แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
หนี้ที่โจทก์นำมาเป็นมูลฟ้องคดีล้มละลายเป็นหนี้ตามสัญญากู้เงิน สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี สัญญารับรองวงเงินโดยออกตั๋วสัญญาใช้เงิน กับหนี้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินพร้อมดอกเบี้ย เป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้แน่นอนที่ฟ้องเป็นคดีล้มละลายได้โดยไม่จำต้องฟ้องเป็นคดีแพ่ง หรือหากฟ้องเป็นคดีแพ่งแล้วให้ศาลในคดีแพ่งมีคำพิพากษาก่อน เพราะ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 (3) บัญญัติเพียงว่า หนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนไว้โดยแน่นอน มิได้บัญญัติว่า หนี้นั้นศาลจะต้องมีคำพิพากษากำหนดจำนวนให้แน่นอนเสียก่อน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้งสิทธิตามสัญญาสินเชื่อของจำเลยทั้งสิบจากบริษัทเงินทุนธนชาติ จำกัด (มหาชน) ที่ทำสัญญาซื้อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จากธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ จำกัด (มหาชน) ที่จำเลยทั้งสิบเป็นหนี้ธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ จำกัด (มหาชน) ประเภทหนี้เงินกู้โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้กู้และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 6277, 37097 และ 37106 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกัน นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชี หนี้ตามหนังสือรับรองวงเงินโดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 2106, 5076, 9824, 9918, 9962, 12277, 12479 และ 14505 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกัน และจำเลยที่ 1 เป็นหนี้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงิน จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้เงินกู้เป็นต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวน 126,496,493.84 บาท หนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวน 38,436,233.65 บาท หนี้ตามหนังสือรับรองวงเงินร่วมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวน 155,363,287.67 บาท และหนี้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวน 83,885,465.77 บาท คิดถึงวันฟ้องรวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 404,181,480.93 บาท จำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ในฐานะผู้ค้ำประกันและผู้จำนองต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ โจทก์ตีราคาหลักประกันตามฟ้องเป็นเงิน 84,705,150 บาท เมื่อนำไปหักจำนวนหนี้ดังกล่าวแล้วจำเลยทั้งสิบจึงเป็นหนี้โจทก์ ซึ่งอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่น้อยกว่า 2,000,000 บาท สำหรับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลและไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา ก่อนฟ้องโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสิบชำระหนี้แต่ไม่ชำระ จำเลยทั้งสิบมีทรัพย์สินไม่พอกับหนี้สิน จำเลยทั้งสิบจึงเป็นบุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสิบเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งสิบเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยที่ 1 ไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 ถึงที่ 9 ไม่ยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 5 และที่ 10 ให้การว่า จำเลยที่ 5 และที่ 10 ทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้จำนวน 65,000,000 บาท แต่โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะก่อตั้งบริษัทเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากการฟ้องร้องคดีจึงมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามกฎหมาย และขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตกเป็นโมฆะ โจทก์สามารถฟ้องบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้แต่กลับมาฟ้องคดีล้มละลายเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องยังไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 10 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตและจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 10 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันฟังยุติได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามสัญญากู้เงิน สัญญาเบิกเงินเกินบัญชี สัญญาหนังสือรับรองวงเงินร่วม และหนี้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงิน โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม อีกทั้งจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 6277, 37097 และ 37106 ตำบลบึงบอน (คลอง 8 ออก) อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี (ธัญบุรี) และที่ดินโฉนดเลขที่ 2106, 5076, 9818, 9962, 12277, 12479 และ 14504 ตำบลบางเตย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้จำเลยที่ 1 โดยมีข้อตกลงว่าหากบังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ยอมให้ยึดทรัพย์สินอื่นออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ได้จนครบถ้วนตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.42 เมื่อครบกำหนดเวลาที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องชำระหนี้ดังกล่าว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้ดังกล่าว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว แต่ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ ตามเอกสารหมาย จ.46 ถึง จ.55 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดจะพึงยึดมาชำระหนี้ได้อีก ถึงวันฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีหนี้ค้างชำระต่อโจทก์เป็นต้นเงิน 212,376,160.59 บาท ดอกเบี้ย 191,805,320.34 บาท รวมเป็นเงิน 404,181,480.93 บาท โจทก์ได้ตีราคาหลักประกันของจำเลยที่ 2 เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 46,061,400 บาท เมื่อหักกับหนี้ดังกล่าวแล้วจำเลยที่ 2 ยังคงเป็นหนี้โจทก์เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท ตามสำเนาบัญชีกำหนดราคาทุนทรัพย์ที่ดินและสำเนารายงานการประเมินราคาทรัพย์สินเอกสารหมาย จ.68 หนี้ที่โจทก์นำมาเป็นมูลฟ้องขอให้ล้มละลาย ธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ จำกัด (มหาชน) ได้ฟ้องจำเลยทั้งสิบต่อศาลแพ่งตามคดีหมายเลขดำที่ ธ.23278/2542 คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่งยังไม่มีคำพิพากษาโจทก์นำมูลหนี้ดังกล่าวมาฟ้องเป็นคดีนี้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการเดียวว่าหนี้ที่โจทก์นำมาเป็นมูลฟ้องขอให้ล้มละลายเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนหรือไม่ เห็นว่า หนี้โจทก์นำมาเป็นมูลฟ้องคดีล้มละลายเป็นหนี้ตามสัญญากู้เงิน สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี สัญญารับรองวงเงินโดยออกตั๋วสัญญาใช้เงิน กับหนี้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินโดยออกตั๋วสัญญาใช้เงิน กับหนี้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินพร้อมดอกเบี้ย เป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้แน่นอนที่ฟ้องเป็นคดีล้มละลายได้โดยไม่จำต้องฟ้องเป็นคดีแพ่ง หรือให้ศาลในคดีแพ่งมีคำพิพากษาก่อนอย่างใด เพราะพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 (3) บัญญัติเพียงว่า หนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนไว้โดยแน่นอน มิได้บัญญัติว่าหนี้นั้นศาลจะต้องมีคำพิพากษากำหนดจำนวนให้แน่นอนเสียก่อนแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตราบใดที่ศาลแพ่งยังมิได้มีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสิบร่วมกันรับผิดชำระหนี้ตามฟ้องให้แก่โจทก์จำนวนหนี้จึงยังไม่แน่นอน เพราะศาลแพ่งอาจพิพากษายกฟ้องหรือพิพากษาให้จำเลยทั้งสิบร่วมกันรับผิดในหนี้ที่พิพาทไม่เต็มตามฟ้องโจทก์ก็เป็นได้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ดังนั้นหนี้ที่โจทก์นำมาเป็นมูลฟ้องขอให้ล้มละลายจึงเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนแล้ว คดีตามคำฟ้องโจทก์ ข้อเท็จจริงได้ความจริงตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 หรือ มาตรา 10 แล้ว และไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ล้มละลาย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร.