แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อไม่มีการออกพระราชบัญญัติเวนคืนที่ดินพิพาทเพื่อก่อสร้างถนนสายอักษะตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 และจำเลยก็ไม่ได้ดำเนินการให้มีการเวนคืนที่ดินดังกล่าวตามเงื่อนไขของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ฉะนั้นที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงไม่ได้ถูกเวนคืนตามความหมายของมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ทั้งสองฉบับดังกล่าว แต่เนื่องจากพฤติการณ์ของ บ. แสดงออกชัดว่าได้ยอมสละที่ดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณะเพื่อสร้างถนนสายอักษะตั้งแต่ปี 2508 และรับเงินค่าตอบแทนไปบ้างแล้ว ที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นทางสาธารณะอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินทันทีโดยไม่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แม้ต่อมาภายหลัง บ. ได้โอนที่ดินซึ่งรวมถึงที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ และโจทก์ได้เสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินพิพาทด้วย ก็หาทำให้โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยโอนที่ดินโฉนดที่ 928 ตำบลทวีวัฒนา อำเภอตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 13 ไร่ 2 งาน 12 ตารางวา คืนแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน และถ้าคืนให้ไม่ได้ขอให้จำเลยชดใช้ราคาที่ดิน 13 ไร่ 2 งาน 12 ตารางวา ในราคาไร่ละ 4,000,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 54,480,000 บาท
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินให้โจทก์จำนวน 9,670 บาท กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 100,000 บาท คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 6,345,375 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 110,000 บาท
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่า ไม่มีการออกพระราชบัญญัติเวนคืนที่ดินโฉนดที่ 928 ตำบลทวีวัฒนา (บางระมาด) อำเภอตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร เพื่อก่อสร้างถนนสายอักษะตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 และจำเลยก็ไม่ได้ดำเนินการให้มีการเวนคืนที่ดินแปลงนี้ตามขั้นตอนและเงื่อนไขแห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 และก็ไม่ได้ดำเนินการให้มีการเวนคืนที่ดินแปลงนี้ตามขั้นตอนและเงื่อนไขของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ที่ดินโฉนดที่ 928 ซึ่งอยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่
อำเภอตลิ่งชัน
พ.ศ. 2497 และพระราชกฤษฎีกาที่สืบเนื่องต่อกันมาจนถึงฉบับสุดท้าย พ.ศ. 2509 ที่ถูกใช้สร้างถนนสายอักษะอันเป็นถนนสาธารณะแล้วนั้นไม่ได้ถูกเวนคืนตามความหมายของมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 และ พ.ศ. 2530 แต่อย่างไรก็ตาม ได้มีการสร้างถนนสายอักษะบนที่ดินพิพาทเนื้อที่ 13 ไร่ 2 งาน 12 ตารางวา ซึ่งเป็นทางสาธารณะแล้ว จึงมีปัญหาว่าที่ดินพิพาทตกเป็นของรัฐด้วยเหตุใด เกี่ยวกับเรื่องนี้ พยานจำเลยเบิกความว่า การเวนคืนที่ดินพิพาทเพื่อใช้ตัดถนนสายอักษะซึ่งเป็นถนนขนาดใหญ่จะทำให้ที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนเนื้อที่กว่า 45 ไร่ ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน แต่ละส่วนของที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนมีด้านหนึ่งอยู่ติดถนนสายนี้ สภาพที่ดินจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นกว่าเดิมมากจะมีราคาเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่าเงินค่าทดแทนที่ดินในส่วนที่ถูกเวนคืนหลายเท่าตัว ซึ่งเชื่อว่านางบุญเรียมก็คงเห็นถึงประโยชน์มากมายที่ตนจะได้รับจากการที่ที่ดินพิพาทถูกใช้สร้างถนนสายอักษะด้วย จึงยินยอมสละที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในแนวเขตถนนสายอักษะให้เป็นทางสาธารณะแล้วไม่เคยเข้ามายุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทอีกเลย ทางกรมโยธาเทศบาลซึ่งขณะนั้นเป็นเจ้าของโครงการจึงเข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทโดยปักไม้หมอนแสดงแนวเขตของถนนสายอักษะไว้ดังคำเบิกความของนายทองมวนและนายกำพล ส่วนเนื้อที่ดินที่ระบุไว้ในบันทึกข้อตกลงว่าถูกถนนสายอักษะประมาณ 9 ไร่ นั้น เป็นเพียงการกะประมาณไว้โดยยังไม่ได้รังวัดว่าเนื้อที่ดินที่อยู่ในแนวเขตถนนที่แท้จริงเป็นจำนวนเท่าใด แม้รังวัดแล้วมีเนื้อที่เป็น 13 ไร่ 2 งาน 12 ตารางวา ก็ตาม ก็ยังคงอยู่ในส่วนที่นางบุญเรียมยอมสละให้เป็นทางสาธารณะแล้ว เพราะไม่ปรากฏว่าแนวเขตของถนนสายอักษะนี้ได้เปลี่ยนแปลงหรือขยายเพิ่มขึ้นจากที่กำหนดไว้ เมื่อนางบุญเรียมยอมสละที่ดินพิพาทเนื้อที่ 13 ไร่ 2 งาน 12 ตารางวา ให้เป็นทางสาธารณะตั้งแต่ประมาณปี 2508 ที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นทางสาธารณะอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินทันที โดยไม่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในทางโฉนดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แม้ต่อมาภายหลังนางบุญเรียมได้โอนที่ดินโฉนดที่ 928 ทั้งแปลงให้แก่โจทก์และโจทก์ได้เสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินโฉนดที่ 928 ทั้งแปลงก็หาทำให้โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทไม่ จำเลยคงมีหน้าที่เพียงชดใช้เงินอันเป็นการชดเชยที่นางบุญเรียมได้ยอมสละที่ดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณะตามที่ตกลงกันไว้เท่านั้น คือไร่ละ 1,500 บาท เนื้อที่ 13 ไร่ 2 งาน 12 ตารางวา เป็นเงิน 20,295 บาท นางบุญเรียมได้รับชดใช้ไปแล้วเป็นเงิน 10,125 บาท จำเลยจึงต้องชดใช้อีกเป็นเงิน 10,170 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์จำนวน 10,170 บาท กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ตามจำนวนที่ศาลชั้นต้นกำหนด.