คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4672/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

กรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน โดยเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมซึ่งมิใช่การลงโทษ จึงถือมิได้ว่าลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 2 ปี และปรับเกิน 40,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 6 แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวจะพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นทั้งบทลงโทษและบทกำหนดโทษซึ่งเป็นการแก้ไขมาก แต่ก็มิได้กำหนดโทษจำคุกและกำหนดระยะเวลาฝึกและอบรมสูงขึ้นแต่อย่างใด จึงไม่เป็นการเพิ่มเติมโทษแก่จำเลย จำเลยจึงไม่ได้รับยกเว้นให้ฎีกาได้ตามบทบัญญัติตอนท้ายของมาตรา 219
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าฎีกาของจำเลยต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจำเลยย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิเคราะห์ว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกาได้ ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมีหน้าที่พิจารณาเพียงว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดหรือไม่เท่านั้น การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงเป็นการสั่งคดีโดยผิดหลงและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ถือว่าไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคดี ศาลฎีกามีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยโดยให้เพิกถอนคำสั่งและการดำเนินการดังกล่าวของศาลชั้นต้นที่ไม่ชอบเสียได้ และสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 6

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 33 ริบของกลาง
จำเลยให้การต่อสู้อ้างเหตุป้องกัน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ขณะกระทำผิดจำเลยมีอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 จำคุก 7 ปี 6 เดือน อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยเป็นส่งจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมยังศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 9 จังหวัดสงขลา มีกำหนด 3 ปี นับแต่วันพิพากษา ริบมีดปลายแหลมของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 72 เมื่อลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 แล้วคงจำคุก 5 ปี อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมยังศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 9 จังหวัดสงขลา มีกำหนดระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันพิพากษา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ลดมาตราส่วนโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 กึ่งหนึ่ง ให้จำคุก 7 ปี 6 เดือน อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกและอบรมที่สถานฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 9 จังหวัดสงขลา มีกำหนด 3 ปี นับแต่วันพิพากษา และศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 72 ลดมาตราส่วนโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 กึ่งหนึ่งแล้วให้จำคุก 5 ปี อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 9 จังหวัดสงขลา มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันพิพากษา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนี้เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนโดยเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมซึ่งมิใช่การลงโทษ จึงถือมิได้ว่าลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 2 ปี และปรับเกิน 40,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 6 แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวจะพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นทั้งบทลงโทษและบทกำหนดโทษซึ่งเป็นการแก้ไขมาก แต่ก็มิได้กำหนดโทษจำคุกและกำหนดระยะเวลาฝึกและอบรมสูงขึ้นแต่อย่างใด จึงไม่เป็นการเพิ่มเติมโทษแก่จำเลย จำเลยจึงไม่ได้รับยกเว้นให้ฎีกาได้ตามบทบัญญัติตอนท้ายของมาตรา 219 ที่บัญญัติยกเว้นมิให้นำข้อห้ามมิให้ฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวมาใช้แก่จำเลยในกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจำเลย ที่จำเลยฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์มีพิรุธและขัดแย้งกันเองไม่น่าเชื่อถือข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามพยานหลักฐานของจำเลยว่า จำเลยแทงผู้ตายเพื่อป้องกันตนโดยชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากเมื่อเลิกชกต่อยกันแล้วผู้ตายตามไปแทงจำเลยนั้นเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานซึ่งเป็นข้อเท็จจริง และที่จำเลยฎีกาว่าการกระทำของจำเลยตามพยานหลักฐานของจำเลยดังกล่าวซึ่งแตกต่างไปที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยมานั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายไม่ใช่เป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะก็เป็นการฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว เว้นแต่จะได้รับอนุญาตให้ฎีกาจากผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวหรือได้รับการรับรองในฎีกาว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงจะได้วินิจฉัยจากอัยการสูงสุดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 221 ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อจำเลยยื่นฎีกา จำเลยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 26 ตุลาคม 2547 ต่อศาลชั้นต้นพร้อมคำฟ้องฎีกาเพื่อขอให้องค์คณะผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ศาลชั้นต้นสั่งในคำร้องดังกล่าวว่า เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวแก้ไขบทกฎหมายและกำหนดโทษ อันเป็นการแก้ไขมาก ฎีกาของจำเลยไม่ต้องห้ามในปัญหาข้อเท็จจริง จึงให้ยกคำร้อง และสั่งในคำฟ้องฎีกาของจำเลยที่ยื่นเข้ามาพร้อมคำร้องว่าจำเลยยื่นฎีกาภายในกำหนดเวลาที่ศาลอนุญาต รับฎีกาของจำเลย สำเนาให้โจทก์แก้ฎีกาภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันรับสำเนาฎีกา ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าฎีกาของจำเลยต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงดังวินิจฉัยมาข้างต้น จำเลยย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิเคราะห์ว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกาได้ ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมีหน้าที่พิจารณาเพียงว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดหรือไม่เท่านั้นการที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงเป็นการสั่งคดีโดยผิดหลงและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบถือว่าไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคดี ศาลฎีกามีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยโดยให้เพิกถอนคำสั่งและการดำเนินการดังกล่าวของศาลชั้นต้นที่ไม่ชอบเสียได้ และสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 6”
พิพากษาเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นในคำร้องและในคำฟ้องฎีกา ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2547 และให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งใหม่ตามรูปคดี

Share