คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 471/2522

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม 2511 ยกเลิก พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ 2479 ในส่วนที่เกี่ยวกับเวชกรรมเหตุผลในการตรากฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรม เพื่อแยกควบคุมสาขาเวชกรรมโดยเฉพาะต่างหากจากการประกอบโรคศิลปะสาขาอื่นเมื่อปรากฏตามฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ สาขาเวชกรรม แต่จำเลยกระทำการประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันสาขาเวชกรรม จำเลยจึงไม่ได้ประกอบโรคศิลปะสาขาอื่นผิดไปจากสาขาที่จำเลยได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ 2479 มาตรา 16 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2511 มาตรา 6 ที่โจทก์ขอให้ลงโทษ การที่จำเลยประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบัน สาขาเวชกรรมชั้นหนึ่งโดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2511 มาตรา 21ซึ่งศาลจะลงโทษจำเลยตามบทกฎหมายนี้ไม่ได้เพราะเกินคำขอ ต้องยกฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2520 เวลากลางวัน จำเลยเป็นผู้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตจากคณะกรรมการประกอบโรคศิลปะให้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ สาขาเวชกรรม มีสิทธิบำบัดโรคและปรุงหรือตั้งยาให้คนเจ็บไข้ได้เฉพาะตามหลักซึ่งผู้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณใช้สืบกันมาแต่จำเลยบังอาจบำบัดโรคโดยการฉีดยาเข้าร่างกายของนายกลับ เรื่องราย ผู้ป่วย 3 เข็ม อันเป็นการประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันสาขาเวชกรรมชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นการประกอบโรคศิลปะในสาขาอื่นที่จำเลยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเหตุเกิดที่ตำบลคลองข่อย อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช 2479 มาตรา 16, 21พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2509 มาตรา 6พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2511 มาตรา 6กฎกระทรวงมหาดไทย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2479 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช 2479 มาตรา 16, 21 พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2509 มาตรา 6 พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2511 มาตรา 6 กฎกระทรวงหมาดไทย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2479 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก6 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า ขณะจำเลยกระทำผิดได้มีพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2511 ยกเลิกพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช 2479 จึงลงโทษจำเลยตามฟ้องไม่ได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่าพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2511ยกเลิกพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช 2479 ในส่วนที่เกี่ยวกับเวชกรรม เหตุผลในการตรากฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรมเพื่อต้องการแยกการประกอบวิชาชีพสาขาเวชกรรมออกไปควบคุมโดยเฉพาะต่างหากจากการควบคุมการประกอบโรคศิลปะสาขาอื่น ซึ่งมีอีกหลายสาขาดังที่พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช 2479 มาตรา 4กำหนดไว้ ปรากฏตามฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ สาขาเวชกรรม แต่จำเลยกระทำการประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบัน สาขาเวชกรรม จำเลยจึงไม่ได้ประกอบโรคศิลปะสาขาอื่นผิดไปจากสาขาที่จำเลยได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต ตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช 2479 มาตรา 16 ที่แก้ไขโดยพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2511 มาตรา 6ที่โจทก์ ขอให้ลงโทษการที่จำเลยประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบัน สาขาเวชกรรมชั้นหนึ่งโดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2511 มาตรา 21 แต่ศาลจะลงโทษจำเลยตามบทกฎหมายนี้ไม่ได้เพราะเกินคำขอ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคต้น ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยต่อไป การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามบทกฎหมายที่โจทก์ฟ้อง ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยมาไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา

พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

Share