คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4729/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยในฐานะทนายความของโจทก์มีหน้าที่ต้องจัดทำคำให้การแทนโจทก์ และต้องยื่นให้ทันภายในกำหนดเวลายื่นคำให้การ เมื่อจำเลยนำคำให้การมายื่นเมื่อพ้นระยะเวลายื่นคำให้การแล้ว ทั้งมิได้ดำเนินการเพื่อขออนุญาตยื่นคำให้การ ทำให้โจทก์เสียเปรียบในการดำเนินคดีอย่างยิ่งถือได้ว่าจำเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทนายความก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ เป็นการผิดสัญญา จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ และถึงแม้โจทก์จะมิได้นำสืบว่าค่าเสียหายอันเกิดจากการกระทำของจำเลยมีเพียงใด ศาลย่อมมีอำนาจกำหนดให้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เดิมโจทก์ถูกนางอนงค์ฟ้องเรียกหนี้ค่าซื้อสินค้าจำเลยรับเป็นทนายความให้โจทก์โดยคิดค่าจ้าง 15,000 บาท ชำระล่วงหน้า 5,000 บาทแต่จำเลยกลับยื่นคำให้การต่อสู้คดีเมื่อพ้นกำหนด 1 วัน เป็นเหตุให้ศาลมีคำสั่งไม่รับคำให้การและโจทก์ขาดนัดยื่นคำให้การโดยจำเลยมิได้รอฟังคำสั่งและมิได้ดำเนินการเพื่อขออนุญาตยื่นคำให้การ เพราะมิได้จงใจขาดนัด การกระทำของจำเลยเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ต้องแพ้คดีและถูกพิพากษาให้ใช้เงิน 115,320 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 มีนาคม 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จและต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมรวมทั้งในการยื่นอุทธรณ์เป็นเงิน 8,997.50 บาท โจทก์ชำระค่าจ้างว่าความล่วงหน้าให้จำเลยไปแล้ว5,000 บาท และโจทก์ต้องเสียค่าจ้างทนายความคนใหม่เป็นเงิน 15,000 บาท รวมค่าเสียหาย 144,317.50 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 144,317.50 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 144,317.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์ถอนจำเลยจากการเป็นทนายความแล้ว จำเลยจึงหมดหน้าที่ในการต่อสู้คดีให้โจทก์ คดีดังกล่าวโจทก์ไม่มีพยานบุคคลและพยานเอกสาร โจทก์ยอมรับว่าได้ซื้อสินค้าจริง และให้จำเลยช่วยเจรจาขอผ่อนชำระ โจทก์มิได้มอบเงิน5,000 บาท แก่จำเลย โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดข้อตกลงที่จะต้องมอบเงินค่าใช้จ่ายแก่จำเลยก่อนครบกำหนดยื่นคำให้การ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 โดยคู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งว่า เดิมนางอนงค์ นิมา ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 712/2536 ของศาลจังหวัดสมุทรปราการ โจทก์จึงว่าจ้างจำเลยให้เป็นทนายความแก้ต่างให้ โดยตกลงค่าทนายความ 10,000 บาท และค่าใช้จ่ายอื่นอีก5,000 บาท จำเลยเรียงคำให้การยื่นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2536 ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับคำให้การ เนื่องจากยื่นเกินกำหนด ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์รับผิดต่อนางอนงค์ นิมาศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

ประเด็นวินิจฉัยในชั้นฎีกามีว่า จำเลยกระทำผิดสัญญาหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยในฐานะทนายความของโจทก์มีหน้าที่ต้องจัดทำคำให้การแทนโจทก์ และต้องยื่นให้ทันภายในกำหนดเวลายื่นคำให้การ แต่ปรากฏว่าจำเลยนำคำให้การมายื่นเมื่อพ้นระยะเวลายื่นคำให้การแล้ว ทั้งมิได้ดำเนินการเพื่อขออนุญาตยื่นคำให้การ ทำให้โจทก์เสียเปรียบในการดำเนินคดีอย่างยิ่ง เพราะตามคำให้การของจำเลยที่นำยื่นในคดีดังกล่าวจำเลยเรียงคำให้การว่า โจทก์เป็นหนี้นางอนงค์ นิมา เพียง 69,080 บาท มิใช่เป็นจำนวนถึง 188,330 บาท ตามที่นางอนงค์ นิมา ฟ้องและศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นหนี้นางอนงค์ นิมา จำนวน 135,320 บาท มิใช่เป็นหนี้จำนวน 188,330 บาท ถือได้ว่าจำเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทนายความก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เป็นการผิดสัญญา จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ประเด็นวินิจฉัยข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงใด ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิได้ยื่นคำให้การภายในระยะเวลายื่นคำให้การ ทำให้โจทก์ต้องแพ้คดี ถือได้ว่า การกระทำของจำเลยก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์แล้ว แม้โจทก์จะมิได้นำสืบว่า ค่าเสียหายอันเกิดจากการกระทำของจำเลยมีเพียงใด ศาลย่อมมีอำนาจกำหนดให้ได้ ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยต้องชดใช้แก่โจทก์ 60,000 บาท นั้น จึงเหมาะสมแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน”

พิพากษายืน

Share