คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 467/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 บุกรุกที่ดินมีโฉนดของโจทก์ จำเลยที่ 2 ให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินมีโฉนดของจำเลยที่ 2 ประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ ไม่มีประเด็นว่าจำเลยที่ 2 ครอบครองที่ดินของโจทก์จนได้กรรมสิทธิ์หรือไม่ การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ครอบครองที่ดินพิพาทส่วนนี้จนได้กรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น และประเด็นว่าที่ดินพิพาทส่วนนี้เป็นของโจทก์หรือไม่ ภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์ เมื่อโจทก์ไม่สืบพยานข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทส่วนนี้เป็นของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 5994 เนื้อที่ 3 ไร่ 3 งาน ร่วมกับนางสาวสุมานี อัศวชัยสุวิกรม โดยซื้อจากนายสำเภา จำปีทอง และได้รับโอนกรรมสิทธิ์เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2531 ระหว่างวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2531 ถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2532 จำเลยทั้งสองบุกรุกเข้าไปรบกวนและยึดถือครอบครองที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันตกและทิศเหนือบางส่วน คิดเป็นเนื้อที่ 1 ไร่ 4 ตารางวา ทำให้โจทก์ไม่สามารถเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้ โจทก์เคยร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในข้อหาบุกรุก พนักงานอัยการจังหวัดนครปฐมได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาบุกรุกต่อศาลชั้นต้น ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 866/2533 ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองไปแล้ว โจทก์ได้รับความเสียหาย คิดเป็นค่าขาดประโยชน์เดือนละ 4,000 บาท ขอคิดค่าเสียหายก่อนฟ้องทั้งหมดเป็นเงิน 50,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนและขนย้ายเพิงพักอาศัยกับสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ตลอดจนเสาคอนกรีตไปจากที่ดินพิพาทและทำที่ดินให้คืนสู่สภาพเดิม ให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทห้ามมิให้เกี่ยวข้องอีกต่อไปให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหาย 50,000 บาท และค่าเสียหายอีกเดือนละ 4,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและออกไปจากที่ดินพิพาท
ระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องจำเลยที่ 1 ให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ
จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินของจำเลยที่ 2 โฉนดเลขที่ 5992 เนื้อที่ 1 งาน 63 ตารางวา และโฉนดเลขที่ 5993 เนื้อที่ 2 งาน 41 ตารางวา รวมเนื้อที่ 1 ไร่ 4 ตารางวา โจทก์เสียหายไม่เกินเดือนละ 200 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา นายช่อเพียว เตโชฬาร และนางคนึงนิจ เตโชฬาร ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมโดยอ้างว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในผลแห่งคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ก่อนสืบพยาน ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีส่วนอาญาที่พนักงานอัยการฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาบุกรุกและโจทก์ในฐานะผ้เสียหายได้ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1028/2534 ของศาลชั้นต้นนั้น ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาในคดีส่วนอาญาดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว คดีพอวินิจฉัยได้โดยถือข้อเท็จจริงตามคดีส่วนอาญาโจทก์และโจทก์ร่วมไม่สืบพยาน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลย แล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 2 แพ้คดี จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสืบพยานจำเลยที่ 2 ใหม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานจำเลยที่ 2 ต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่ โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืนค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่แล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 2 รื้อถอนและขนย้ายเพิงพักอาศัยกับสิ่งปลูกสร้างอื่นรวมทั้งเสาคอนกรีตออกไปจากที่ดินเฉพาะพื้นที่ด้านทิศตะวันออกของทางสาธารณะในกรอบสีเหลือง โดยไม่รวมพื้นที่ตามหลักเขตหมายเลข ล.ม. 12 ล.ม. 13 ล.ม. 14 ล.ม. 2 และ ล.ม. 1 ในแผนที่พิพาทคดีนี้ รังวัดเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2537 และทำให้ที่ดินคืนสู่สภาพเดิม ให้จำเลยที่ 2 และบริวารออกไปจากที่ดินดังกล่าว ห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ คำขออื่นของโจทก์ให้ยก
โจทก์ โจทก์ร่วมทั้งสอง และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ โจทก์ร่วมทั้งสองและจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 5994 ตำบลลานตากฟ้า อำเภอนครชัยศรี (เมืองนครปฐม) จังหวัดนครปฐม (นครชัยศรี) ร่วมกับนางสาวสุมานี อัศวชัยสุวิกรม จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 5992 และ 5993 ตำบลอำเภอจังหวัดเดียวกัน ที่ดินทั้งสามแปลงมีแนวเขตติดต่อกัน คดีส่วนอาญาที่พนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 2 ในข้อหาบุกรุกตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 866/2533 หมายเลขแดงที่ 1028/2534 ของศาลชั้นต้น ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาในคดีส่วนอาญาดังกล่าวถึงที่สุดแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 975/2537 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองว่า ที่ดินในกรอบสีเหลืองพื้นที่รวมทางสาธารณประโยชน์ไปจดหลักเขตหมายเลข ล.ม. 10 และ 15704 และพื้นที่ตามหลักเขต ล.ม. 2 ล.ม. 13 และ ล.ม. 14 ในแผนที่วิวาทคดีนี้รังวัดเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2537 เป็นของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องในคดีส่วนอาญาระบุว่าจำเลยที่ 2 บุกรุกเข้าไปปลูกสร้างบ้านพักอาศัย โรงเรือน และฝังเสาคอนกรีตในที่ดินเท่านั้นไม่รวมทางสาธารณประโยชน์และที่ทำนา ซึ่งในแผนที่เอกสารหมาย จ.1 ในคดีอาญาก็ได้แสดงอาณาเขตไว้ชัดเจนคือพื้นที่ตามหลักเขต 14789 ล.ม. 3 ล.ม. 5 และ ล.ม. 6 เมื่อเปรียบเทียบกับแผนที่วิวาทในคดีนี้แล้วก็คือที่ดินด้านทิศตะวันออกของทางสาธารณประโยชน์ในกรอบสีเหลืองถึงหลักเขตหมายเลข ล.ม. 12 ล.ม. 13 และ ล.ม. 14 ตามที่ศาลล่างถือข้อเท็จจริงในส่วนคดีอาญาว่าที่ดินส่วนนี้เป็นที่ดินของโจทก์ที่จำเลยที่ 2 บุกรุก ที่ดินที่จำเลยที่ 2 บุกรุกในคดีส่วนอาญาจึงไม่รวมพื้นที่ตามที่โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองฎีกา และเป็นกรณีที่ไม่มีข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาเกี่ยวกับพื้นที่ดังกล่าวที่ให้คดีส่วนแพ่งจำต้องถือตาม คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 บุกรุกที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ 2 ให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินมีโฉนดของจำเลยที่ 2 ประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ ไม่มีประเด็นว่าจำเลยที่ 2 ครอบครองที่ดินของโจทก์จนได้กรรมสิทธ์หรือไม่ การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ครอบครองที่ดินพิพาทส่วนนี้จนได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 นั้น จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ซึ่งประเด็นว่าที่ดินพิพาทส่วนนี้เป็นของโจทก์หรือไม่ ภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์ เมื่อโจทก์ไม่สืบพยาน ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทส่วนนี้เป็นของโจทก์ ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองฟังไม่ขึ้น…..
จำเลยที่ 2 ฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า คดีนี้โจทก์ทิ้งฟ้องจำเลยที่ 1 เท่ากับโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 แต่ฝ่ายเดียว คดีจึงมิอาจนำข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญามาใช้ได้ เห็นว่า ถึงแม้โจทก์จะทิ้งฟ้องจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 ก็เป็นจำเลยในคดีอาญาร่วมกับจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาข้อหาบุกรุกซึ่งมีประเด็นเดียวกับคดีนี้ ข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาจึงผูกพันจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share