แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
รถยนต์ของโจทก์ที่2เกิดเพลิงไหม้หลังจากถูกนำมาเก็บรักษาไว้ที่สถานีตำรวจเพียงระยะเวลาไม่ถึง1ชั่วโมงหลังเกิดเหตุรถยนต์ชนกันก็ตามแต่นับจากขณะเกิดเหตุจนถึงรถยนต์คันเกิดเหตุเกิดเพลิงไหม้ก็ยังไม่เกิน1ชั่วโมงซึ่งเป็นระยะเวลาสั้นๆสำหรับการลากจูงรถยนต์ของโจทก์ที่2มาเก็บไว้ที่สถานีตำรวจก็ไม่ปรากฏว่าเป็นการลากจูงที่ผิดต่อระเบียบเจ้าพนักงานประการใดทั้งก่อนเกิดเหตุเพลิงไหม้ไม่มีการเปิดฝากระโปรงหน้ารถยนต์ของโจทก์ที่2แสดงให้เห็นว่าก่อนเกิดเหตุเพลิงไหม้ไม่มีผู้ใดแตะต้องเครื่องยนต์ของรถยนต์ของโจทก์ที่2ทั้งตลอดเวลาที่ทำการลากจูงซึ่งรถต้องเคลื่อนไหวดังนั้นไม่ว่าจะมีการถอดขั้วแบตเตอรี่รถยนต์ของโจทก์ที่2ก่อนลากจูงหรือไม่ก็ตามการลากจูงรถยนต์เช่นนั้นจึงมิใช่สาเหตุโดยตรงที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่ตัวรถตามพฤติการณ์ดังกล่าวย่อมฟังได้ว่าเหตุเพลิงไหม้มิได้เกิดจากการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติของเจ้าพนักงานตำรวจแต่เกิดจากระบบของเครื่องยนต์และสายไฟฟ้าในรถได้รับอุบัติเหตุจากรถชนกันอย่างรุนแรงเหตุเพลิงไหม้รถยนต์ของโจทก์ที่2จึงเป็นผลโดยตรงจากความประมาทของลูกจ้างจำเลยที่1ที่ขับรถยนต์โดยสารชนรถยนต์ของโจทก์ที่2
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนศาลชั้นต้นได้รวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด และนายธีระ หลีกเมฆ ว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพและกรมตำรวจ ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชดใช้เงินจำนวน 845,000 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน800,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้เงินจำนวน 511,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 476,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 และให้จำเลยที่ 1ชดใช้ค่าเสียหายเพิ่มอีกเป็นเงิน 66,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 4,950 บาทรวมเป็นเงิน 70,950 บาท และดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันของต้นเงิน 66,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2
จำเลยที่ 1 ให้การทั้งสองสำนวนว่า เหตุรถชนกันมิได้เกิดจากความประมาทของผู้ขับรถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน11-6247 กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 1 แต่เกิดจากความประมาทของโจทก์ที่ 2 ผู้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 3ช-9676 กรุงเทพมหานครที่ขับรถด้วยความเร็วสูงและล้ำเข้าไปในช่องเดินรถยนต์โดยสารของจำเลยที่ 1 ผู้ขับรถยนต์โดยสารซึ่งพยายามหักหลบแล้วแต่ไม่พ้นความเสียหายของรถยนต์โจทก์ที่ 2 ที่เกิดจากการชนมีไม่เกิน150,000 บาท ส่วนความเสียหายที่เกิดจากถูกเพลิงไหม้หมดทั้งคันมิใช่เป็นผลโดยตรงจากการที่รถยนต์ชนกัน จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดเมื่อโจทก์ที่ 1 ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 2เต็มตามที่เอาประกันภัยไว้เป็นเงิน 800,000 บาทแล้ว โจทก์ที่ 2ก็ไม่ได้รับความเสียหายในส่วนของราคารถยนต์ของโจทก์ที่ 2 อีกโจทก์ที่ 1 ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 2 เต็มตามสัญญาประกันภัยจำนวน 800,000 บาท ทั้งที่รถยนต์ของโจทก์ที่ 2 ได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุเพียง 150,000 บาทนั้น เป็นการไม่ชอบด้วยสัญญาประกันภัย โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจเข้ารับช่วงสิทธิของโจทก์ที่ 2 ในความเสียหายส่วนที่เกิน 150,000 บาทส่วนความเสียหายเกี่ยวกับเครื่องอุปกรณ์รถยนต์ของโจทก์ที่ 2 นั้นโจทก์ที่ 2 ไม่ได้รับความเสียหายจริง และมิได้มีราคาสูงตามที่อ้างฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การทั้งสองสำนวนว่า ความเสียหายของรถยนต์โจทก์ที่ 2 เกิดจากความประมาทของผู้ขับรถยนต์จำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 โดยร้อยตำรวจโทวรเทพได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการจัดหาผู้ทำการยกรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 ไปเก็บรักษาและเก็บรักษารถยนต์ของโจทก์ที่ 2 ไว้ด้วยความระมัดระวังแล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 800,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่9 สิงหาคม 2532 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 497,165 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2533 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 สำหรับจำเลยที่ 2
จำเลย ที่ 1 ทั้ง สอง สำนวน อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ที่ 1 ทั้ง สอง สำนวน ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อแรกมีว่าเหตุเพลิงไหม้รถยนต์ของโจทก์ที่ 2 เป็นผลโดยตรงจากความประมาทของลูกจ้างจำเลยที่ 1 ที่ขับรถยนต์โดยสารชนรถยนต์ของโจทก์ที่ 2หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อเกิดเหตุรถยนต์ชนกันเวลาประมาณ20 นาฬิกา แล้วรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 เกิดเพลิงไหม้หลังจากถูกนำมาเก็บรักษาไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลลุมพินีเพียงระยะเวลาไม่ถึง1 ชั่วโมง และนับจากขณะเกิดเหตุจนถึงรถยนต์คันเกิดเหตุเกิดเพลิงไหม้ก็ยังไม่เกิน 1 ชั่วโมง ซึ่งเป็นระยะเวลาสั้น ๆ หลังการทำละเมิด สำหรับการลากจูงรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 มาเก็บไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลลุมพินี จำเลยที่ 1 ก็มิได้นำสืบโต้เถียงว่าเป็นการลากจูงที่ผิดต่อระเบียบหรือทางปฏิบัติของเจ้าพนักงานประการใดแม้แต่คำเบิกความของนายดาบตำรวจกุศล พลอยกระจ่างที่จำเลยที่ 1 อ้างมาสนับสนุนฎีกาของจำเลยที่ 1 ก็เป็นพยานของจำเลยที่ 2 และเบิกความว่าวิธีการยกรถที่เกิดอุบัติเหตุนายดาบตำรวจกุศลปฏิบัติตามหลักการและวิชาการเดียวกันมาตลอดก่อนหน้านี้ไม่เคยมีเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน ส่วนเหตุการณ์ก่อนเกิดเพลิงไหม้ทางพิจารณาที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 1 นำสืบไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดเข้าไปแตะต้องเครื่องยนต์ของรถยนต์โจทก์ที่ 2ทั้งฎีกาของจำเลยที่ 1 ก็อ้างคำเบิกความของนายดาบตำรวจกุศลเป็นเหตุสนับสนุนว่า ก่อนเกิดเหตุเพลิงไหม้ไม่มีการเปิดฝากระโปรงหน้ารถยนต์ของโจทก์ที่ 2 แสดงให้เห็นว่าก่อนเกิดเหตุเพลิงไหม้ไม่มีผู้ใดแตะต้องเครื่องยนต์ของรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 ดังนั้นแม้จะมีการถอดขั้วแบตเตอรี่รถยนต์ของโจทก์ที่ 2 ก่อนลากจูงดังจำเลยที่ 1ฎีกาหรือไม่ก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้นำสืบว่าการไม่กระทำเช่นนั้นเป็นการผิดระเบียบหรือทางปฏิบัติประการใดบ้าง ทั้งตลอดเวลาที่ทำการลากจูงซึ่งรถต้องเคลื่อนไหวก็มิได้เกิดเพลิงไหม้ คงเกิดขึ้นภายหลังที่รถจอดทิ้งไว้ การลากจูงรถยนต์เช่นนั้นจึงมิใช่สาเหตุโดยตรงที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่ตัวรถ ตามพฤติการณ์ดังกล่าวย่อมฟังได้ว่าเหตุเพลิงไหม้มิได้เกิดจากการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติของเจ้าพนักงานตำรวจแต่เกิดจากระบบของเครื่องยนต์และสายไฟฟ้าในรถได้รับอุบัติเหตุจากรถชนกันอย่างรุนแรงเหตุเพลิงไหม้รถยนต์ของโจทก์ที่ 2 จึงเป็นผลโดยตรงจากความประมาทของลูกจ้างจำเลยที่ 1 ที่ขับรถยนต์โดยสารชนรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิด ฎีกาอื่น ๆ ของจำเลยที่ 1ในข้อนี้เป็นข้อปลีกย่อยไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อสุดท้ายมีว่าค่าเสียหายของโจทก์ที่ 2 เกี่ยวกับราคารถ เครื่องเสียงล้อแม็กพร้อมยางและแท่นชาร์จแบตเตอรี่มีเพียงใด ศาลฎีกาพิจารณาแล้วกำหนดเป็นค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 2 ได้รับทั้งสิ้น1,090,165 บาท แต่โจทก์ที่ 1 เข้ารับช่วงสิทธิค่าเสียหายดังกล่าวเป็นจำนวน 800,000 บาท แล้ว โจทก์ที่ 2 จึงคงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายที่ยังขาดอยู่เป็นจำนวนเงิน 290,165 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน290,165 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2533 จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์