คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4660/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2515 ถึง 2519 สรรพากรจังหวัดขอนแก่นได้เคยตรวจสอบบัญชีและประเมินให้โจทก์เสียภาษีอากรเพิ่มเติมมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อในระยะเวลา 5 ปี เจ้าพนักงานประเมินท้องที่สรรพากรเขต 4 ซึ่งมีอำนาจจัดเก็บภาษีอากรในระดับเขตครอบคลุมอำนาจของเจ้าพนักงานประเมินจังหวัดขอนแก่น ตรวจพบว่าโจทก์เสียภาษีไว้ไม่ครบถ้วน สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี พ.ศ. 2517ถึง 2519 เจ้าพนักงานประเมินท้องที่สรรพากรเขต 4 ย่อมมีอำนาจแจ้งการประเมินให้โจทก์ชำระภาษีเพิ่มได้ โดยอาศัยอำนาจตามป.รัษฎากร มาตรา 19,20 โจทก์จ่ายเงินค่าจ้างให้ลูกจ้างโจทก์โดยมิได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าจ้างที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างของโจทก์ในอัตราร้อยละ 3 ของเงินที่จ่ายโดยโจทก์ยินยอมและไม่ปรากฏว่าการคำนวณตามที่โจทก์ยินยอม โจทก์ต้องชำระภาษีหัก ณ ที่จ่ายเกินกว่าความเป็นจริงตามที่กฎหมายกำหนด โจทก์จะมาอ้างภายหลังว่าการคำนวณภาษีด้วยวิธีดังกล่าวไม่ถูกต้องย่อมไม่ได้ การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินดังกล่าวชอบแล้ว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ให้โจทก์รับผิดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และภาษีเงินได้นิติบุคคล
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินชอบแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่าการเรียกตรวจสอบและแจ้งประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2517 ถึง พ.ศ. 2519 นั้น เป็นวิธีการประเมินไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ข้อเท็จจริงในปัญหานี้ยุติว่าในรอบระยะเวลาบัญชี พ.ศ. 2515 ถึง 2519 นั้น สรรพากรจังหวัดขอนแก่นได้เคยตรวจสอบบัญชีและประเมินให้โจทก์เสียภาษีอากรเพิ่มเติมมาแล้วครั้งหนึ่ง และในระยะเวลา 5 ปี จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานประเมินท้องที่สรรพากรเขต 4 ซึ่งมีอำนาจจัดเก็บภาษีอากรในระดับเขตครอบคลุมอำนาจของเจ้าพนักงานประเมินจังหวัดขอนแก่น ได้เรียกตรวจสอบพบว่าโจทก์เสียภาษีไว้ไม่ครบถ้วนจึงแจ้งการประเมินภาษีสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2517 ถึง 2519อันเป็นข้อพิพาทในปัญหานี้ โดยอาศัยอำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา 19และมาตรา 20 เห็นว่า ประมวบรัษฎากร มาตรา 19 บัญญัติว่า เว้นแต่จะมีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในลักษณะนี้ ถ้าภายในเวลาห้าปี นับแต่วันที่ได้ยื่นรายการแล้วเจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ใดแสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกตัวผู้ยื่นรายการนั้นมาไต่สวน…” และมาตรา 20 บัญญัติว่า “เมื่อได้จัดการตามมาตรา 19และทราบข้อความแล้ว เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจที่จะแก้ไขจำนวนเงินที่ประเมินหรือที่ยื่นรายการไว้เดิมโดยอาศัยพยานหลักฐานที่ปรากฏและแจ้งจำนวนเงินที่จะต้องชำระอีกไปยังผู้เสียภาษีอากร” จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวแสดงว่า ถ้ามีเหตุอันสมควรเชื่อว่าผู้เสียภาษีไว้ไม่ถูกต้องครบถ้วนแล้วเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจที่จะเรียกตรวจสอบได้ภายในเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ได้ยื่นรายการจำเลยที่ 2 เจ้าพนักงานประเมินท้องที่สรรพากรเขต 4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานประเมินซึ่งมีอำนาจครอบคลุมเขตพื้นที่ที่โจทก์ประกอบการออกหมายเรียกโจทก์มาไต่สวนภายในกำหนดเวลา 5 ปี โดยมีเหตุอันควรเชื่อดังกล่าว และเมื่อตรวจสอบแล้วเห็นว่าโจทก์ชำระภาษีไว้ไม่ถูกต้องจึงแจ้งประเมินให้โจทก์ชำระภาษีเพิ่มขึ้น จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย บทบัญญัติในมาตรา 19 ตอนต้นที่ว่า “เว้นแต่จะมีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในลักษณะนี้” นั้น ไม่มีบทบัญญัติในประมวลรัษฎากรที่บัญญัติไว้เป็นการห้ามมิให้เจ้าพนักงานประเมินผู้มีอำนาจมิให้เรียกตรวจสอบอีกได้ ถ้ามีการตรวจสอบมาแล้วข้ออ้างตามฎีกาของโจทก์ที่ว่าเมื่อมีการเรียกตรวจสอบแล้วจะหมายเรียกตรวจสอบและประเมินใหม่อีกไม่ได้แม้จะอยู่ในกำหนดเวลา5 ปีนั้น เป็นข้ออ้างที่ไม่มีบทกฎหมายสนับสนุน และถ้าจะแปลความตามมาตรา 19 ดังโจทก์ฎีกาก็จะเป็นการแปลความที่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ และจะเป็นผลให้เกิดมีกรณีที่เป็นการสมคบกันกระทำในทางมิชอบของเจ้าพนักงานกับผู้ยื่นรายการ กระทำการไปในทางที่จะให้ผู้ยื่นรายการไว้ไม่ถูกต้องพ้นความรับผิดในหนี้ภาษีอากรได้ทำให้กฎหมายมาตรา นี้ไม่มีผลในทางบังคับได้โดยสมบูรณ์ ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น
โจทก์ฎีกาประการที่สองว่า การประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย เป็นการไม่ชอบ ข้อเท็จจริงในปัญหานี้ยุติว่า โจทก์ได้จ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างของโจทก์โดยมิได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าจ้างที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างของโจทก์ในอัตราร้อยละ 3 ของเงินที่จ่าย เห็นว่า ในเรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายนี้ นายเอี้ยวจือ แซ่อึ้งกรรมการของโจทก์ได้ให้การต่อเจ้าพนักงานประเมินตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย ล. 4 ว่า สำหรับค่าแรงงานรายวัน ถ้าหากว่าจะคำนวณหักภาษีเงินได้ในอัตราร้อยละ 3 ของยอดเงินที่จ่ายทางโจทก์ก็ยินยอมจะชำระให้เป็นการถูกต้องครบถ้วนต่อไป และทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าการคำนวณตามที่โจทก์ยินยอมนั้น โจทก์จะต้องชำระภาษีหัก ณ ที่จ่ายเกินกว่าความเป็นตริงตามที่กฎหมายกำหนดดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินคิดคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายเป็นการเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 3 ของเงินได้ของคนงานตามที่โจทก์ตกลงยินยอม เช่นนี้ โจทก์จะมาอ้างภายหลังว่า การคำนวณภาษีด้วยวิธีนี้ไม่ถูกต้องนั้นไม่ได้ กรณีจึงฟังได้ว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
โจทก์ฎีกาในประการสุดท้ายว่า การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ในปี พ.ศ. 2517 ถึง 2519 ร้อยละ 2 ในปี พ.ศ. 2520ร้อยละ 5 ของรายรับหรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายเป็นการไม่ถูกต้องข้อนี้โจทก์ยกขึ้นมาอ้างว่าไม่ถูกต้องก็คือ การที่โจทก์ไม่ส่งเอกสารหรือหลักฐานอื่นไปให้เจ้าพนักงานตรวจสอบนั้น เพราะสมุดบัญชีและเอกสารดังกล่าวถูกน้ำท่วมสูญหายไปหมด จึงมีข้อที่จะต้องวินิจฉัยก่อนว่าข้ออ้างของโจทก์ตามพยานหลักฐานที่นำสืบมานั้นฟังได้หรือไม่เพียงใด พิเคราะห์แล้ว… ไม่อาจจะเชื่อได้ว่าสมุดบัญชีและเอกสารของโจทก์สูญหาย เมื่อข้ออ้างของโจทก์ฟังไม่ได้กรณีก็เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่นำบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นมาให้เจ้าพนักงานประเมินทำการไต่สวน เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินภาษีสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2517 ถึง 2519ร้อยละ 2 และในรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2520 ร้อยละ 5 ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฏากร มาตรา 71(1) ที่ใช้บังคับอยู่ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีได้ การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในข้อนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย…”
พิพากษายืน.

Share