คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4721/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อไม่มีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในระหว่างพักงานลูกจ้างเมื่อผลการสอบสวนปรากฏว่าลูกจ้างไม่มีความผิด ดังนั้น การที่โจทก์ได้ส่งมอบงานในหน้าที่ก่อนที่จำเลยมีคำสั่งพักงานโจทก์การพักงานโจทก์จึงไม่ใช่สืบเนื่องมาจากความผิดของโจทก์ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างระหว่างพักงานโจทก์
โจทก์ขอลาออกโดยแจ้งล่วงหน้าตามระเบียบแล้ว จำเลยไม่อนุญาตให้โจทก์ลาออก แต่กลับสั่งพักงานโจทก์ โจทก์จึงยังไม่พ้นจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยและโจทก์ยังมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยอยู่ ไม่ว่าในระหว่างที่จำเลยพักงานโจทก์ จำเลยได้จ่ายงานให้โจทก์ทำหรือไม่ ส่วนจำเลยก็ยังมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ จำเลยจะอ้างว่าโจทก์ไม่ได้ทำงานให้จำเลย จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างตอบแทนการทำงานให้โจทก์หาได้ไม่ เพราะโจทก์ไม่ได้ขอพักงานเอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลย ต่อมาวันที่ 9 พฤศจิกายนโจทก์ยื่นใบลาออกโดยขอให้มีผลเป็นการลาออกในวันที่ 1 ธันวาคม 2538 จำเลยยังไม่มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ลาออก ต่อมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2539จำเลยได้มีคำสั่งพักงานโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด จนเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2539จำเลยจึงมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ลาออกโดยไม่จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ในระหว่างพักงานโจทก์ถือว่าการอนุญาตให้โจทก์ลาออกนั้นเป็นการอนุญาตให้ลาออกในวันที่ 30 สิงหาคม2539 อันเป็นวันที่โจทก์ทราบคำสั่ง ดังนั้นจำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ในระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2539 ถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2539 แต่จำเลยไม่ยอมจ่าย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินค่าจ้าง 96,880 บาท แก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์ได้ยื่นใบลาออกต่อจำเลยเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2538โดยขอให้มีผลเป็นการลาออกในวันที่ 1 ธันวาคม 2538 แต่จำเลยยังมิได้มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ลาออกเพราะขณะนั้นโจทก์รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าแผนกอุบัติเหตุ มีงานเกี่ยวกับเรื่องอุบัติเหตุค้างดำเนินการอยู่จำนวนมาก ตามระเบียบของจำเลยจำเลยมีสิทธิที่จะตรวจสอบเกี่ยวกับหนี้สินและพฤติการณ์ทางวินัยของโจทก์ให้เรียบร้อยเสียก่อนจำเลยจึงได้มีคำสั่งให้โจทก์ส่งมอบงานแก่นายพรดุลย์ อธิคมอนันต์ เพื่อตรวจสอบเรื่องที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยได้ และจำเลยได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อตรวจสอบว่าโจทก์จะต้องรับผิดทางแพ่งและทางวินัยต่อจำเลยหรือไม่ จึงได้มีคำสั่งให้พักงานโจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2539เป็นต้นไป เมื่อการส่งมอบงานได้เสร็จสิ้นแล้วจำเลยจึงมีคำสั่งที่ 684/2539 อนุญาตให้โจทก์ลาออกได้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2539 ในระหว่างที่โจทก์ถูกพักงานตามคำสั่งของจำเลยนั้นโจทก์ไม่ได้ทำงานตอบแทนให้แก่จำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิรับเงินค่าจ้างระหว่างพักงาน เพราะสัญญาจ้างแรงงานเป็นสัญญาต่างตอบแทนจำเลยจะจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ ต่อเมื่อโจทก์ทำงานให้แก่จำเลยเท่านั้น จำเลยมีระเบียบว่าด้วยการร้องทุกข์ของพนักงาน โจทก์เป็นพนักงานของจำเลยชอบที่จะใช้สิทธิในการร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการพิจารณาร้องทุกข์ของจำเลยก่อน แต่โจทก์ไม่ได้ดำเนินการโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างในระหว่างพักงาน ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้าง 96,880 บาท แก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ข้อ 2.1 และ 2.3 ว่า ตามหลักกฎหมายที่บัญญัติไว้ในมาตรา 575 และ 576 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลูกจ้างจะมีสิทธิได้รับค่าจ้างก็ต่อเมื่อลูกจ้างตกลงทำงานให้แก่นายจ้างตามสัญญาจ้างแต่โจทก์ยื่นใบลาออก มีเจตนาไม่ทำงานกับจำเลยอีกจำเลยสั่งพักงานโจทก์เพื่อตรวจสอบเกี่ยวกับเรื่องส่งมอบงานไม่ครบถ้วนและให้โจทก์รอฟังคำสั่งเท่านั้นไม่มีการทำงานในระหว่างถูกพักงาน เนื่องจากโจทก์ส่งมอบงานไม่เป็นกิจจะลักษณะทำให้จำเลยพิจารณาสั่งอนุญาตให้โจทก์ลาออกล่าช้า โจทก์จึงไม่มีสิทธิรับค่าจ้างในระหว่างถูกพักงานนั้น เห็นว่า ไม่มีระเบียบข้อบังคับว่าจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในระหว่างพักงานลูกจ้างเมื่อผลการสอบสวนแล้วลูกจ้างไม่มีความผิดโจทก์ได้ส่งมอบงานในหน้าที่ภายในเดือนมกราคม 2539 ก่อนที่จำเลยมีคำสั่งพักงานโจทก์การพักงานโจทก์จึงไม่ใช่สืบเนื่องมาจากความผิดของโจทก์โจทก์ขอลาออกโดยแจ้งล่วงหน้าตามระเบียบแล้ว จำเลยไม่อนุญาตให้โจทก์ลาออกแต่กลับสั่งพักงานโจทก์ โจทก์จึงยังไม่พ้นจากการเป็นลูกจ้างของจำเลย โจทก์ยังมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยอยู่ ไม่มีอิสระในการจัดสรรเกี่ยวกับอนาคตของตนได้ตราบเท่าที่โจทก์ยังอยู่ในฐานะลูกจ้างของจำเลย ในระหว่างที่จำเลยพักงานโจทก์ไม่ว่าจำเลยได้จ่ายงานให้โจทก์ทำหรือไม่ก็ตาม จำเลยยังมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ จำเลยจะอ้างว่าโจทก์ไม่ได้ทำงานให้จำเลย จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างตอบแทนการทำงานให้โจทก์หาได้ไม่ เพราะโจทก์ไม่ได้ขอพักงานเอง

พิพากษายืน

Share