แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 มีเจตนารมณ์ให้เป็นอำนาจของศาลที่จะใช้ดุลพินิจมีคำสั่งจำหน่ายคดีในกรณีที่โจทก์ไม่ยื่นคำขอภายในเวลาตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรืออีกนัยหนึ่งบทบัญญัติดังกล่าวเป็นเรื่องระหว่างศาลกับโจทก์ในอันที่ศาลจะพิจารณาว่าโจทก์ยังประสงค์จะดำเนินคดีในกรณีดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งโดยปกติศาลย่อมจะมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีโดยอาศัยเหตุจากการละเว้นของโจทก์ดังกล่าวเว้นแต่จะมีเหตุสมควรที่ศาลจะไม่สั่งจำหน่ายคดีของโจทก์ โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลชั้นต้นและกรณีเป็นการส่งหมายข้ามเขตซึ่งศาลเป็นผู้ส่งเองเมื่อศาลชั้นต้นมิได้แจ้งผลการส่งหมายดังกล่าวให้โจทก์ทราบโจทก์ย่อมไม่ทราบระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยที่ 1ยื่นคำให้การได้สิ้นสุดลง นอกจากนี้เมื่อโจทก์มาขอดูสำนวนจึงทราบว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ และได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การซึ่งถือได้ว่าโจทก์ประสงค์จะดำเนินคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ต่อปีพฤติการณ์ของโจทก์ในคดีนี้จึงมีเหตุสมควรที่ศาลจะไม่สั่งจำหน่ายคดีของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งที่โจทก์ยื่นฟ้องว่า”รับคำฟ้องหมายส่งสำเนาให้จำเลย ให้โจทก์จัดการนำส่งภายใน 7 วัน หากส่งไม่ได้ให้โจทก์แถลงภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ส่งไม่ได้ มิฉะนั้นถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง”เมื่อเจ้าหน้าที่ศาลรายงานว่าได้นำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปส่งให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว ปรากฏว่าส่งไม่ได้เพราะหาบ้านไม่พบ และตามแบบพิมพ์ท้ายคำขอท้ายฟ้องซึ่งทนายโจทก์ผู้รับมอบอำนาจลงลายมือชื่อโจทก์มีข้อความว่า “ข้าพเจ้าได้ยื่นสำเนาคำฟ้องโดยข้อความถูกต้องเป็นอย่างเดียวกันมาด้วยสองฉบับ และรอฟังคำสั่งอยู่ ถ้าไม่รอให้ถือว่าทราบแล้ว” จึงต้องถือว่าโจทก์ได้ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นให้แถลงภายใน 7 วัน นับแต่วันส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์นำส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 2 ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลชั้นต้นแต่โจทก์กระทำเพียงเสียค่าธรรมเนียมในการส่งหมายให้จำเลยที่ 2 เท่านั้น มิได้นำส่งเอง โจทก์จึงมีหน้าที่ติดตามขวนขวายให้ได้ทราบผลการส่งหมายเอง ไม่จำเป็นที่ศาลจะต้อง แจ้งผลการส่งหมายให้โจทก์ทราบอีก เมื่อโจทก์เพิกเฉย มิได้แถลงว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปภายในเวลาที่ ศาลชั้นต้นกำหนด จึงถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2)
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้ร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 83,060 บาทพร้อมดอกเบี้ย ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องและมีคำสั่งกำหนดวิธีส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องให้จำเลยทั้งสองในวันเดียวกับที่รับคำฟ้องโดยให้โจทก์จัดการส่ง ต่อมาส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องให้จำเลยที่ 1 ได้ แต่ส่งให้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ โจทก์ไม่ได้มีคำขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การจนพ้นกำหนด15 วัน นับแต่ระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การได้สิ้นสุดลงและไม่แถลงเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 จนพ้นกำหนด 7 วันนับแต่วันส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องไม่ได้
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์ไม่ดำเนินคดีภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง ให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 มีเจตนารมณ์ให้เป็นอำนาจของศาลที่จะใช้ดุลพินิจมีคำสั่งจำหน่ายคดีในกรณีที่โจทก์ไม่ยื่นคำขอภายในเวลาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ หรืออีกนัยหนึ่งบทบัญญัติดังกล่าวเป็นเรื่องระหว่างศาลกับโจทก์ในอันที่ศาลจะพิจารณาว่าโจทก์ยังจะประสงค์จะดำเนินคดีในกรณีดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งโดยปกติศาลย่อมจะมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีโดยอาศัยเหตุจากการละเว้นของโจทก์ดังกล่าว แต่สำหรับพฤติการณ์ของโจทก์ในคดีนี้มีเหตุสมควรที่ศาลชั้นต้นจะไม่สั่งจำหน่ายคดีของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 เพราะปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลจังหวัดปทุมธานีเป็นการส่งหมายข้ามเขต ซึ่งศาลเป็นผู้ส่งเองเมื่อศาลชั้นต้นคือศาลจังหวัดนนทบุรีมิได้แจ้งผลการส่งหมายดังกล่าวให้โจทก์ทราบ โจทก์ยังไม่ทราบระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การได้สิ้นสุดลง นอกจากนี้เมื่อโจทก์มาขอดูสำนวนในวันที่ 14 มิถุนายน 2539 อันเป็นวันที่จำเลยทั้งสองยื่นคำแถลงให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี จึงทราบว่าจำเลยที่ 1ขาดนัดยื่นคำให้การและได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ ซึ่งถือได้ว่าโจทก์ประสงค์จะดำเนินคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ต่อไป ชอบที่จะเพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีและให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปสำหรับจำเลยที่ 1
ส่วนจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2539 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันเดียวกันว่า”รับคำฟ้อง หมายส่งสำเนาให้จำเลย ให้โจทก์จัดการนำส่งภายใน 7 วัน หากส่งไม่ได้ให้โจทก์แถลงภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ส่งไม่ได้ มิฉะนั้นถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง” ต่อมาวันที่ 23 เมษายน 2539เจ้าหน้าที่ศาลรายงานว่าได้นำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปส่งให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว ปรากฏว่าส่งไม่ได้เพราะหาบ้านไม่พบดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์แถลงภายใน 7 วันนับแต่วันส่งไม่ได้ในวันเดียวกับวันที่โจทก์ยื่นฟ้อง และตามแบบพิมพ์ท้ายคำขอท้ายฟ้องซึ่งทนายโจทก์ผู้รับมอบอำนาจลงลายมือชื่อโจทก์มีข้อความว่า “ข้าพเจ้าได้ยื่นสำเนาคำฟ้องโดยข้อความถูกต้องเป็นอย่างเดียวกันมาด้วยสองฉบับ และรอฟังคำสั่งอยู่ ถ้าไม่รอให้ถือว่าทราบแล้ว” จึงต้องถือว่าโจทก์ได้ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นให้แถลงภายใน 7 วัน นับแต่วันส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์นำส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 2 ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลชั้นต้น แต่โจทก์กระทำเพียงเสียค่าธรรมเนียมในการส่งหมายให้จำเลยที่ 2 เท่านั้นมิได้นำส่งเอง โจทก์จึงมีหน้าที่ติดตามขวนขวายให้ได้ทราบผลการส่งหมายเอง ไม่จำเป็นที่ศาลจะต้องแจ้งผลการส่งหมายให้โจทก์ทราบอีก เมื่อโจทก์เพิกเฉยมิได้แถลงว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด จึงถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2)
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 และคำสั่งศาลชั้นต้นลงวันที่ 14 มิถุนายน 2539 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปสำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2