คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 468/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีลักทรัพย์ การที่โจทก์ขอแก้ชื่อเจ้าทรัพย์ซึ่งเป็นการขอแก้รายละเอียดหากจำเลยไม่หลงต่อสู้แล้ว โจทก์ย่อมแก้ฟ้องได้
กระบือหายจากที่เลี้ยงไปอยู่กลางทุ่งใกล้กระท่อมนาผู้อื่น ซึ่งห่างไปประมาณ 1 กิโลเมตร และพวกเจ้าทรัพย์กำลังติดตามอยู่ดังนี้ ไม่ถือว่าเป็นทรัพย์สินหายเพราะความยึดถือของเจ้าทรัพย์ยัง ไม่ขาดตอนไป ซึ่งจำเลยควรจะรู้ว่าหากจำเลยไม่พาเอาไปเสียเจ้าของก็ยังติดตามเอาคืนได้ง่ายเมื่อจำเลยเอากระบือนั้นไปจำเลยย่อมมีความผิดฐานลักทรัพย์ หาใช่ยักยอกเก็บของตกไม่
ศาลชั้นต้นฟังว่า กระบือขาดหลุดไปในลักษณะของตกหายจำเลยพาไปไม่เป็นผิดฐานลักทรัพย์ พิพากษายกฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยรับซื้อกระบือไปโดยไม่สุจริตเป็นผิดฐาน รับของโจร ดังนี้ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยอาศัยข้อเท็จจริง คดีจึงไม่ต้องห้าม โจทก์ย่อมฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2508 เวลากลางวันจำเลยลักกระบือเผือก 1 ตัว ส่วนจำเลยที่ 2 บังอาจรับกระบือตัวนี้ไว้จากนายมนูญจำเลยที่ 1 โดยรู้ว่าเป็นกระบือได้มาจากการลักทรัพย์ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 337

จำเลยที่ 1 ให้การว่า ได้ซื้อกระบือของกลางมาจากนายรักษ์โดยสุจริต

จำเลยที่ 2 ให้การว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับของกลาง จำเลยที่ 1 ได้เอากระบือมาล่ามในสวนของจำเลยที่ 2 บอกว่าซื้อมา

ศาลชั้นต้นฟังว่า กระบือขาดหลุดมาในลักษณะตกหาย จำเลยพาไปก็ไม่ผิดฐานลักทรัพย์ ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ได้รับฝากกระบือไว้พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียว คดีสำหรับจำเลยที่ 2 เป็นอันยุติ

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานรับของโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ไว้ 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานลักทรัพย์

จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้ยกฟ้อง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้เดิมโจทก์ฟ้องว่ากระบือเป็นของนางสาวทอดสืบพยานแล้ว 5 ปาก ปรากฏว่ากระบือเป็นของนายเพชร์บิดานางสาวทอดซึ่งอยู่บ้านเดียวกัน แต่นายเพชร์ชราแล้ว ให้นางสาวทอดจัดการแจ้งความแทน โจทก์จึงร้องขอแก้ฟ้องว่า กระบือเป็นของนายเพชร์เพราะผู้เสียหายและพยานเบิกความว่าทรัพย์เป็นของนายเพชร์บิดาอยู่บ้านเดียวกันซึ่งไม่ปรากฏในชั้นสอบสวนมาก่อนจำเลยที่ 1 ฎีกาว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้อง เป็นการเอาเปรียบจำเลยในเชิงคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นว่าการขอแก้ชื่อเจ้าทรัพย์เป็นการขอแก้รายละเอียดและจำเลยที่ 1 ไม่ได้หลงข้อต่อสู้ เพราะจำเลยที่ 1 ให้การว่าได้ซื้อกระบือตัวนี้มาจากนายรักษ์โจทก์จึงขอแก้ฟ้องได้ดังคำวินิจฉัยศาลชั้นต้นข้อเท็จจริงศาลฎีกาฟังว่าจำเลยที่ 1 เอากระบือไปโดยพลการ หาใช่ซื้อจากนายรักษ์ไม่ การที่กระบือหายจากที่เลี้ยงไปอยู่กลางทุ่งใกล้กระท่อมนาผู้อื่นซึ่งห่างไปประมาณ1 กิโลเมตร และพวกเจ้าทรัพย์กำลังติดตามอยู่ดังนี้ ยังถือไม่ได้ว่าเป็นทรัพย์สินหาย โดยที่ความยึดถือของเจ้าของยังไม่ขาดไป จำเลยควรรู้ว่าหากจำเลยที่ 1 ไม่พาเอาไปเสีย เจ้าของยังติดตามเอาคืนได้ง่าย ดังนี้จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานลักทรัพย์ ฎีกาของจำเลยที่ 1 อีกข้อหนึ่งว่าศาลล่างสองศาลฟังข้อเท็จจริงต้องกันว่าโจทก์ไม่มีประจักษ์พยานมาสืบว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายลักทรัพย์โจทก์จะฎีกาในข้อเท็จจริงไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นเห็นว่ากระบือขาดหลุดไปในลักษณะของตกหาย จำเลยพาไปไม่เป็นผิดฐานลักทรัพย์ พิพากษายกฟ้องโจทก์ แต่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 รับซื้อกระบือไปโดยไม่สุจริต เป็นผิดฐานรับของโจรดังนี้ จึงเห็นได้ว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยอาศัยข้อเท็จจริงคดีจึงไม่ต้องห้ามดังที่จำเลยฎีกาขึ้นมา ในกรณีนี้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่านายนูญหรือมนูญ ไทยถาวร จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 ลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้นี้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ยกฎีกาจำเลย

Share