คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4674/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นนิติบุคคลอาคารชุดตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 ซึ่งมาตรา 33 วรรคสอง บัญญัติให้นิติบุคคลอาคารชุดมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง และให้มีอำนาจกระทำการใด ๆ เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ทั้งนี้ตามมติของเจ้าของร่วมภายใต้บังคับแห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวและตามหนังสือสำคัญการจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดก็ระบุวัตถุประสงค์ของโจทก์ไว้ตรงตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ตามข้อบังคับของโจทก์ก็กำหนดให้เจ้าของร่วมชำระเงินให้นิติบุคคลอาคารชุดเพื่อดำเนินกิจการของนิติบุคคลอาคารชุด ซึ่งสอดคล้องกับมาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 โดยกำหนดให้เจ้าของร่วมต้องร่วมกันจัดตั้งกองทุนให้แก่นิติบุคคลอาคารชุดเพื่อวัตถุประสงค์ในการดูแลบำรุงรักษาทรัพย์ส่วนกลาง และการบริการทั่วไปให้แก่เจ้าของร่วม และกำหนดให้เจ้าของร่วมแต่ละรายต้องออกค่าใช้จ่ายตามส่วนแห่งประโยชน์ที่มีต่อห้องชุดที่เกิดจากการบริการส่วนรวม และที่เกิดจากเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่นค่าไฟฟ้าค่าน้ำประปา ซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนกลาง เป็นต้น ค่าใช้จ่ายตามอัตราส่วนกรรมสิทธิ์ที่มีอยู่ในทรัพย์ส่วนกลางอันได้แก่ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง เช่นค่าจ้างคนงาน พนักงานทำความสะอาด ยามรักษาการ และซ่อมแซมบำรุงรักษาทรัพย์ส่วนกลาง ค่าภาษีอากร เช่น ค่าภาษีที่ดิน ค่าภาษีโรงเรือน เป็นต้น ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลาง เช่น เงินเดือนของผู้จัดการ พนักงานลูกจ้างและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการดำเนินการของนิติบุคคลอาคารชุด ค่าเบี้ยประกันภัยของทรัพย์ส่วนกลาง วัตถุประสงค์ดังกล่าวก็เป็นไปตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 ซึ่งบัญญัติให้เจ้าของร่วมต้องร่วมกันออกค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการบริการส่วนรวม และที่เกิดจากเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันตามส่วนแห่งประโยชน์ที่มีต่อห้องชุด ทั้งนี้ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ และวรรคสองของมาตราดังกล่าวยังได้บัญญัติให้เจ้าของร่วมต้องร่วมกันออกค่าภาษีอากรและค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดูแลรักษาและดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางตามสัดส่วนที่เจ้าของร่วมแต่ละคนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลางตามมาตรา 14 แสดงว่าเงินที่เจ้าของร่วมชำระให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลอาคารชุด มิใช่การชำระเป็นค่าบริการที่ได้รับจากนิติบุคคลอาคารชุด หากแต่เป็นเพียงเงินที่เจ้าของร่วมในอาคารชุดชำระให้แก่นิติบุคคลอาคารชุดตามที่กฎหมายบังคับไว้ เพื่อให้จัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางแทนเจ้าของร่วมในอาคารชุดตามวัตถุประสงค์ของอาคารชุดและตามที่ที่ประชุมใหญ่ของเจ้าของร่วมในอาคารชุดกำหนด โจทก์ไม่สามารถนำเงินดังกล่าวไปใช้เพื่อการอย่างอื่นได้ และไม่อาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าให้แก่ตนเอง โจทก์ไม่สามารถหากำไรจากหน้าที่ดังกล่าว และเมื่อปรากฏว่าโจทก์เพียงแต่เรียกเก็บเงินกองทุน เงินค่าใช้จ่ายส่วนกลาง และค่าสาธารณูปโภคจากเจ้าของร่วม มิได้ดำเนินกิจการอื่นใดนอกเหนือจากวัตถุประสงค์ตามที่ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 กำหนดไว้อันจะทำให้โจทก์ได้ชื่อว่าเป็นผู้ขายสินค้าหรือให้บริการทางธุรกิจหรือวิชาชีพ เมื่อโจทก์คงดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ที่พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 กำหนดไว้ การกระทำของโจทก์จึงไม่อยู่ในความหมายของคำว่าบริการตาม ป.รัษฎากร มาตรา 77/1 (10) โจทก์จึงไม่เป็นผู้ประกอบการที่จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่กฎหมายกำหนด
เมื่อโจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลอาคารชุดตามกฎหมายแล้วย่อมมีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากเจ้าของร่วม การที่โจทก์เรียกเก็บเงินกองทุน เงินค่าใช้จ่ายส่วนกลาง และค่าสาธารณูปโภคจากเจ้าของร่วมเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ จึงมิใช่กรณีที่โจทก์ใช้บริการของตนเองอันจะอยู่ในความหมายของคำว่าบริการ ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 37/1 (10)โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ประกอบการที่จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่กรมสรรพากรขอความเห็นไปตาม ป.รัษฎากร มาตรา 13 สัตต เป็นการวินิจฉัยเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม การเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของนิติบุคคลอาคารชุดซึ่งเป็นการวินิจฉัยเกี่ยวกับนิติบุคคลอาคารชุดทั่วๆไปไม่ได้เฉพาะโจทก์ เพราะถ้าหากนิติบุคคลอาคารชุดรายอื่นที่ดำเนินกิจการนอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์ที่ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 กำหนดไว้และมีรายได้ นิติบุคคลอาคารชุดรายนั้นก็อาจจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้ ทั้งคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ได้สั่งให้โจทก์จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยและประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การขยายกำหนดเวลาการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็เช่นเดียวกัน มิใช่คำสั่งที่มีไปถึงโจทก์โดยตรงแต่เป็นคำสั่งทั่ว ๆไปดังนั้น การที่ศาลภาษีอากรกลางไม่เพิกถอนจึงชอบแล้ว
โจทก์ได้บรรยายฟ้องแล้วว่า คำสั่งของจำเลยที่ 3 ที่มีถึงโจทก์ให้ไปยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 11 เป็นการปฏิบัติตามประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การขยายกำหนดเวลาการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งนำผลคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่กรมสรรพากรขอความเห็นไปตามมาตรา 13 สัตตมาปฏิบัติ ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 11 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน และคำขอท้ายฟ้องโจทก์ก็ได้ขอให้ศาลเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร และประกาศกรมสรรพากร กับขอให้จำเลยที่ 1ยกเลิกคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์ที่ยื่นไว้ต่อจำเลยที่ 3 ขอให้คืนภาษีมูลค่าเพิ่มแก่โจทก์ ย่อมเป็นที่เข้าใจอยู่ในตัวแล้วว่า โจทก์ได้ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 3 ที่มีถึงโจทก์ให้ไปยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 11 ด้วย ดังนั้นเมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้ประกอบการที่จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 3 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 11 ได้ หาเกินคำขอไม่
การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้โจทก์ชำระค่าภาษีอากรก็เนื่องจากจำเลยที่ 1 และที่ 3 เห็นว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบการอยู่ภายในบังคับของกฎหมายที่จะต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและยื่นแบบแสดงรายการและชำะภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงเป็นการเรียกให้โจทก์ชำระเงินภาษีอากรตามที่กฎหมายกำหนด หาใช่บังคับให้โจทก์ชำระเงินค่าภาษีอากรดังกล่าวโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ เมื่อโจทก์อ้างว่า โจทก์ไม่จำต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และยื่นแบบแสดงรายการการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเพราะโจทก์ไม่ใช่ผู้ประกอบการ ขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันคืนเงินค่าภาษีอากรที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยที่ 3 คืน จึงเป็นการฟ้องขอคืนค่าภาษีอากรที่โจทก์อ้างว่าตนไม่มีหน้าที่ต้องเสียแต่ได้ชำระภาษีไว้ ซึ่งตาม ป.รัษฎากร มาตรา 27 ตรี บัญญัติให้ผู้มีสิทธิขอคืนต้องยื่นคำร้องขอคืนภายในสามปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น เมื่อโจทก์อ้างว่าไม่มีหน้าที่ต้องเสีย โจทก์จึงต้องยื่นคำร้องขอคืน แต่เมื่อปรากฏว่าก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ไม่ได้ยื่นคำร้องขอคืนภาษีที่ตนไม่มีหน้าที่ต้องเสีย อันเป็นกรณีที่โจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 9 บัญญัติไว้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจที่จะนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มและดอกเบี้ยตามฟ้อง

Share