คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4719/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาโดยไม่ปรากฏว่าได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ จนกระทั่งโจทก์ไปยื่นเรื่องราวขอรับโอนมรดกที่ดินส่วนที่เป็นของมารดาโจทก์ที่สำนักงานที่ดิน จำเลยจึงได้มีหนังสือลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2527 ถึงนายอำเภอขอคัดค้านการรับโอนมรดกโดยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยผู้เดียว หนังสือดังกล่าวได้ยื่นต่อนายอำเภอเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2527 โจทก์ได้รับสำเนาหนังสือคัดค้านของจำเลยเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2527 แสดงว่าโจทก์ทราบเรื่องที่จำเลยได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาทเพื่อตนตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2527 ซึ่งเป็นการแย่งการครอบครองของโจทก์ โจทก์ฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครอง เมื่อวันที่ 6กุมภาพันธ์ 2528 จึงเป็นการฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายในกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 แล้ว.

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามเป็นบุตรนางบุญทอง โตไพบูลย์นางบุญทองถึงแก่กรรมแล้ว นางบุญทองมีสิทธิครอบครองในที่ดินตามน.ส. 3 เลขที่ 11 เนื้อที่ประมาณ 27 ไร่ 2 งาน ซึ่งตั้งอยู่หมู่ที่ 8 ตำบลรอบเมือง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ร่วมกับจำเลย เมื่อนางบุญทองตายส่วนของนางบุญทองจึงเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ทั้งสามในฐานะทายาท โจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องต่อนายอำเภอเมืองเชียงรายขอจดทะเบียนรับโอนมรดก แต่เจ้าพนักงานไม่สามารถดำเนินการได้เพราะหนังสือรับรองการทำประโยชน์อยู่ที่จำเลย และจำเลยไม่ยอมส่งมอบ ขอให้พิพากษาว่าโจทก์ทั้งสามมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เล่มที่ 3 หน้า 83 เลขที่ 11หมู่ 8 ตำบลรอบเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย และมีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยรบกวนขัดสิทธิของโจทก์ทั้งสาม และห้ามมิให้จำเลยขัดขวาง การจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินแปลงดังกล่าวของโจทก์ทั้งสาม ให้จำเลยคืนเงินค่าเช่าให้โจทก์ทั้งสามเป็นเงิน 112,500บาท และแบ่งเงินค่าเช่าปีละ 11,250 บาท หรือครึ่งหนึ่งของค่าเช่าที่ได้รับจริงให้แก่โจทก์ทั้งสามทุกปีนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์ทั้งสามจะเข้าจัดการที่ดินส่วนที่เป็นสิทธิของโจทก์ทั้งสามกึ่งหนึ่งด้วยตนเองให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 112,500 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยให้การว่า ที่ดินตามฟ้องเดิมเป็นของบิดาจำเลยต่อมาบิดาจำเลยได้ยกให้จำเลย จำเลยได้ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาจำเลยนำเจ้าพนักงานที่ดินไปรังวัดเพื่อออกโฉนด ก็ไม่ปรากฏว่ามีผู้คัดค้าน โจทก์ฟ้องเกิน 1 ปี คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า โจทก์ทั้งสามมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เล่มที่ 3หน้า 83 เลขที่ 11 หมู่ ที่ 8 ตำบลรอบเวียง อำเภอเมืองเชียงรายจังหวัดเชียงราย ห้ามมิให้จำเลยรบกวนขัดสิทธิของโจทก์ทั้งสามห้ามมิให้จำเลยขัดขวางการจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินแปลงดังกล่าวของโจทก์ทั้งสาม ให้จำเลยคืนค่าเช่าให้โจทก์ทั้งสามเป็นเงิน112,500 บาท และแบ่งเงินค่าเช่าปีละ 11,250 บาท หรือครึ่งหนึ่งของค่าเช่าที่ได้รับจริงให้โจทก์ทั้งสามทุกปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์ทั้งสามจะเข้าจัดการที่ดินส่วนที่เป็นสิทธิของโจทก์ทั้งสามด้วยตนเอง กับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 112,500 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ทั้งสาม และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์ทั้งสามมีสิทธิครอบครองร่วมกับจำเลยในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เล่มที่ 3หน้า 83 เลขที่ 11 หมู่ที่ 8 ตำบลรอบเวียง อำเภอเมืองเชียงรายจังหวัดเชียงราย ให้จำเลยคืนค่าเช่าให้โจทก์ทั้งสามเป็นเงิน 46,125บาท และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน46,125 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาท แทนโจทก์
โจทก์ทั้งสามและจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือโดยแจ้งไปยังมารดาโจทก์ทั้งสามและโจทก์ทั้งสามว่าไม่เจตนาจะยึดถือที่ดินพิพาทแทนมารดาโจทก์ทั้งสามและโจทก์ทั้งสามอีกต่อไปมาก่อนจนกระทั่งโจทก์ทั้งสามไปยื่นเรื่องราวขอรับโอนมรดกที่ดินส่วนที่เป็นของมารดาโจทก์ทั้งสามที่สำนักงานที่ดินอำเภอเมืองเชียงรายจำเลยจึงได้มีหนังสือลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2527 ถึงนายอำเภอเมืองเชียงรายขอคัดค้านการรับโอนมรดกดังกล่าวโดยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยแต่ผู้เดียว และหนังสือของจำเลยฉบับนั้นได้ยื่นต่อนายอำเภอเมืองเชียงราย เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2527 และโจทก์ทั้งสามได้รับสำเนาหนังสือคัดค้านของจำเลยเมื่อวันที่ 19มีนาคม 2527 แสดงว่าโจทก์ทั้งสามทราบเรื่องที่จำเลยได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาทเพื่อตนตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม2527 ซึ่งเป็นการแย่งการครอบครองของโจทก์ทั้งสาม การที่โจทก์ทั้งสามนำคดีมาฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2528 จึงเป็นการฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองของโจทก์ทั้งสามภายในกำหนด1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 แล้ว โจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิฟ้องจำเลยได้ และข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยต้องรับผิดคืนค่าเช่าให้โจทก์เป็นเงิน 112,500 บาท แต่เนื่องจากศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยรับผิดอยู่แล้ว 46,125 บาท จำเลยจึงต้องรับผิดเพิ่มขึ้นอีก 66,375 บาท ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนค่าเช่าให้แก่โจทก์ทั้งสามอีก66,375 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นฎีกา800 บาท แทนโจทก์.

Share