คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4701/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ได้ครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันตกของที่ดินโฉนดเลขที่10228ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาโดยสงบและเปิดเผยจนถึงวันที่พ.บิดาจำเลยทั้งสองร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ต่อศาลเป็นระยะเวลาเกินกว่า10ปีแล้วโจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1382 การได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทของโจทก์และการได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวด้านทิศตะวันออกของพ. โจทก์กับพ.ได้ตกลงกันให้พ. เป็นผู้ร้องขอต่อศาลขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่10228ทั้งแปลงแต่เพียงผู้เดียวโดยโจทก์จะเป็นพยานในฐานะเป็นผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่เมื่อได้กรรมสิทธิ์แล้วพ.จะโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในภายหลังต่อมาพ. ได้ร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินต่อศาลและศาลได้มีคำสั่งให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวเป็นของพ.และพ.ได้ทำหนังสือยินยอมมอบที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ดังนี้การที่ได้มีการทำหนังสือสัญญายินยอมมอบที่ดินดังกล่าวโดยระบุส่วนไว้ชัดเจนว่าให้โจทก์ได้ที่ดินทางทิศตะวันตกก็เพื่อให้โจทก์กับพ. คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทซึ่งจะมีขึ้นให้เสร็จสิ้นไปด้วยต่างยินยอมผ่อนผันให้แก่กันหากมีกรณีพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเกิดขึ้นในภายหลังว่าฝ่ายใดได้ที่ดินส่วนใดแน่ถึงแม้ข้อความในหนังสือดังกล่าวจะมิได้ระบุถึงข้อที่ว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาทไว้แต่เมื่อนำข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมาประกอบกับข้อสัญญาที่ระบุไว้แล้วถือได้ว่าหนังสือดังกล่าวเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา850โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้บังคับให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวได้เมื่อพ. บิดาจำเลยทั้งสองถึงแก่ความตายไปแล้วจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้รับมรดกที่ดินดังกล่าวและจำเลยที่1ในฐานะผู้จัดการมรดกของพ.ย่อมต้องผูกพันตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นด้วย ในการบังคับให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวนั้นปรากฏว่าเดิมจำเลยที่1ประสงค์จะโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์มาตั้งแต่แรกแต่โจทก์ไม่ยินยอมเสียภาษีอากรและค่าฤชาธรรมเนียมการโอนจึงไม่สามารถโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ได้ทำให้จำเลยที่1กลับใจไม่โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เป็นเหตุให้เกิดการฟ้องร้องเป็นคดีนี้ศาลฎีกาชอบที่จะกำหนดผู้ที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการโอนตามคำพิพากษาไว้เพื่อประโยชน์ในการจะปฏิบัติตามคำพิพากษาในชั้นบังคับคดีเมื่อการโอนที่ดินให้โจทก์ครึ่งหนึ่งในคดีนี้มีลักษณะเป็นการแบ่งแยกที่ดินของเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมสมควรให้เสียภาษีอากรค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการโอนฝ่ายละเท่าๆกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 10228 มีเนื้อที่รวม 71 ไร่44 ตารางวา เป็นกรรมสิทธิ์ของนางเยื่อ เมื่อประมาณ 30 กว่าปีมาแล้ว โจทก์กับนายพรม พี่ร่วมบิดามารดาเดียวกันได้ร่วมกันครอบครองที่ดินดังกล่าวอย่างเป็นเจ้าของโดยสงบและโดยเปิดเผยโจทก์ได้ที่ดินด้านทิศตะวันตก นายพรมได้ที่ดินด้านตะวันออก ต่อมาพ.ศ. 2529 นายพรมบอกโจทก์ว่าจะร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวทั้งแปลงเพื่อสะดวกแก่การขึ้นศาล โดยมีข้อตกลงจะแบ่งที่ดินให้โจทก์ครึ่งหนึ่งทางทิศตะวันตก ครั้นเมื่อนายพรมยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ต่อศาลแล้วศาลมีคำสั่งให้ที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของนายพรมโดยการครอบครองปรปักษ์และในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2529 นายพรมได้ทำสัญญาตกลงแบ่งที่ดินให้โจทก์ครึ่งหนึ่งเพื่อระงับข้อพิพาทที่มีอยู่หรือจะมีให้เสร็จสิ้นไป ต่อมานายพรมถึงแก่ความตายจำเลยที่ 1 บุตรของนายพรมในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการโอนที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 น้องสาวจำเลยที่ 1 โดยจำเลยทั้งสองรู้ถึงการที่โจทก์ครอบครองที่ดินทางด้านทิศตะวันตกตามที่นายพรมทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์โจทก์จึงทวงถามที่ดินส่วนของโจทก์จากจำเลยทั้งสอง ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ยืนยันที่จะแบ่งที่ดินให้โจทก์ครึ่งหนึ่งโดยอ้างว่าเป็นเจตนาของนายพรม หลังจากจำเลยที่ 2 ได้ทำหนังสือยืนยันดังกล่าวแล้วโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติตาม แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้เพิกถอนการโอนระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่10228 ให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งทางด้านทิศตะวันตก หากจำเลยที่ 1ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยที่ 1ไปให้ความยินยอมในการแบ่งแยกที่ดินดังกล่าว หากไม่ไป ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิในที่ดินโฉนดเลขที่10228 และไม่อยู่ในฐานะที่จะร้องขอกรรมสิทธิ์ได้ สัญญาเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 ไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความเพราะไม่มีข้อความใดระบุให้ระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 10228ระหว่างโจทก์กับนายพรมเพราะขณะทำสัญญาโจทก์กับนายพรมไม่มีข้อพิพาทกัน นายพรมมีเจตนายกที่ดินทางทิศตะวันตกให้โจทก์แต่การยกให้ไม่ได้จดทะเบียนจึงไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้บังคับตามสัญญาขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 10228 ระหว่างจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายพรมผู้โอนกับจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับโอน และให้จำเลยที่ 1ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ดังกล่าวให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งหากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1และให้จำเลยที่ 1 ไปให้ความยินยอมในการแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวหากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1
จำเลย ทั้ง สอง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่10228 นางเยื่อน พงษ์พิทักษ์ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ใน พ.ศ. 2502นางเยื่อได้ขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นายเชาว์ สุทธิบุตรและนายเชาว์ได้นำไปจำนองไว้แก่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัดเมื่อ พ.ศ. 2506 โจทก์และนายพรม แขวงโสภา บิดาของจำเลยทั้งสองได้ครอบครองที่ดินแปลงนี้มา โดยโจทก์ครอบครองทางด้านทิศตะวันตกซึ่งเป็นที่ดินพิพาทในคดีนี้ นายพรมครอบครองทางด้านทิศตะวันออก ต่อมานายพรมได้ร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวทั้งแปลง ศาลจังหวัดราชบุรีได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2529แสดงว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 10228 ดังกล่าวทั้งแปลงเป็นกรรมสิทธิ์ของนายพรม ผู้ร้อง หลังจากนั้นนายพรมได้ทำบันทึกเอกสารหมายจ.3 มอบที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ แต่ยังมิได้โอนกรรมสิทธิ์กันตามบันทึกดังกล่าวนายพรมถึงแก่กรรมเสียก่อน จำเลยที่ 1ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายพรมได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งแปลงให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ได้ทำบันทึกตามเอกสารหมาย จ.4 มอบที่ดินพิพาทให้แก่นางสาวภาวิณี แขวงโสภาบุตรโจทก์มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในประเด็นแรกว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้วและมีสิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 10228 ดังกล่าวให้โจทก์ครึ่งหนึ่งตามเอกสารหมายจ.3 หรือไม่ เห็นว่าโจทก์ได้ครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาตั้งแต่ พ.ศ. 2510 โดยสงบและเปิดเผยจนถึงวันที่นายพรมร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2529เป็นระยะเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 จากการได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทของโจทก์และการได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินด้านทิศตะวันตกของนายพรมดังกล่าวโจทก์ได้นำสืบว่า โจทก์กับนายพรมได้ตกลงกันให้นายพรมเป็นผู้ร้องขอต่อศาลขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 10228 ทั้งแปลงแต่เพียงผู้เดียว โดยโจทก์จะเป็นพยานในฐานะเป็นผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่ เมื่อได้กรรมสิทธิ์แล้วนายพรมจะโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในภายหลังต่อมานายพรมได้ร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินต่อศาลและศาลได้มีคำสั่งให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวเป็นของนายพรม และนายพรมได้ทำหนังสือเอกสารหมาย จ.3 ยินยอมมอบที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามข้อเท็จจริงที่รับกันดังที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้นการที่ได้มีการทำหนังสือสัญญายินยอมมอบที่ดินดังกล่าวโดยระบุส่วนไว้ชัดเจนว่าให้โจทก์ได้ที่ดินทางทิศตะวันตกก็เพื่อให้โจทก์กับนายพรม คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทซึ่งจะมีขึ้นให้เสร็จสิ้นไปด้วยต่างยินยอมผ่อนผันให้แก่กัน หากมีกรณีพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเกิดขึ้นในภายหลังว่าฝ่ายใดได้ที่ดินส่วนใดแน่ ถึงแม้ข้อความในหนังสือดังกล่าวจะมิได้ระบุถึงข้อที่ว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาทไว้แต่เมื่อนำข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมาประกอบกับข้อสัญญาที่ระบุไว้แล้วเห็นได้ว่าเจือสมกับข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบมา ฟังได้ว่าข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.3 เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้บังคับให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวได้เมื่อนายพรมบิดาจำเลยทั้งสองถึงแก่ความตายไปแล้ว จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้รับมรดกที่ดินดังกล่าวและจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายพรมย่อมต้องผูกพันตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นด้วย แต่ในการบังคับให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวนั้น เห็นว่า เดิมจำเลยที่ 1 ประสงค์จะโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์มาตั้งแต่แรก แต่โจทก์ไม่ยินยอมเสียภาษีอากรและค่าฤชาธรรมเนียมการโอน จึงไม่สามารถโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ได้ทำให้จำเลยที่ 1 กลับใจไม่โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ เป็นเหตุให้เกิดการฟ้องร้องเป็นคดีนี้จึงเห็นเป็นการสมควรกำหนดผู้ที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการโอนตามคำพิพากษาไว้เพื่อประโยชน์ในการจะปฏิบัติตามคำพิพากษาในชั้นบังคับคดี โดยเห็นว่าการโอนที่ดินให้โจทก์ครึ่งหนึ่งในคดีนี้มีลักษณะเป็นการแบ่งแยกที่ดินของเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมสมควรให้เสียภาษีอากร ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการโอนฝ่ายละเท่า ๆ กัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษาให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 2 และให้โอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ชอบแล้ว
พิพากษายืน โดยให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 เสียภาษีอากรค่าฤชาธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและค่าใช้จ่ายอื่นเกี่ยวกับการโอนฝ่ายละครึ่ง

Share