แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า พินัยกรรมพิพาทเป็นพินัยกรรมปลอม แต่พยานหลักฐานของโจทก์ยังรับฟังไม่ได้ว่าการที่จำเลยที่ 2 ใช้พินัยกรรมดังกล่าวแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินในการจดทะเบียนโอนที่ดินแทนจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 2 รู้ว่าเป็นพินัยกรรมปลอม จึงพิพากษายกฟ้อง จำเลยที่ 2 อุทธรณ์เฉพาะในข้อเท็จจริงว่าพินัยกรรมปลอมหรือไม่ ส่วนข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีเจตนากระทำความผิดในการใช้พินัยกรรมดังกล่าวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และ 268เพราะไม่รู้ว่าเป็นพินัยกรรมปลอมนั้น โจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่อุทธรณ์ จึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนี้ แม้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเพราะจำเลยไม่มีเจตนากระทำผิด แต่ปัญหาข้อเท็จจริงว่าพินัยกรรมดังกล่าวปลอมหรือไม่นี้หากไม่ได้รับการวินิจฉัยโดยศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาแล้ว คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นว่าพินัยกรรมดังกล่าวเป็นพินัยกรรมปลอมย่อมถึงที่สุด และหากมีการดำเนินคดีแพ่งระหว่างคู่ความในคดีนี้ในประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า พินัยกรรมดังกล่าวปลอมหรือไม่อีก ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลอาจจำต้องถือข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีนี้ซึ่งมีผลต่อส่วนได้เสียของจำเลยที่ 2 คดีนี้ จึงถือว่าปัญหานี้เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย