คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4702/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยเรียกเงินตามเช็คภายในกำหนดอายุความแล้วแต่ศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์ เพราะคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลโดยเชื่อคำแถลงของภรรยาจำเลยว่าได้หย่าขาดและจำเลยได้ย้ายออกจากภูมิลำเนาตามฟ้องแล้ว กรณีจึงต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 176 มีผลว่าเช็คที่ขาดอายุความระหว่างดำเนินคดี หรือจะสิ้นอายุความระหว่างหกเดือนภายหลังที่ได้พิพากษาคดีถึงที่สุด ให้ขยายอายุความออกไปถึงหกเดือนภายหลังคำพิพากษานั้น ปรากฏว่าศาลยกฟ้องคดีนั้นวันที่ 20 กันยายน2527 เช็คที่ขาดอายุความในระหว่างพิจารณาหรือเหลืออายุความไม่ถึงหกเดือนจึงขยายไปถึงวันที่ 20 มีนาคม 2528 โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องอีกเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2528 คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความและแม้จะเป็นการฟ้องที่ศาลเดิมก็ตาม เพราะมาตรา 176 ไม่มีข้อความจำกัดว่าจะต้องฟ้องต่อศาลอื่น คดีก่อนศาลจังหวัดปทุมธานียกฟ้องโดย ที่เห็นว่า ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา เป็นการยกฟ้องที่ยังมิได้วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี เมื่อปรากฏว่าจำเลยยังมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดปทุมธานี โจทก์ก็มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลจังหวัดปทุมธานีได้อีก ไม่เป็นฟ้องซ้ำ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คธนาคารกสิกรไทย สาขาสะพานควาย รวม 13 ฉบับ รวมเป็นเงิน 130,000 บาทธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้น ขอให้จำเลยชำระต้นเงินและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 142,144 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีของต้นเงิน 130,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนซึ่งโจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ศาลจังหวัดปทุมธานี และได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีถึงที่สุดแล้วฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามฟ้องแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในปัญหาข้อกฎหมายเป็นประการแรก ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ก่อนคดีนี้โจทก์ได้ฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันนี้ต่อศาลจังหวัดปทุมธานีเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 103/2527 หมายเลขแดงที่ 149/2527 ซึ่งในคดีนั้นศาลจังหวัดปทุมธานีเห็นว่าจำเลยได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาตั้งแต่ก่อนฟ้องแล้ว ศาลจังหวัดปทุมธานีไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา จึงพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่าคดีที่ศาลจังหวัดปทุมธานียกฟ้องเช่นนี้เป็นการยกฟ้องโดยมิได้วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี โจทก์ย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ แม้ต่อมาโจทก์จะนำคดีมาฟ้องต่อศาลเดียวกัน เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า จำเลยยังคงมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดปทุมธานีมิได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่อื่น โจทก์จึงมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลจังหวัดปทุมธานีนี้ได้อีก ไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย
ที่จำเลยฎีกาว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความนั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เช็คฉบับที่ 2 ที่ 4 และที่ 7 ตามฟ้องนั้น นับแต่วันออกเช็คแต่ละฉบับถึงวันฟ้องคดีนี้คือวันที่ 20 มีนาคม 2528ยังไม่พ้นเวลา 1 ปี ฟ้องโจทก์สำหรับเช็ค 3 ฉบับนี้จึงยังไม่ขาดอายุความ ส่วนอีก 10 ฉบับ ฉบับหนึ่งลงวันออกเช็คเป็นวันที่ 25พฤษภาคม 2526 และเช็คอีก 9 ฉบับก็ลงวันออกเช็คหลังฉบับดังกล่าวโจทก์ได้นำเช็คทั้ง 10 ฉบับนี้ฟ้องเรียกเงินจากจำเลยเมื่อวันที่24 พฤษภาคม 2527 ปรากฏตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 149/2527 ของศาลจังหวัดปทุมธานี จึงแสดงอยู่อย่างชัดแจ้งว่า โจทก์ฟ้องคดีนั้นภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันออกเช็คหรือวันที่ลงในเช็ค ฟ้องของโจทก์ในคดีนั้นจึงไม่ขาดอายุความ ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ในคดีนั้นเพราะคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลที่จะพิจารณาพิพากษาได้โดยหลงเชื่อคำแถลงของภริยาจำเลยว่าได้หย่าขาดและจำเลยได้ย้ายออกจากบ้านอันเป็นภูมิลำเนาตามฟ้องแล้ว แต่กลับปรากฏว่าจำเลยไม่ได้ย้ายเข้าบ้านที่ระบุไว้นั้น กรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 176 ซึ่งมีผลว่าเช็คที่ขาดอายุความลงในระหว่างดำเนินคดีดังกล่าวก็ดีหรือจะสิ้นอายุความระหว่างหกเดือน ภายหลังที่ได้พิพากษาคดีถึงที่สุดก็ดี ให้ขยายอายุความนั้นออกไปถึงหกเดือนภายหลังคำพิพากษานั้น ข้อเท็จจริงในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 149/2527ปรากฏว่าศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2527เพราะเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจศาล เช็คที่ขาดอายุความในระหว่างพิจารณาหรือเหลืออายุความไม่ถึงหกเดือนจึงขยายออกไปถึงวันที่20 มีนาคม 2528 โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2528ภายในระยะเวลาหกเดือนคดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ข้อที่จำเลยอ้างว่าบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176 จะนำมาใช้ได้เฉพาะกรณีที่โจทก์นำคดีไปฟ้องใหม่ต่อศาลอื่นนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ไม่ว่าโจทก์จะนำคดีไปฟ้องใหม่ที่ศาลใดก็ตาม ต้องอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 176 เช่นเดียวกัน เพราะมาตรา 176 ไม่มีข้อความที่จำกัดไว้ว่า จะต้องนำไปฟ้องต่อศาลอื่นจึงบังคับตามมาตรานั้น
พิพากษายืน.

Share