แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยจ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างโดยมีข้อตกลงว่าจำเลยจะจ่ายค่าตอบแทนการขายอัตราร้อยละ 5 จากงานซ่อมและร้อยละ 15 จากค่าอะไหล่ คำนวณจากผลกำไรแล้วในเดือนมิถุนายน 2548 จำเลยค้างจ่ายค่าตอบแทนการขายจำนวน 16,384 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินค่าตอบแทนการขายจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ จำเลยฟ้องแย้งว่า โจทก์ได้หยุดงานไปตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2548 ถึงวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 เป็นการละทิ้งหน้าที่ ทำให้จำเลยขาดรายได้จากการเสนองานซ่อมรถยกและขายอะไหล่จำนวน 40,000 บาท ขอให้บังคับโจทก์ใช้ค่าเสียหายดังกล่าว เป็นการกล่าวอ้างถึงการกระทำใหม่ของโจทก์ ซึ่งจะต้องพิจารณาต่อไปว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่ตามที่จำเลยฟ้องแย้งหรือไม่ และเป็นเหตุให้จำเลยเสียหายหรือไม่และเพียงใด ดังนั้น แม้ว่าตามฟ้องเดิมและฟ้องแย้งจะเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาจ้างแรงงานด้วยกัน แต่เป็นคนละเรื่องคนละประเด็นแตกต่างกันไม่มีความเกี่ยวข้องกัน ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมไม่อาจรับไว้พิจารณารวมกับฟ้องเดิมได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขาย ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 10,200 บาท และค่าตอบแทนการขายร้อยละ 5 จากงานซ่อมแซมและค่าตอบแทนการขายร้อยละ 15 จากค่าอะไหล่คำนวณจากผลกำไรที่ได้ กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ระหว่างทำงานในเดือนมิถุนายน 2548 จำเลยค้างจ่ายค่าตอบแทนการขายจำนวน 16,384 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าตอบแทนการขายดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยตกลงจ่ายค่าตอบแทนการขายร้อยละ 5 ของราคาค่าซ่อมรถยกก่อนรวมภาษีมูลค่าเพิ่มและร้อยละ 3 จากค่าอะไหล่คำนวณจากผลกำไรที่ได้เท่านั้น ในเดือนมิถุนายน 2548 โจทก์มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนการขายเพียง 9,897 บาท และจำเลยชำระแก่โจทก์แล้วในวันที่ 30 มิถุนายน 2548 แต่โจทก์หยุดงานไปตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2548 ถึงวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 โดยไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบ จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ การที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่ไปทำให้จำเลยขาดรายได้จากการเสนองานซ่อมรถยกและขายอะไหล่ให้แก่ลูกค้าวันละประมาณ 10,000 บาท จำนวน 4 วัน รวมเป็นเงิน 40,000 บาท จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าตอบแทนการขายให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้องโจทก์ และบังคับให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายที่โจทก์หยุดงานเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายเป็นเงิน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินดังกล่าวนับถัดจากวันให้การและฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
ศาลแรงงานกลางสั่งคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยว่า รับเป็นคำให้การของจำเลย ส่วนฟ้องแย้งนั้นไม่เกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมไม่รับฟ้องแย้ง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเพียงว่า ฟ้องแย้งของจำเลยเกี่ยวกับฟ้องเดิมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยจ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างโดยมีข้อตกลงว่าจำเลยจะจ่ายค่าตอบแทนการขายอัตราร้อยละ 5 จากงานซ่อมและร้อยละ 15 จากค่าอะไหล่ คำนวณจากผลกำไรแล้ว ในเดือนมิถุนายน 2548 จำเลยค้างจ่ายค่าตอบแทนการขายจำนวน 16,384 บาท จึงขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินค่าตอบแทนการขายจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ซึ่งจำเลยให้การว่าจำเลยตกลงจ่ายค่าตอบแทนการขายเพียงอัตราร้อยละ 5 จากงานซ่อมและร้อยละ 3 จากค่าอะไหล่ คำนวณจากผลกำไรแล้ว ในเดือนมิถุนายน 2548 โจทก์มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนการขายจำนวน 9,897 บาท และจำเลยชำระแก่โจทก์ไปแล้ว ดังนั้นประเด็นโดยตรงที่พิพาทกันจึงมีว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนการขายในอัตราใด ในเดือนมิถุนายน 2548 โจทก์มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนการขายจำนวนเท่าใด และจำเลยได้จ่ายค่าตอบแทนการขายให้โจทก์แล้วหรือไม่ ส่วนที่จำเลยฟ้องแย้งว่า โจทก์ได้หยุดงานไปตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2548 ถึงวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 เป็นการละทิ้งหน้าที่ ทำให้จำเลยขาดรายได้จากการเสนองานซ่อมรถยกและขายอะไหล่จำนวน 40,000 บาท ขอให้บังคับโจทก์ใช้ค่าเสียหายดังกล่าวนั้นเป็นการกล่าวอ้างถึงการกระทำใหม่ของโจทก์ ซึ่งจะต้องพิจารณาต่อไปว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่ตามที่จำเลยฟ้องแย้งหรือไม่ และเป็นเหตุให้จำเลยเสียหายหรือไม่และเพียงใด ดังนั้นแม้ว่าตามฟ้องเดิมและฟ้องแย้งจะเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาจ้างแรงงานด้วยกันก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงตลอดจนพยานหลักฐานที่จะนำสืบเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นแตกต่างกันไม่มีความเกี่ยวข้องกัน ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมไม่อาจรับไว้พิจารณารวมกับฟ้องเดิมของโจทก์ได้ ที่ศาลแรงงานกลางไม่รับฟ้องแย้งนั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน