คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4729/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญาขายฝากที่ดินไว้แก่ ภ. บิดาโจทก์ ระหว่างที่ยังอยู่ภายในกำหนดเวลาไถ่ถอนตามสัญญาขายฝาก จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวกับโจทก์ ต่อมา จำเลยทำสัญญากับ ภ. ว่าไม่ประสงค์จะไถ่ถอนและขอสละสิทธิไถ่ถอน ดังนี้ ข้อตกลงระหว่างจำเลยกับ ภ. ถือได้ว่า เป็นการขายขาดที่ดินให้แก่ ภ. โดยทำสัญญากันเอง จึงไม่เกิดผลเป็นสัญญาซื้อขายที่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยยังมีสิทธิไถ่ถอนการขายฝากได้ภายในกำหนดเวลาไถ่ถอนตามสัญญาขายฝากอยู่และภายในกำหนดระยะการขายฝาก จำเลยย่อมมีสิทธินำที่ดินไปทำสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่โจทก์ได้ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 497 ได้กำหนดให้ผู้รับโอนสิทธิมีสิทธิไถ่ทรัพย์สินนั้นได้ด้วย เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับโจทก์ โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะผู้รับโอนสิทธิมีสิทธิไถ่ที่ดินได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2532 จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 44167 ตำบลลาดยาว (บางเขนฝั่งใต้) อำเภอบางเขน (บางซื่อ)กรุงเทพมหานคร จำนวนเนื้อที่ 53 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 60/1บนที่ดินดังกล่าวของจำเลยให้แก่โจทก์ในราคา 630,000 บาท โจทก์ชำระมัดจำในวันทำสัญญา 200,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 430,000 บาท จะชำระเมื่อจำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2535 หากจำเลยผิดสัญญายอมให้โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาพร้อมค่าเสียหายอีกจำนวน 200,000 บาท ต่อมาจำเลยผิดสัญญาไม่ไปโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 60/1บนที่ดินโฉนดเลขที่ 44167 ตำบลลาดยาว (บางเขนฝั่งใต้) อำเภอบางเขน(บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 53 ตารางวา ให้แก่โจทก์ โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าภาษีอากรและค่าธรรมเนียมการโอนกับชำระค่าเสียหายเป็นเงินอีกจำนวน200,000 บาท ตามสัญญา หากจำเลยไม่ยอมไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยโดยให้จำเลยรับเงินค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ส่วนที่เหลือจำนวน 430,000 บาทจากโจทก์ หากจำเลยไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้ไม่ว่าด้วยกรณีใด ๆ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 497,500 บาทกับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 400,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยขายฝากที่ดินและบ้านตามฟ้องไว้แก่นายภัทรพร ธีรพงศ์ธาดา บิดาโจทก์ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2532 จำเลยไม่เคยตกลงขายที่ดินตามฟ้องให้แก่โจทก์ ไม่เคยรับมัดจำจำนวน 200,000 บาทจากโจทก์ในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายโจทก์ก็ทราบดีว่า ทรัพย์พิพาทตามสัญญาจะซื้อจะขายเป็นกรรมสิทธิ์ของนายภัทรพร จำเลยมิใช่เจ้าของทรัพย์สินจึงไม่มีอำนาจทำสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์ แต่เนื่องจากจำเลยถูกนายภัทรพรฉ้อฉลจนหลงเชื่อจึงได้มีหลักฐานขึ้นและให้มีสัญญาจะซื้อจะขายลงวันที่ 12สิงหาคม 2532 ระหว่างโจทก์กับจำเลย คำขอท้ายฟ้องไม่ชัดแจ้งว่าเป็นเงินค่าอะไร ศาลไม่สามารถออกคำบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำขอของโจทก์ได้จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 44167ตำบลลาดยาว (บางเขนฝั่งใต้) อำเภอบางเขน (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 53 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 60/1 แก่โจทก์ โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าภาษีอากรและค่าธรรมเนียมการโอน หากจำเลยเพิกเฉยไม่ยอมไปจดทะเบียนให้โจทก์ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยและให้จำเลยรับเงินค่าที่ดินและบ้านที่เหลือจำนวน 430,000 บาทไปจากโจทก์ หากจำเลยไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านให้แก่โจทก์ได้ไม่ว่ากรณีใด ๆ ให้จำเลยชดใช้เงินแก่โจทก์จำนวน 497,500 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 400,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ โดยจำเลยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาประการต่อมาว่า โจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยมิใช่เจ้าของทรัพย์สินพิพาทเพราะขณะทำสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์พิพาทจำเลยขายฝากทรัพย์พิพาทแก่บิดาโจทก์ไปแล้วนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 491 บัญญัติว่า “ขายฝากนั้น คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคือได้” ดังนั้น สัญญาขายฝากจึงเป็นสัญญาซึ่งผู้ซื้อรับโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายฝากไปจากผู้ขายฝากโดยมีเงื่อนไขบังคับหลังว่า เมื่อผู้ขายฝากมาไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากคืนภายในกำหนดระยะเวลาขายฝากแล้ว กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ขายฝากก็จะเปลี่ยนมือกลับมาเป็นของผู้ขายฝากตามเดิม ดังนั้น การที่จำเลยทำสัญญาขายฝากที่ดินไว้แก่นายภัทรพรบิดาโจทก์ ตามเอกสารหมาย จ.11 เมื่อวันที่ 2กุมภาพันธ์ 2532 มีกำหนดไถ่ถอน 3 ปี ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 2 กุมภาพันธ์2535 แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2533 ซึ่งยังอยู่ภายในกำหนดเวลาไถ่ถอนตามสัญญาขายฝาก จำเลยได้ทำสัญญาต่างตอบแทนกันเองระหว่างจำเลยกับนายภัทรพร ตามเอกสารหมาย ล.3 ว่าจำเลยไม่ประสงค์จะไถ่ถอนและขอสละสิทธิในการไถ่ถอนทรัพย์พิพาท อันถือได้ว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นการขายขาดทรัพย์พิพาทให้แก่นายภัทรพรผู้รับซื้อฝากโดยทำสัญญากันเอง สัญญาขายขาดฉบับหลังนี้จึงไม่เกิดผลเป็นสัญญาซื้อขายที่ชอบด้วยกฎหมาย ฉะนั้น จำเลยผู้ขายฝากจึงยังมีสิทธิไถ่ถอนการขายฝากรายนี้ได้ภายในกำหนดเวลาไถ่ถอนตามสัญญาขายฝากอยู่ ดังนั้น ภายในกำหนดระยะการขายฝากจำเลยย่อมมีสิทธินำทรัพย์พิพาทไปทำสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่โจทก์ได้ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 497 ก็ยังได้กำหนดบุคคลที่จะใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากไว้และใน (2) กำหนดให้ผู้รับโอนสิทธินั้นมีสิทธิไถ่ทรัพย์สินนั้นได้ด้วย เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.1 โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะผู้รับโอนสิทธิตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว มีสิทธิไถ่ทรัพย์พิพาทได้ด้วยสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินตามเอกสารหมาย จ.1 จึงมีผลสมบูรณ์และบังคับได้ตามกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share