แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทซึ่งเอาประกันภัยไว้แก่จำเลยหลังจากทำสัญญาประกันภัยดังนี้ย่อมถือได้ว่า โจทก์ผู้เอาประกันภัยยังมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้ในขณะที่จำเลยรับประกันภัย สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์และจำเลยจึงไม่ผูกพันคู่สัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 863 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาประกันภัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้เงิน 230,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยรับประกันภัยรถยนต์พิพาทไว้จากโจทก์ ก่อนโจทก์เช่าซื้อรถยนต์พิพาทมาจากบริษัทเงินทุนเอกธนกิจ จำกัด โจทก์จึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสีย สัญญาประกันภัยตกเป็นโมฆะ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยใช้เงินจำนวน 230,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยได้ทำสัญญารับประกันภัยรถยนต์พิพาทไว้จากโจทก์ มีอายุสัญญาระหว่างวันที่ 23กันยายน 2534 ถึงวันที่ 23 กันยายน 2535 ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.3และโจทก์ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2534 ตามเอกสารหมาย จ.2 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะขณะทำสัญญาประกันภัยนั้น โจทก์ผู้เอาประกันภัยยังไม่มีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัยไว้ สัญญาประกันภัยย่อมไม่ผูกพันโจทก์และจำเลยนั้น เห็นว่า โจทก์ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์พิพาทไว้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2534 ต่อมาวันที่ 24 กันยายน2534 โจทก์จึงทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากบริษัทเงินทุนเอกธนกิจ จำกัด ตามเอกสารหมาย จ.2 เมื่อโจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทซึ่งเอาประกันภัยไว้แก่จำเลยหลังจากทำสัญญาประกันภัยย่อมถือได้ว่า โจทก์ผู้เอาประกันภัยยังมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้ขณะที่จำเลยรับประกันภัย ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.3ดังนั้น สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์และจำเลยจึงไม่ผูกพันคู่สัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 863 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาประกันภัย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นอีก”
พิพากษากลับ ยกฟ้องโจทก์