย จ.6 (ล.2) นั้นจำเลยเคยมีหนังสือร้องขอโจทก์จัดให้เรือของจำเลยได้สิทธิในการเข้าเทียบท่าก่อน โดยระบุว่าจำเลยจะสามารถบรรทุกและขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ได้จำนวนไม่ต่ำกว่า 144,000 ตู้ต่อปีต่อหนึ่งท่าตามที่โจทก์วางหลักเกณฑ์ไว้ ถ้าทางโจทก์สามารถดำเนินการตามความประสงค์ของจำเลยดังกล่าว จำเลยขอยืนยันว่าจะไม่เก็บค่าแออัดจากผู้นำเข้าและผู้ส่งออก ขอให้โจทก์พิจารณาอนุญาตด้วย เมื่อโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งความจำนงดังกล่าวของจำเลยแล้ว ได้มีการจัดการประชุมร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่บริหารของโจทก์และจำเลยเพื่อทำความตกลงในรายละเอียดเรื่องนี้ ดังปรากฏตามรายงานการประชุมเอกสารหมาย จ.4 ในที่ประชุมได้มีการเสนอว่าบันทึกการขอทดลองใช้ท่าเพื่อลดความคับคั่งให้พิจารณาด้วย ผลการพิจารณาปรากฏว่าที่ประชุมเห็นพ้องร่วมกันกับข้อความในร่างบันทึกดังกล่าว นอกจากนั้นในที่ประชุมยังได้พิจารณากำหนดแนวทางในการปฏิบัติ รวมทั้งกำหนดท่าเรือและวันเริ่มต้นใช้ท่าเรือของจำเลยด้วยคือท่า 20 ซี และให้เริ่มตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2531เป็นต้นไป และตามบันทึกการขอทดลองใช้ท่าเพื่อลดความคับคั่งเอกสารหมาย จ.6 ปรากฏว่าลงวันที่ 14 ตุลาคม 2531เช่นเดียวกัน กับมีข้อความเหมือนกันกับร่างบันทึกการขอทดลองใช้ท่าเพื่อลดความคับคั่งเอกสารหมาย จ.5 ทุกประการ แสดงว่าคู่กรณีคือโจทก์และจำเลยต่างมีเจตนาตรงกัน จึงได้ทำความตกลงตามข้อความในบันทึกดังกล่าว บันทึกการขอทดลองใช้ท่าเพื่อลดความคับคั่งเอกสารหมาย จ.6 จึงใช้บังคับได้ส่วนการที่มีเพียงจำเลยฝ่ายเดียวลงชื่อในบันทึกนั้นก็หาทำให้ข้อตกลงตามบันทึกใช้บังคับไม่ได้ไม่เพราะเงื่อนไขและข้อตกลงในบันทึกเป็นการต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน เมื่อฝ่ายโจทก์ได้จัดให้จำเลยได้ใช้ท่าเรือ 20 ซี ดังที่ระบุในบันทึกแล้ว จำเลยย่อมต้องผูกพันที่จะต้องปฏิเสธตามเงื่อนไขในบันทึกนั้นเช่นกัน แม้โจทก์จะมิได้ลงชื่อในบันทึกก็ตาม สัญญาต่างตอบแทนระหว่างโจทก์จำเลยในกรณีนี้เกิดขึ้นแล้ว เพราะเป็นที่แน่ชัดว่าทั้งโจทก์จำเลยได้ตกลงกันในสาระสำคัญหมดทุกข้อ ถือว่ามีสัญญาต่อกันแล้วหาได้มีกรณีเป็นที่สงสัยดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 366 ไม่
ปัญหาข้อต่อไปมีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกเงินชดเชยการใช้ท่าจากจำเลยได้หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า การที่จำเลยไม่สามารถขนถ่ายตู้สินค้าได้ตามเป้าหมายเป็นการพ้นวิสัย จึงไม่ต้องรับผิดใช้เงินชดเชยการใช้ท่าแก่โจทก์พิเคราะห์แล้ว การชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยนั้นหมายถึงลูกหนี้ไม่อาจปฏิบัติการชำระหนี้ได้เลย แต่ในกรณีของจำเลยนางภาคินี อัครวิบูลย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยเบิกความเป็นพยานจำเลยรับว่า ในช่วงระยะเวลา 1 ปีระหว่างที่บันทึกการขอทดลองใช้ท่าเพื่อลดความคับคั่งมีผลใช้บังคับอยู่ มีบริษัทอาร์.ซี.แอล. จำกัด สามารถขนถ่ายสินค้าได้ตามจำนวนที่ตกลงกันไว้ในบันทึกดังกล่าวได้ จึงเห็นได้ว่ากรณีดังกล่าวหาใช่เรื่องที่ไม่อาจปฏิบัติได้อันเป็นการพ้นวิสัยไม่ แต่น่าเชื่อตามที่เรือโทมานิตย์ อโปรกุล พยานโจทก์เบิกความว่าความสามารถในการขนถ่ายตู้สินค้านั้นขึ้นอยู่กับกลุ่มเรือแต่ละกลุ่มว่าจะมีประสิทธิภาพทำได้เท่าไร รวมทั้งความสามารถด้านการตลาดด้วยว่ากลุ่มเรือจะจัดหาสินค้าเพื่อนำเข้าหรือส่งออกได้เท่าใดด้วยดังนั้น เมื่อจำเลยไม่สามารถขนถ่ายตู้สินค้าได้ตามจำนวนที่กำหนดไว้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเงินชดเชยการใช้ท่าจากจำเลยได้ตามข้อตกลงในบันทึกการขอทดลองใช้ท่าเพื่อลดความคับคั่งข้อ 4.1
ปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกเงินชดเชยการใช้ท่าหลังจากครบกำหนด 1 ปี ตามบันทึกการขอทดลองใช้ท่าหรือไม่จำเลยฎีกาว่าบันทึกการขอทดลองใช้ท่าเพื่อลดความคับคั่งมีกำหนดเวลาเพียง 1 ปี นับจากวันที่ 14 ตุลาคม 2531 เมื่อครบกำหนดแล้วต้องถือว่าสิทธิหน้าที่ของโจทก์จำเลยย่อมสิ้นสุดลง โจทก์จึงไม่อาจเรียกเงินชดเชยการใช้ท่าหลังจากนั้นได้อีกพิเคราะห์แล้วตามบันทึกการขอทดลองใช้ท่าเพื่อลดความคับคั่ง ข้อ 4.1 ระบุว่าหากจำเลยขนถ่ายตู้สินค้าเข้า-ออกได้ไม่เท่าจำนวนปีละ144,000 ทีอียู จำเลยจะต้องจ่ายเงินชดเชยการใช้ท่าให้แก่โจทก์โดยคิดเมื่อครบรอบ 1 ปี หรือเมื่อโจทก์มีคำสั่งยกเลิกการใช้ท่าเพราะเห็นว่าจำเลยไม่อาจปฏิบัติตามข้อตกลงต่อไปได้ และข้อ 4.3ระบุว่า หากจำเลยประสงค์จะเลิกการใช้ท่าให้แจ้งแก่โจทก์ทราบเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนล่วงหน้า 3 วัน และหากขนถ่ายตู้สินค้าไม่ได้ตามเกณฑ์ในข้อ 4.1 ให้คิดเงินชดเชยโดยถือวันสุดท้ายที่เรือของจำเลยออกจากท่าเป็นวันรวมเวลาคำนวณจำนวนตู้ เห็นว่าตามบันทึกดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่มิได้กำหนดเงื่อนไขเวลาสิ้นสุดไว้ข้อตกลงจะสิ้นสุดต่อเมื่อได้มีการบอกเลิกของคู่กรณีดังที่กำหนดไว้ในข้อ 4.1 และ 4.3 ส่วนระยะเวลา 1 ปี ที่ระบุไว้ในข้อ 4.1เป็นเพียงการกำหนดให้มีการคิดเงินชดเชยกันเมื่อครบรอบ 1 ปีแล้วเท่านั้นหาใช่เงื่อนเวลาสิ้นสุดของข้อตกลงตามบันทึกไม่ ดังนั้นเมื่อโจทก์แจ้งยกเลิกข้อตกลงตามบันทึกตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2533โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเงินชดเชยการใช้ท่าจากจำเลยได้จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2533
พิพากษายืน