คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4657/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์การที่จำเลยที่ 3 ทำหนังสือซึ่งมีข้อความระบุถึงเลขที่วันออกเช็ค และจำนวนเงินตามเช็คพิพาท และมีข้อความตอนท้ายใจความว่า จำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันได้อ่านข้อความเข้าใจดีแล้วจึงลงลายมือชื่อรับรองไว้เป็นหลักฐาน และลงลายมือชื่อในช่องผู้ค้ำประกันด้วย คำว่า “ค้ำประกัน” มีความหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 ว่าอันค้ำประกันนั้นคือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ค้ำประกันผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น ดังนั้นเมื่อตามเอกสารดังกล่าวมีข้อความระบุว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน จึงเป็นที่เข้าใจได้แล้วว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทไม่ชำระเงินตามเช็ค จำเลยที่ 3 จะยอมชำระแทน เอกสารดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสัญญาค้ำประกันตามบทกฎหมายดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการ จำเลยที่ 1ที่ 2 ได้ร่วมกันสั่งจ่ายเช็ครวม 3 ฉบับ สั่งจ่ายเงินฉบับละ100,000 บาท ชำระหนี้โจทก์ จำเลยที่ 3 ได้ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันหนี้ตามเช็คดังกล่าว ต่อมาธนาคารปฎิเสธ การจ่ายเงินตามเช็ค ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 304,390บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อในหนังสือตามฟ้องโดยเจตนาเพียงจะประกันตัวจำเลยที่ 2 ที่ถูกคุมขังในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ไม่มีเจตนาจะเข้าค้ำประกันหนี้ตามเช็คที่จำเลยที่ 2 ถูกคุมขังอยู่ หากฟังว่าเป็นการค้ำประกันหนี้ตามเช็คจำเลยที่ 3 ก็มีเจตนาจะค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 2และจำเลยที่ 2 กระทำในฐานผู้แทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบริษัทจำกัด จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวจำเลยที่ 3จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 100,000บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 22 กันยายน 2529 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 300,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละครึ่งต่อปีของต้นเงิน 100,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2529 20 สิงหาคม 2529 และ 22 กันยายน 2529ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องรวมกันไม่เกิน4,390 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 3 ชำระแทนจนครบนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาของจำเลยที่ 2 เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงไม่รับวินิจฉัย คงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ว่าจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทให้แก่โจทก์หรือไม่ หากฟังว่าจำเลยที่ 1 ต้องรับผิด ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ จำเลยที่ 3 ต้องชำระแทนให้แก่โจทก์หรือไม่ ในปัญหาแรกศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เช็คพิพาทจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้แทนจำเลยที่ 1สั่งจ่ายมอบให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ จำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่ายต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทให้แก่โจทก์
ส่วนในปัญหาที่ว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 3จะต้องชำระแทนหรือไม่นั้น เช็คพิพาทจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 สั่งจ่าย จำเลยที่ 2 จึงสั่งจ่ายเช็คพิพาทในฐานะเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด การที่จำเลยที่ 3 ทำหนังสือเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งมีข้อความระบุถึงเลขที่วันออกเช็คและจำนวนเงินตามเช็คพิพาท และตามหนังสือดังกล่าวมีข้อความตอนท้ายใจความว่า จำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันได้อ่านข้อความเข้าใจดีแล้ว จึงลงลายมือชื่อรับรองไว้เป็นหลักฐาน และลงลายมือชื่อในช่องผู้ค้ำประกันด้วยคำว่า “ค้ำประกัน” มีความหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680ว่า อันค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น ดังนั้นเมื่อตามเอกสารหมาย จ.2มีข้อความระบุว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน จึงเป็นที่เข้าใจได้แล้วว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทไม่ชำระเงินตามเช็ค จำเลยที่ 3 จะยอมชำระแทน เอกสารหมาย จ.2จึงมีลักษณะเป็นสัญญาค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 680 หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินตามเช็คพิพาท โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันชำระแทน
พิพากษายืน

Share