แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ใช้ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาอันเดียวกัน ในคำฟ้องคดีเดียวที่รวมเอาความผิดหลายกระทงไว้ด้วยกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 160 หรือคำฟ้องหลายคดีที่พิจารณาพิพากษารวมกัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 25 ซึ่งปรากฏว่าจำเลยกระทำผิดหลายกรรมต่างกันก็ให้ศาลลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปโดยมีข้อยกเว้นว่า เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วโทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนดตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 วรรคท้าย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91มิได้บัญญัติห้ามว่าการนับโทษจำคุกของจำเลยในคดีหนึ่งต่อจากคดีอื่นของจำเลยที่มีคำฟ้องและคำพิพากษาต่างสำนวนต่างหากออกไป เมื่อนับรวมกันแล้วจะเกินกำหนดในมาตรา 91 ไม่ได้ ซึ่งการขอให้นับโทษจำคุกของจำเลยในคดีหนึ่งต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอื่น เป็นการขอให้ศาลกล่าวไว้เป็นอย่างอื่นในคำพิพากษาเกี่ยวกับการเริ่มนับโทษจำคุกของจำเลยในคดีนั้นว่าจะให้เริ่มนับแต่เมื่อใดซึ่งหากไม่กล่าวไว้เป็นอย่างอื่นก็จะต้องเริ่มแต่วันมีคำพิพากษา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 22 วรรคหนึ่ง จึงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลว่าสมควรให้นับโทษต่อหรือไม่เพียงใด และมิได้อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน
คดีนี้และคดีก่อนเป็นเรื่องที่จำเลยกระทำผิดทุจริตเบียดบังค่าธรรมเนียมและค่าคำขอในการทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินจากส่วนราชการของกรมที่ดิน หน่วยราชการซึ่งเป็นผู้เสียหายก็คือกรมที่ดินรายเดียวกัน สำนวนการสอบสวนของคดีนี้และคดีก่อนก็เป็นสำนวนเดียวกัน โจทก์สามารถฟ้องจำเลยสำหรับการกระทำความผิดคดีนี้และคดีดังกล่าวเป็นคดีเดียวกันได้ เพราะโจทก์จำเลยเป็นคนเดียวกัน และพยานก็เป็นชุดเดียวกัน แต่ถ้าโจทก์แยกฟ้องจำเลยแต่ละกระทงความผิดเป็นรายสำนวนไป และศาลมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษาคดีทุกสำนวนรวมกัน ศาลก็จะลงโทษจำเลยได้ไม่เกินกำหนดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เหตุที่ต้องฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีกเพราะเกิดความผิดพลาดในการดำเนินคดี และศาลชั้นต้นไม่มีโอกาสสั่งให้คดีก่อนพิจารณาพิพากษารวมกัน ประกอบกับคดีก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยรวมเต็มตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 91 หากให้นับโทษจำคุกของจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีก่อนก็จะทำให้จำเลยต้องโทษจำคุกหนักขึ้น โดยเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 91 เพียงเพราะความผิดพลาดในการดำเนินคดี จึงไม่มีเหตุสมควรให้นับโทษจำคุกของจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีก่อน
คดีก่อนเป็นคดีที่เกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลจังหวัดพิษณุโลกซึ่งอยู่นอกเขตอำนาจศาลชั้นต้นคดีนี้ แม้เป็นกรณีที่จำเลยกระทำความผิดในข้อหาเดียวกับข้อหาที่จำเลยถูกลงโทษในคดีนี้ ในทางปฏิบัติไม่อาจยื่นฟ้องคดีก่อนต่อศาลชั้นต้น ทั้งไม่อาจรวมพิจารณาพิพากษากับคดีนี้ได้ จึงเป็นคดีที่มีคำฟ้องและคำพิพากษาต่างสำนวนต่างหากออกไปไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ถึงแม้ศาลจังหวัดพิษณุโลกจะพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 50 ปี เต็มตามที่กำหนดไว้ใน ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ก็ชอบที่จะนับโทษจำคุกของจำเลยติดต่อกันได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยเป็นข้าราชการสังกัดกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ตำแหน่งเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี ประจำสำนักงานที่ดินจังหวัดพิจิตรอันเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายมีหน้าที่รับเงินค่าธรรมเนียม ค่าคำขอในการจดทะเบียนนิติกรรม ดูแลรักษาเงินดังกล่าว จัดทำใบเสร็จรับเงินและนำเงินค่าธรรมเนียม ค่าคำขอส่งต่อคณะกรรมการรักษาเงิน ในระหว่างจำเลยปฏิบัติหน้าที่ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2523 เวลากลางวัน จำเลยปลอมเอกสารสำเนาใบเสร็จรับเงินเล่มที่ 1 ต 03804 เลขที่ 23ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2523 ซึ่งเป็นคู่ฉบับเอกสารใบเสร็จรับเงินที่จำเลยออกให้แก่นายพนัส พวงมณี เป็นค่าคำขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวม จำนวน 10 บาท ทั้งนี้โดยจำเลยกรอกข้อความลงในสำเนาใบเสร็จรับเงินค่าคำขอว่าได้รับเงินค่าคำขอจำนวน 5 บาท โดยจำเลยไม่มีอำนาจกระทำการเช่นนั้น แล้วจำเลยเบียดบังยักยอกเอาเงินค่าคำขอส่วนหนึ่ง จำนวน5 บาท ไปเป็นประโยชน์ส่วนตน เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2524 เวลากลางวัน จำเลยปลอมเอกสารสำเนาใบเสร็จรับเงินเล่มที่ 1 ป 03637 เลขที่ 21 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2524 ซึ่งเป็นคู่ฉบับของเอกสารใบเสร็จรับเงินที่จำเลยออกให้แก่นายสวาท หลิมเทศ และธนาคารกรุงไทย จำกัด เป็นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนจำนองที่ดินและค่าคำขอจดทะเบียนนิติกรรม จำนวน 425 บาท ทั้งนี้โดยจำเลยกรอกข้อความลงในสำเนาใบเสร็จรับเงินว่าได้รับเงินค่าธรรมเนียมและค่าคำขอไว้เพียง 5 บาท โดยจำเลยไม่มีอำนาจกระทำการเช่นนั้น แล้วจำเลยเบียดบังยักยอกเงินจำนวน 420 บาท ไปเป็นประโยชน์ส่วนตน และเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2525 เวลากลางวัน จำเลยปลอมเอกสารสำเนาใบเสร็จรับเงินเล่มที่ 1 ม 04452 เลขที่ 24 ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2525 ซึ่งเป็นคู่ฉบับเอกสารใบเสร็จรับเงินที่จำเลยออกให้แก่นางสำอาง สุ่มสาย และธนาคารกสิกรไทย เป็นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนจำนองที่ดินและค่าคำขอจดทะเบียนนิติกรรมจำนวน 425 บาท ทั้งนี้โดยจำเลยกรอกข้อความลงในสำเนาใบเสร็จรับเงินว่าได้รับเงินค่าธรรมเนียมและค่าคำขอไว้เพียง 5 บาท โดยจำเลยไม่มีอำนาจกระทำการเช่นนั้น แล้วเบียดบังยักยอกเงิน จำนวน420 บาท ไปเป็นประโยชน์ส่วนตน เหตุทั้งหมดเกิดที่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 147, 157, 161, 162(1) และให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน จำนวน 845 บาท แก่กรมที่ดินผู้เสียหายกับนับโทษจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1118/2532 (ต่อมาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 1125/2536) ของศาลจังหวัดพิษณุโลกและคดีอาญาหมายเลขดำที่ 970/2533 กับ 552/2534 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ และหลังจากสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้วจำเลยขอถอนคำให้การเดิม และให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147, 161 ให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 147 อันเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 5 ปี จำเลยกระทำความผิดรวม3 กระทง รวมจำคุก 15 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 7 ปี 6 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินที่เบียดบังไปจำนวน 845 บาท แก่กรมที่ดินผู้เสียหาย ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ขอให้นับโทษจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1118/2532 หมายเลขแดงที่ 1125/2536 ของศาลจังหวัดพิษณุโลกและคดีอาญาหมายเลขดำที่ 970/2533 กับ 552/2534 ของศาลชั้นต้น
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นในข้อหาความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และบรรยายฟ้องด้วยวาจำเลยนี้เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1118/2532 ของศาลจังหวัดพิษณุโลกและจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 970/2533 กับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 552/2534 ของศาลชั้นต้นในข้อหาเดียวกับคดีนี้ ขอให้นับโทษของจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีดังกล่าว โดยศาลจังหวัดพิษณุโลกพิพากษาจำคุกจำเลย 50 ปีตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1125/2536 ซึ่งจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน คดีถึงที่สุด ส่วนคดีอาญาหมายเลขดำที่ 970/2533 และ 552/2534 ศาลชั้นต้นรวมการพิจารณาพิพากษาโดยพิพากษาจำคุกจำเลยรวม 50 ปี ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 28/2537 และ 29/2537 คดีอยู่ในระหว่างอุทธรณ์ฎีกาคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จะนับโทษจำคุกของจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1125/2536 ของศาลจังหวัดพิษณุโลก และโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 28/2537 และ 29/2537 ของศาลชั้นต้นได้หรือไม่ โดยโจทก์กล่าวอ้างในฎีกาว่าไม่มีกฎหมายใดห้ามนับโทษจำเลยที่กระทำผิดต่างกรรมติดต่อกัน เป็นแต่ว่าเมื่อนับโทษต่อกันแล้วตามความผิดในคดีนี้จะนับโทษต่อกันเกิน 50 ปี ไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) เท่านั้น เห็นว่า ข้อความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ที่บัญญัติว่า “เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ฯลฯ”มีความหมายว่า บทบัญญัติมาตรา 91 นี้ ใช้ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาอันเดียวกัน ในคำฟ้องคดีเดียวที่รวมเอาความผิดหลายกระทงไว้ด้วยกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 160 หรือคำฟ้องหลายคดีที่พิจารณาพิพากษารวมกัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 25 ซึ่งปรากฏว่าจำเลยกระทำผิดหลายกรรมต่างกันก็ให้ศาลลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่มีข้อยกเว้นตามที่บัญญัติไว้ต่อไปว่า “แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษหรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนดดังต่อไปนี้ (1) สิบปีสำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี (2) ยี่สิบปีสำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุด มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี (3) ห้าสิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต” ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91มิได้บัญญัติห้ามว่าการนับโทษจำคุกของจำเลยในคดีหนึ่งต่อจากคดีอื่นของจำเลยที่มีคำฟ้องและคำพิพากษาต่างสำนวนต่างหากออกไป เมื่อนับรวมกันแล้วจะเกินกำหนดในมาตรา 91 ไม่ได้ ซึ่งการขอให้นับโทษจำคุกของจำเลยในคดีหนึ่งต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอื่น เป็นการขอให้ศาลกล่าวไว้เป็นอย่างอื่นในคำพิพากษาเกี่ยวกับการเริ่มนับโทษจำคุกของจำเลยในคดีนั้นว่าจะให้เริ่มนับแต่เมื่อใด ซึ่งหากไม่กล่าวไว้เป็นอย่างอื่นก็จะต้องเริ่มแต่วันมีคำพิพากษา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 22 วรรคหนึ่งจึงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลว่าสมควรให้นับโทษต่อหรือไม่เพียงใดและมิได้อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน
สำหรับการขอให้นับโทษจำคุกของจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 28/2537 และ 29/2537 ของศาลชั้นต้นนั้น ปรากฏว่า คดีนี้และคดีดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยกระทำผิดทุจริตเบียดบังค่าธรรมเนียมและค่าคำขอในการทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินจากส่วนราชการของกรมที่ดิน หน่วยราชการซึ่งเป็นผู้เสียหายก็คือกรมที่ดินรายเดียวกัน สำนวนการสอบสวนของคดีนี้และคดีดังกล่าวก็เป็นสำนวนเดียวกัน โจทก์สามารถฟ้องจำเลยสำหรับการกระทำความผิดคดีนี้และคดีดังกล่าวเป็นคดีเดียวกันได้ เพราะโจทก์จำเลยเป็นคนเดียวกัน และพยานก็เป็นชุดเดียวกัน แต่ถ้าโจทก์แยกฟ้องจำเลยแต่ละกระทงความผิดเป็นรายสำนวนไป และศาลมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษาคดีทุกสำนวนรวมกัน ศาลก็จะลงโทษจำเลยได้ไม่เกินกำหนดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เหตุที่ต้องฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีกเพราะเกิดความผิดพลาดในการดำเนินคดี และศาลชั้นต้นไม่มีโอกาสสั่งให้คดีนี้กับคดีดังกล่าวพิจารณาพิพากษารวมกัน ประกอบกับคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยรวมเต็มตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 91 หากให้นับโทษจำคุกของจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีดังกล่าวก็จะทำให้จำเลยต้องโทษจำคุกหนักขึ้นคือเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 91 เพียงเพราะความผิดพลาดในการดำเนินคดีจึงไม่มีเหตุสมควรให้นับโทษจำคุกของจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 28/2537 และ 29/2537 ของศาลชั้นต้น
ส่วนการขอให้นับโทษจำคุกของจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1125/2536 ของศาลจังหวัดพิษณุโลกนั้น เห็นว่า คดีดังกล่าวเป็นคดีที่เกิดขึ้นนอกเขตอำนาจศาลชั้นต้น แม้เป็นกรณีที่จำเลยกระทำผิดในข้อหาเดียวกับข้อหาที่จำเลยถูกลงโทษในคดีนี้และในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 28/2537 และ 29/2537 ของศาลชั้นต้น ในทางปฏิบัติไม่อาจยื่นฟ้องคดีดังกล่าวต่อศาลชั้นต้น ทั้งไม่อาจรวมพิจารณาพิพากษากับคดีนี้ และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 28/2537 และ29/2537 ของศาลชั้นต้นได้ จึงเป็นคดีที่มีคำฟ้องและคำพิพากษาต่างสำนวนต่างหากออกไป ไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ถึงแม้ศาลจังหวัดพิษณุโลกจะพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 50 ปี เต็มตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ก็ชอบที่จะนับโทษจำคุกของจำเลยติดต่อกันได้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่นับโทษต่อให้นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้นับโทษจำคุกของจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1125/2536 ของศาลจังหวัดพิษณุโลก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2