คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1493/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1144,1158 และ 1164 เป็นการมอบอำนาจของกรรมการบริษัทที่มอบอำนาจของกรรมการเองให้แก่ผู้อื่น ซึ่งผู้ที่ได้รับมอบอำนาจเช่นนั้นต้องเป็นผู้จัดการหรืออนุกรรมการซึ่งตั้งจากผู้เป็นกรรมการบริษัทด้วยกัน แต่การมอบอำนาจให้กระทำการแทนบริษัทเช่นการมอบอำนาจ ให้ฟ้องคดีแทนบริษัทในคดีนี้ โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภท บริษัทจำกัด ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีด้วยตนเองหรือโดยมอบอำนาจ ให้บุคคลอื่นมาฟ้องคดีแทน และในกรณีที่โจทก์มอบอำนาจให้ บุคคลอื่นฟ้องคดีแทน การมอบอำนาจนั้นย่อมต้องกระทำโดยกรรมการ ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ซึ่งจะมอบอำนาจเช่นนั้นให้ แก่บุคคลใดก็ได้ เว้นแต่โจทก์มีข้อบังคับกำหนดเกี่ยวกับการ มอบอำนาจเช่นนั้นไว้เป็นพิเศษว่าต้องมอบให้แก่บุคคลประเภทใด โดยเฉพาะ จึงจะต้องกระทำให้ถูกต้องตามข้อบังคับนั้นด้วย เมื่อจำเลยทั้งสี่ถูกโจทก์อ้างเอกสารหมาย จ.9 มาเป็น พยานหลักฐานยันจำเลยทั้งสี่ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ก็มิได้คัดค้านว่าเอกสารนั้นปลอมทั้งฉบับหรือบางส่วน หรือสำเนานั้นไม่ถูกต้องกับต้นฉบับก่อนวันสืบพยาน และไม่ได้ขออนุญาต คัดค้านในภายหลังก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา จึงต้องห้ามมิให้ คัดค้านการมีอยู่และความแท้จริงของเอกสารนั้นหรือความถูกต้องแห่งสำเนาเอกสารนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 125 เอกสารหมาย จ.9 จึงรับฟังพยานหลักฐานได้ ในการกู้เงินจากโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เงินไว้ ดังนั้นจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จะนำสืบว่าจำเลยที่ 1ได้ใช้เงินกู้ดังกล่าวให้โจทก์ได้ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อโจทก์ผู้ให้กู้ยืมมาแสดง หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคสอง ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 นำสืบว่า จำเลยที่ 1 ได้ไถ่ถอนการจำนองที่ดินที่จำนองไว้เป็นประกันเงินกู้ดังกล่าวแล้วนั้นมิใช่เป็นหลักฐานการชำระเงินเป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์ผู้ให้กู้ยืม หรือนำสืบว่าเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนหรือได้แทงเพิกถอนในเอกสารนั้นแล้วแต่อย่างใด จำเลยที่ 2 ที่ 4 จึงไม่มีพยานหลักฐานให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินกู้ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว ดังนี้ฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ยังคงค้างชำระหนี้ให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน18,362,309.36 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ18.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 5,803,051.15 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน8,661,109.37 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ18.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 5,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้การว่า นายศักดิ์ เกี่ยวการค้ามิได้เป็นผู้จัดการหรืออนุกรรมการของโจทก์ การที่โจทก์มอบอำนาจให้นายศักดิ์ฟ้องคดีจึงขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1164 และ 1144 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 รับเงินตามสัญญากู้เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 จากโจทก์เป็นงวด ๆ จำนวนไม่เท่ากัน และรับไปไม่ครบ 50,000,000 บาท จำเลยที่ 2 ได้รับเงินตามเช็คที่ขายลดแก่โจทก์ไม่ครบ 5,000,000 บาท เพราะโจทก์หักไว้เพื่อประโยชน์ของตนเอง 127,397.26 บาท จำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว โดยธนาคารขายทรัพย์สินของจำเลยทั้งสี่ชำระหนี้ภายใต้การจัดการของโจทก์ โจทก์ได้คืนหลักประกันต่าง ๆแก่จำเลยแล้ว เว้นแต่ใบหุ้นของจำเลยที่ 4 จำนวน 7 ฉบับ ซึ่งโจทก์อ้างว่าหาไม่พบ โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากเงินกู้45,000,000 บาท เพราะไม่มีสัญญาบัญชีเดินสะพัดต่อกัน อัตราดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกจากจำเลยทั้งสี่สูงกว่าอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ ตกเป็นโมฆะ จำเลยที่ 2 ออกเช็ค 2 ฉบับสั่งจ่ายเงินจำนวน 6,000,000 บาท ชำระหนี้ตามสัญญาขายลดเช็คให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว หนี้ทั้งหมดได้ระงับไปแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ก่อนสืบพยาน ศาลชั้นต้นเห็นว่ามูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ตามสัญญาขายลดเช็ค 5,000,000 บาท ไม่เกี่ยวกับมูลหนี้เงินกู้ที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 การนำมาฟ้องรวมกันเพื่อหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมศาลและสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ 2เป็นคดีต่างหาก
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน18,362,309.36 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี จากต้นเงิน 5,803,051.15 บาท นับแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การมอบอำนาจตามบทมาตราที่จำเลยที่ 2ถึงที่ 4 ยกขึ้นอ้าง เป็นการมอบอำนาจของกรรมการบริษัทที่มอบอำนาจของกรรมการเองให้แก่ผู้อื่น ซึ่งผู้ที่ได้รับมอบอำนาจเช่นนั้นต้องเป็นผู้จัดการหรืออนุกรรมการซึ่งตั้งจากผู้เป็นกรรมการบริษัทเดียวกัน มิใช่เป็นการมอบอำนาจให้กระทำการแทนบริษัทเช่นการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแทนบริษัทในคดีนี้สำหรับการฟ้องคดีของโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดนั้นโจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีด้วยตนเองหรือโดยมอบอำนาจให้บุคคลอื่นฟ้องคดีแทน และในกรณีที่โจทก์มอบอำนาจให้บุคคลอื่นฟ้องคดีแทนการมอบอำนาจนั้นย่อมต้องกระทำโดยกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ซึ่งจะมอบอำนาจเช่นนั้นให้แก่บุคคลใดก็ได้ เว้นแต่โจทก์มีข้อบังคับกำหนดเกี่ยวกับการมอบอำนาจเช่นนั้นไว้เป็นพิเศษว่าต้องมอบให้แก่บุคคลประเภทใดโดยเฉพาะ จึงจะต้องกระทำให้ถูกต้องตามข้อบังคับนั้นด้วย ที่โจทก์มอบอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 ให้นายศักดิ์ เกี่ยวการค้า มีอำนาจฟ้องคดีนี้แทนโจทก์นั้น เมื่อได้ความว่านายธารินทร์ นิมมานเหมินท์กรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ซึ่งมีอำนาจลงลายมือชื่อกระทำการแทนโจทก์ได้ลงลายมือชื่อมอบอำนาจเช่นนั้น แม้นายศักดิ์มิได้เป็นผู้จัดการหรืออนุกรรมการของโจทก์ซึ่งตั้งจากผู้เป็นกรรมการของโจทก์ นายศักดิ์ก็ได้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้แทนโจทก์โดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฎีกาว่า เอกสารหมาย จ.9 เป็นเอกสารที่โจทก์กระทำขึ้นแต่ฝ่ายเดียว โจทก์ไม่เคยส่งสำเนาให้แก่จำเลยเอกสารดังกล่าวเป็นสำเนาภาพถ่ายของต้นฉบับซึ่งอยู่ที่ศาลอาญาจึงไม่ใช่ต้นฉบับเอกสารที่แท้จริง เอกสารหมาย จ.9 ไม่ใช่เอกสารที่ตรงกับต้นฉบับรับฟังเป็นพยานหลักฐานยันจำเลยไม่ได้นั้นบัญชีเงินให้กู้เอกสารหมาย จ.9 เป็นบัญชีแสดงรายการเงินกู้ที่จำเลยที่ 1 เบิกไปจากโจทก์ จำนวนดอกเบี้ยรายการชำระต้นเงินและดอกเบี้ยตลอดจนยอดหนี้คงเหลือที่ฝ่ายโจทก์ทำขึ้นกำกับสินเชื่อตามวิธีการของธนาคารซึ่งไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องได้รับความรู้เห็นรับรองจากลูกหนี้ก่อน โจทก์จึงสามารถทำเอกสารหมาย จ.9ขึ้นฝ่ายเดียวได้ ไม่จำต้องส่งสำเนาให้จำเลยแต่อย่างใด และแม้ได้ความว่าเอกสารหมาย จ.9 เป็นสำเนาเอกสารโดยต้นฉบับของเอกสารดังกล่าวอยู่ที่ศาลอาญาก็ตาม แต่เมื่อจำเลยทั้งสี่ถูกโจทก์อ้างเอกสารหมาย จ.9 มาเป็นพยานหลักฐานยันจำเลยทั้งสี่ จำเลยที่ 2ถึงที่ 4 ก็มิได้คัดค้านว่าเอกสารนั้นปลอมทั้งฉบับหรือบางส่วนหรือสำเนานั้นไม่ถูกต้องกับต้นฉบับก่อนวันสืบพยาน และไม่ได้ขออนุญาตคัดค้านในภายหลังก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาจึงต้องห้ามมิให้คัดค้านการมีอยู่และความแท้จริงของเอกสารนั้นหรือความถูกต้องแห่งสำเนาเอกสารนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 125 เอกสารหมาย จ.9 จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4ว่า จำเลยทั้งสี่ค้างชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่าในการกู้เงินจากโจทก์นั้นจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.5 ไว้ ดังนั้น จำเลยที่ 2ถึงที่ 4 จะนำสืบว่าจำเลยที่ 1 ได้ใช้เงินกู้ดังกล่าวให้โจทก์ได้ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อโจทก์ผู้ให้กู้ยืมมาแสดง หรือเอกสารหมาย จ.5 อันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารหมาย จ.9 นั้นแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคสอง ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 นำสืบว่าจำเลยที่ 1 ได้ไถ่ถอนการจำนองที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.11 ที่จำนองไว้เป็นประกันเงินกู้ดังกล่าวแล้วนั้น มิใช่เป็นการนำสืบหลักฐานการชำระเงินเป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์ผู้ให้กู้ยืม หรือนำสืบว่าเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนหรือได้แทนเพิกถอนในเอกสารนั้นแล้วแต่อย่างใด จำเลยที่ 2 ที่ 4จึงไม่มีพยานหลักฐานให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ชำระเงินกู้ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ยังคงค้างชำระหนี้ให้แก่โจทก์เช่นนี้ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ค้ำประกันในวงเงินคนละ 50,000,000 บาทตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.7 และจำเลยที่ 4 ค้ำประกันในวงเงิน 30,000,000 บาท ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.8โดยยอมรับผิดเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามฟ้องด้วย
พิพากษายืน

Share