คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4723/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า “อาชีพ” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 หมายความว่า งานที่ทำเป็นประจำเพื่อเลี้ยงชีพ ดังนั้น ผู้มีอาชีพกสิกรรม จึงมีความหมายถึง ผู้ที่ประกอบอาชีพกสิกรรมเพื่อเลี้ยงชีพ แม้ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่า ผู้เสียหายมีอาชีพค้าขายด้วย แต่ผู้เสียหายทำนาถึง 10 ไร่ ดังนี้ ไม่ว่าผู้เสียหายจะทำนาด้วยตนเองหรือว่าจ้างผู้อื่นทำนา ย่อมแสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายทำนาเพื่อเลี้ยงชีพด้วย ผู้เสียหายจึงเป็นผู้มีอาชีพกสิกรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 9 เดือน ในความผิดฐานทำร้ายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายได้รับอันตรายสาหัส โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 755/2542 ของศาลชั้นต้น ภายในกำหนดเวลาที่ศาลรอการลงโทษ จำเลยมากระทำความผิดคดีนี้อีกขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 335 ให้จำเลยคืนหรือชดใช้ราคาทรัพย์ 45,000 บาท แก่ผู้เสียหาย และบวกโทษจำคุกของจำเลยที่ศาลรอการลงโทษไว้ในคดีอาญาดังกล่าวเข้ากับโทษคดีนี้
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (7) (12) วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 จำคุก 2 ปี บวกโทษจำคุก 9 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 755/2542 ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษคดีนี้เป็นจำคุก 2 ปี 9 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 21,316.32 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 18 นาฬิกา ถึง 22 นาฬิกา จำเลยเข้าไปเกี่ยวข้าวในที่นาที่เกิดเหตุของนางเบญจวรรณ ผู้เสียหาย ต่อมาจำเลย นายบุญทิ้ง และนางพรเพ็ญ ร่วมกันนำข้าวที่เกี่ยวได้ไปขายที่สหกรณ์การเกษตรพนมทวน ตามใบชั่งน้ำหนักและรับเงิน มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ที่ได้มาจากการกสิกรรมของผู้มีอาชีพกสิกรรมในเวลากลางคืนหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว ในปัญหาที่จำเลยฎีกาดังกล่าว โจทก์มีนางเบญจวรรณ ผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความว่า นายบุญทิ้ง เป็นลูกจ้างของพยานและพักอาศัยที่โรงงานของพยาน จำเลยเป็นเพื่อนของนายบุญทิ้ง จำเลยและนายบุญทิ้งไปมาหาสู่กันเป็นประจำ นายสัมฤทธิ์ เป็นพยานเบิกความว่า จำเลยและนายบุญทิ้งไปหาพยานที่บ้าน จำเลยว่าจ้างพยานไปขนข้าว โดยจำเลยบอกว่าเป็นข้าวของจำเลยเอง นายบุญทิ้งบอกว่าจะเรียกค่าจ้างเท่าใดก็ได้ พยานจึงเรียกค่าจ้างขนข้าวเกวียนละ 130 บาท และนางลัดดา เป็นพยานเบิกความว่า จำเลยไปหาพยานที่บ้านว่าจ้างให้ไปขนข้าวที่เกี่ยวแล้วออกจากที่นา จำเลยบอกว่านางจาเป็นผู้ว่าจ้าง นายสำเภาสามีของพยานตกลงรับจ้างขนข้าวคิดค่าจ้างเกวียนละ 90 บาทต่อมาอีกประมาณ 2 วัน พยานไปทวงค่าจ้างจากจำเลย จำเลยตะโกนบอกนายบุญทิ้งให้นำค่าจ้างให้พยาน แต่ภริยาจำเลยบอกว่านางแมวยังไม่กลับ ภริยาจำเลยจึงนำเงิน 700 บาท ให้พยาน เมื่อพยานกลับบ้านแล้วจำเลยตามไปที่บ้านและบอกว่าหากนางจาไปสอบถามให้บอกว่าไม่รู้เห็น เห็นว่า ผู้เสียหาย นายสัมฤทธิ์ และนางลัดดา ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย จึงไม่มีเหตุระแวงให้สงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลยเชื่อว่าพยานโจทก์ทั้งสามเบิกความตามความเป็นจริง จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ การที่จำเลยรู้ว่านายบุญทิ้งทำงานและพักอาศัยกับผู้เสียหาย แสดงให้เห็นว่าจำเลยรู้ถึงฐานะและอาชีพของนายบุญทิ้งเป็นอย่างดี ประกอบกับพฤติการณ์ที่จำเลยบอกนายสัมฤทธิ์ว่าข้าวที่ว่าจ้างให้ไปขนเป็นข้าวของจำเลย หลังเกิดเหตุจำเลยบอกนางลัดดาไม่ให้บอกเรื่องขนข้าวให้นางจา ซึ่งจำเลยอ้างว่าเป็นผู้ว่าจ้างรู้ และจำเลยไปเกี่ยวข้าวในที่นาที่เกิดเหตุในช่วงเวลา 18 นาฬิกา ถึงเวลาประมาณ 22 นาฬิกา ล้วนส่อเป็นพิรุธต้องการปกปิดการกระทำของตน เชื่อได้ว่าจำเลยรู้ว่าข้าวในที่นาที่เกิดเหตุเป็นของผู้เสียหาย ดังนั้น การที่จำเลยเข้าไปเกี่ยวข้าวในที่นาที่เกิดเหตุ โดยจำเลยรู้ว่าข้าวเป็นของผู้เสียหายและเป็นผู้ติดต่อรถให้ขนข้าวที่เกี่ยวได้ แล้วร่วมกับนายบุญทิ้ง และนางพรเพ็ญ นำข้าวที่เกี่ยวได้ไปขายฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาร่วมกับนายบุญทิ้งและนางพรเพ็ญลักทรัพย์ของผู้เสียหาย และคำว่า “อาชีพ” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 หมายความว่างานที่ทำเป็นประจำเพื่อเลี้ยงชีพ ดังนั้น ผู้มีอาชีพกสิกรรม จึงมีความหมายถึง ผู้ที่ประกอบอาชีพกสิกรรมเพื่อเลี้ยงชีพ แม้ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่า ผู้เสียหายมีอาชีพค้าขายด้วย แต่ผู้เสียหายทำนาถึง 10 ไร่ ดังนี้ ไม่ว่าผู้เสียหายจะทำนาด้วยตนเองหรือว่าจ้างผู้อื่นทำนา ย่อมแสดงให้เห็นได้ว่าผู้เสียหายทำนาเพื่อเลี้ยงชีพด้วย ผู้เสียหายจึงเป็นผู้มีอาชีพกสิกรรม และข้าวที่จำเลยกับพวกลักไปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกสิกรรม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share