แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ข้อตกลงจ้างเหมาแก้ไขต่อเติมบ้านที่โจทก์ทำกับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาจ้างทำของ แม้ไม่ทำเป็นเอกสารก็สมบูรณ์หาจำต้องทำเป็นหนังสือไม่ เมื่อโจทก์ตกลงกับจำเลยที่ 1 ด้วยวาจาที่จังหวัดนครสวรรค์ สัญญาย่อมเกิดขึ้นที่จังหวัดนครสวรรค์ทั้งตามฟ้องก็ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ โจทก์จึงต้องฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลจังหวัดนครสวรรค์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 118,390 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันครบกำหนดชำระวันที่ 21 สิงหาคม 2546 เป็นต้นไปจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 7 วัน คิดเป็นเงิน 170 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 118,560 บาท
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 95,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 95,000 บาท นับแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2546 จนกว่าจะชำระแก่โจทก์เสร็จ กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในศาลอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความรวมเป็นเงิน 2,000 บาท
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างบ้านบนที่ดินโฉนดเลขที่ 19072 ตำบลวัดไทร อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ในราคา 1,100,000 บาท โจทก์เริ่มก่อสร้างเดือนมกราคม 2546 และจำเลยทั้งสองว่าจ้างโจทก์ต่อเติมบ้านชั้นล่างและชั้นบนตกลงราคาที่ต่อเติมเป็นเงิน 175,000 บาท จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าก่อสร้างให้โจทก์ครบแล้วเป็นเงิน 1,100,000 บาท โจทก์ได้ทำการแก้ไขต่อเติมบ้านเป็นบางส่วน ต่อมาเดือนมิถุนายน 2546 โจทก์หยุดดำเนินการก่อสร้าง หลังจากนั้นโจทก์บอกเลิกสัญญากับจำเลยทั้งสอง คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อแรกว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลจังหวัดธัญบุรีชอบหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่า โจทก์เริ่มลงมือก่อสร้างบ้านให้จำเลยทั้งสองในวันที่ 16 มกราคม 2546 ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน แล้วเสร็จเดือนมีนาคม 2546 จำเลยทั้งสองชำระเงินให้โจทก์แล้วตามใบเสร็จรับเงิน ต่อมาจำเลยทั้งสองขอแก้ไขต่อเติมบ้านนอกจากสัญญาเดิมโดยอ้างว่าแคบเกินไปและขอขยายจากเดิมโดยการแก้ไขต่อเติมนี้จำเลยที่ 1 ได้โทรศัพท์มาหาโจทก์ ซึ่งอยู่ที่จังหวัดปทุมธานีในส่วนที่แก้ไขตกลงราคากันเป็นเงิน 175,000 บาท ไม่มีการทำหลักฐานเป็นหนังสือส่วนจำเลยทั้งสองนำสืบว่า จำเลยทั้งสองว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างบ้าน เริ่มก่อสร้างเมื่อสิ้นเดือนมกราคม 2546 ตกลงกันว่าจะสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือนครึ่งไม่เกิน 4 เดือนขณะทำการก่อสร้างจำเลยที่ 1 พักอาศัยอยู่ที่กรุงเทพมหานคร นางสุปราณีพี่สาวจำเลยที่ 1 ปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้วเป็นผู้ควบคุมดูแลการก่อสร้าง ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง โจทก์และนางสุปราณีพูดคุยกันเรื่องขอต่อเติมในส่วนของหลังบ้านในนามของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 กลับไปบ้านที่จังหวัดนครสวรรค์จึงทราบว่ามีการตกลงกันในส่วนที่ต่อเติมเป็นเงิน 175,000 บาท โดยไม่ได้ทำเอกสารกันไว้ ซึ่งการตกลงดังกล่าวทำขึ้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ในส่วนที่มีการต่อเติมนั้น โจทก์ดำเนินการก่อสร้างประมาณ 60 ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ โดยการก่อสร้างตามสัญญาเดิมและการแก้ไขต่อเติมนี้ได้มีการก่อสร้างพร้อมกันไปทีเดียว เห็นว่า ที่โจทก์เบิกความว่าจำเลยที่ 1 โทรศัพท์หาโจทก์และว่าจ้างโจทก์ให้ทำการต่อเติมบ้านนั้น ก็คงมีแต่ตัวโจทก์ปากเดียวเบิกความลอยๆ ซึ่งโจทก์ต้องนำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้โทรศัพท์ติดต่อว่าจ้างโจทก์จริง โดยโจทก์สามารถหาเอกสารมานำสืบประกอบ เช่น บันทึกหมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อกัน วันเวลาที่โทรแต่โจทก์หาได้ทำเช่นนั้นไม่ และการตกลงต่อเติมบ้านต้องมีรายละเอียดของการต่อเติมแบบแปลนบ้านในส่วนที่ต่อเติม ราคาที่เพิ่มขึ้นรวมทั้งวัสดุที่ใช้ในการต่อเติม ซึ่งต้องมีการพูดคุยกันและต้องมาดูบ้านที่ก่อสร้างตามสัญญาเดิมด้วยว่าจะต่อเติมตรงไหน การพูดตกลงทางโทรศัพท์จึงไม่น่าจะทำได้ ประกอบกับเมื่อพิจารณารายละเอียดของการต่อเติมบ้านตามที่โจทก์นำสืบแล้ว เป็นการต่อเติมทั้งชั้นบนและชั้นล่าง ต่อเติมทั้งด้านหน้าและด้านหลังของบ้าน มีการขยายเทอเรซหน้าบ้านด้านละ 1 เมตร ด้านกว้าง 4 เมตร ซึ่งเป็นการเพิ่มความยาวของคาน มีการเทคอนกรีตเป็นคานยาว 6 เมตร ลงเข็มยาว 1.50 เมตร จำนวน 4 ต้นต่อหลุม ขุดต่อม่อ 2 หลุม เสาคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ต้น ด้านหลังบ้านก็ขยายเพิ่มอีก 5 เมตร ขุดตอม่อลงเข็มหกเหลี่ยมรวม 5 ต้น หล่อเสาคอนกรีตเสริมเหล็ก 1 ต้น ก่ออิฐฉาบปูนเพิ่ม มีการแก้ไขทั้งด้านขวาและด้านซ้ายของตัวบ้าน บันไดทางขึ้นขยายเพิ่มอีก 1 เมตร 80 เซนติเมตร บันไดชั้นล่างมีการก่ออิฐฉาบปูนเพิ่มและมีการแก้ไขชั้นบนด้านระเบียงหน้าบ้านขยายออกทั้งสองด้านเพิ่มจากเดิม ในส่วนของห้องนอนเดิมไม่มี ต้องขยายคานด้านข้างออกไปรวม 5 เมตร เทพื้นคอนกรีต ก่ออิฐ เทเสาเพิ่มอีก เพิ่มห้องน้ำ ขยายด้านข้างบ้านอีก 2 เมตร และ 3 เมตร รวม 5 เมตร เพิ่มในส่วนหลังคา ต้องมีการมุงหลังคาเพิ่มออกไปจากเดิมซึ่งไม่มีหลังคา มีความยาว 12 เมตร ชั้นสองส่วนของบันไดทางขึ้นมีการแก้ไขเพิ่มเติมความยาวตลอดแนว (คานบันได) ซึ่งเดิมไม่มี ยาว 7 เมตร 40 เซนติเมตร มีการก่ออิฐ ฉาบปูนเพิ่ม เปลี่ยนบันไดไม้เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กขยายชั้นสอง ซึ่งถือได้ว่าเป็นเรื่องการแก้ไขต่อเติมบ้านเพิ่มขึ้นมากหลายรายการ ไม่น่าเป็นไปได้ที่จะปลูกสร้างบ้านเสร็จแล้วมาต่อเติมภายหลัง แต่น่าจะเป็นการต่อเติมระหว่างที่กำลังก่อสร้างบ้านตามสัญญาเดิมยังไม่แล้วเสร็จตามทางนำสืบของจำเลย และตามใบเสร็จรับเงินใบสุดท้ายเป็นใบเสร็จรายการเบิกงวดงานงวดที่ 8 ลงวันที่ 5 พฤษภาคม 2546 แสดงว่า โจทก์ก่อสร้างบ้านยังไม่แล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม ซึ่งต่อมาเดือนมิถุนายน 2546 โจทก์ก็หยุดก่อสร้าง กรณีน่าเชื่อว่าการต่อเติมบ้านดังกล่าวเป็นเรื่องที่โจทก์ตกลงกับจำเลยที่ 1 ในระหว่างที่โจทก์ก่อสร้างบ้านตามสัญญาเดิม อันเป็นการตกลงกันที่จังหวัดนครสวรรค์ หาใช่ว่าจำเลยที่ 1 โทรศัพท์ไปหาโจทก์ตามที่โจทก์อ้างไม่ เมื่อข้อตกลงจ้างเหมาแก้ไขต่อเติมบ้านที่โจทก์ทำกับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาจ้างทำของ แม้ไม่ทำเป็นเอกสารก็สมบูรณ์หาจำต้องทำเป็นหนังสือไม่และโจทก์ตกลงกับจำเลยที่ 1 ด้วยวาจาที่จังหวัดนครสวรรค์ สัญญาย่อมเกิดขึ้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ทั้งตามฟ้องก็ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์โจทก์จึงไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้องที่ศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดธัญบุรี) เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วฎีกาข้ออื่นของจำเลยทั้งสองนอกจากนี้จึงไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ