คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4684/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 วรรคสองบังคับให้ผู้ร้องขอให้พิจารณาใหม่จะต้องกล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งเหตุที่คู่ความได้ขาดนัด และข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาด ของศาล และในกรณีที่ยื่นคำขอล่าช้ากว่ากำหนดก็ต้องกล่าวถึงเหตุที่ยื่นคำร้องล่าช้ามาด้วย การขอให้พิจารณาใหม่จึงจำเป็นที่จำเลยผู้ร้องขอต้องตรวจสำนวนคดีเพื่อทราบ คำฟ้องและกระบวนพิจารณาคดีตลอดจนคำพิพากษาของศาลเสียก่อน แต่เมื่อจำเลยยังไม่ได้ตรวจสำนวนหรือเห็นคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำเลยก็ไม่อาจทราบคำฟ้อง และกระบวนพิจารณาตลอดจนคำพิพากษาของศาลที่จะทำคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลชั้นต้นได้ เท่ากับจำเลยไม่สามารถที่จะปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ เมื่อตามคำร้องของจำเลยอ้างว่าเจ้าพนักงานศาลยังหาสำนวนไม่พบ ทำให้จำเลยไม่สามารถตรวจดูสำนวนคดี ตลอดจนไม่สามารถคัดหรือถ่ายคำฟ้องและคำพิพากษาของศาลได้ กรณีตามคำร้องย่อมถือได้แล้วว่าเป็นพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้และเมื่อใดที่จำเลยได้ตรวจสำนวนคดีทราบคำฟ้องคำพิพากษาตลอดจนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นนั้นแล้ว จึงจะถือได้ว่าพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้นั้นสิ้นสุดลงในวันนั้นเมื่อจำเลยได้รับเอกสารที่ขอถ่ายจากศาลชั้นต้นในวันที่ 29พฤษภาคม 29 พฤษภาคม 2540 ก็ต้องถือว่าพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้สิ้นสุดลงคือนับแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2540เป็นต้นไป จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่เมื่อวันที่ 10มิถุนายน 2540 จึงยังไม่ล่วงระยะเวลา 15 วันตามที่กฎหมายบัญญัติบังคับไว้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินตามสัญญากู้ยืมและหนังสือสัญญาจำนอง จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 4,751,437.87 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ18.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,993,223.11 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 9435 พร้อมสิ่งปลูกสร้างขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่
ศาลชั้นต้นสั่งว่า ส่งคำบังคับให้จำเลยที่ 1 โดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2540 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอพิจารณาใหม่พ้นกำหนดระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 208 วรรคหนึ่ง ให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปรากฏตามสำนวนและคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยที่ 1 ว่าภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นออกคำบังคับและส่งคำบังคับคดีโดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2540 แล้วต่อมาวันที่ 7 พฤษภาคม 2540 ขณะที่จำเลยที่ 1 กลับไปร่วมงานบุญที่บ้านจึงได้ทราบการปิดคำบังคับของศาล จำเลยที่ 1 ให้ทนายความไปยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอตรวจสำนวนและถ่ายเอกสารเกี่ยวกับคดีในวันที่ 8 พฤษภาคม 2540 แต่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานของศาลค้นหาสำนวนไม่พบ ทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับเอกสารที่ขอถ่ายล่าช้าโดยได้รับเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2540 จากนั้น จำเลยที่ 1จึงได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ในวันที่ 10 มิถุนายน 2540มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1จะอ้างพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้และยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ในคดีนี้ได้หรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำแถลงขอตรวจสำนวนและขอรับเอกสารที่ขอถ่ายหลายครั้ง แต่พนักงานของศาลไม่อาจค้นหาสำนวนได้ เพิ่งค้นพบสำนวนและถ่ายเอกสารได้ในวันที่ 29พฤษภาคม 2540 ถือได้ว่าพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่เมื่อพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้สิ้นสุดลงศาลชั้นต้นควรรับคำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยที่ 1 ไว้ไต่สวนนั้นพิเคราะห์แล้ว มีข้อที่ต้องวินิจฉัยก่อนว่าการที่จำเลยที่ 1กล่าวอ้างว่าทราบคำบังคับในวันที่ 7 พฤษภาคม 2540 นั้นถือได้หรือไม่ว่าพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ดังกล่าวได้สิ้นสุดลงแล้ว ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่เสียภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2540 เป็นต้นไป ปัญหานี้ศาลฎีกาพิเคราะห์ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 208 วรรคสองแล้ว ปรากฏว่าบทบัญญัติดังกล่าวได้บังคับให้ผู้ร้องขอให้พิจารณาใหม่จะต้องกล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งเหตุที่คู่ความได้ขาดนัดและข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลและในกรณีที่ยื่นคำขอล่าช้ากว่ากำหนดก็ต้องกล่าวถึงเหตุที่ยื่นคำร้องล่าช้ามาด้วย แสดงให้เห็นว่า ในการขอให้พิจารณาใหม่จำเป็นที่ต้องตรวจสำนวนคดีเพื่อทราบคำฟ้องและกระบวนพิจารณาคดีตลอดจนคำพิพากษาของศาลเสียก่อน ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 1ยังไม่ได้ตรวจสำนวนหรือเห็นคำพิพากษาของศาลชั้นต้นก็ไม่อาจทราบคำฟ้องและกระบวนพิจารณาตลอดจนคำพิพากษาของศาลที่จะทำคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลชั้นต้นได้เท่ากับไม่สามารถที่จะปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ เมื่อตามคำร้องของจำเลยที่ 1 อ้างว่าเจ้าพนักงานศาลยังหาสำนวนไม่พบ ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่สามารถตรวจดูสำนวนคดีตลอดจนไม่สามารถคัดหรือถ่ายคำฟ้องและคำพิพากษาของศาลได้กรณีดังกล่าวย่อมถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้จนกว่าจำเลยที่ 1 จะได้ตรวจสำนวนคดีทราบคำฟ้องคำพิพากษาตลอดจนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นนั้นแล้ว จึงจะถือได้ว่าพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้นั้นสิ้นสุดลงในวันนั้น กรณีของจำเลยที่ 1เมื่อได้ความว่าได้รับเอกสารที่ขอถ่ายจากศาลชั้นต้นในวันที่ 29พฤษภาคม 2540 ก็ต้องถือว่าพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้สิ้นสุดลงคือนับแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2540 เป็นต้นไปกำหนดระยะเวลา 15 วัน จำเลยที่ 1 มีสิทธิยื่นคำร้องขอได้ภายในวันที่13 มิถุนายน 2540 ฉะนั้น ที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2540 หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่จำเลยที่ 1อ้างในคำร้องก็ถือว่าจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องดังกล่าวยังไม่ล่วงระยะเวลาตามที่กฎหมายบัญญัติบังคับไว้
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยที่ 1 แล้วทำการไต่สวนและมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี

Share