คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4656/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิด 2 กรรมตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ ฐานมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย ตามมาตรา 7 ซึ่งมีโทษตามมาตรา 72 วรรคสาม จำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี กับฐานพาอาวุธปืนไปตามมาตรา 8 ทวิ วรรคสอง ซึ่งมีโทษตามมาตรา 72 ทวิ วรรคสอง จำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปีนั้น ความผิดที่โจทก์ฟ้องมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่ถึงสิบปี แม้คำขอท้ายฟ้อง ของโจทก์ไม่ระบุว่าวรรคใด ก็ต้องถือเอาคำขอที่สอดคล้องกับคำบรรยายฟ้อง เป็นสำคัญ กรณีเช่นนี้ศาลไม่ต้องสอบถามจำเลยในเรื่องทนายก่อนเริ่มพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยได้
ในชั้นอุทธรณ์ จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษไว้ แต่ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยปัญหาข้อนี้ เพื่อให้การพิจารณาคดี เป็นไปตามลำดับชั้นศาล ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ พ.ศ. ๒๔๙๐มาตรา ๗, ๘ ทวิ, ๗๒, ๗๒ ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๘ ทวิ, ๗๒, ๗๒ ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ลงโทษฐานมีอาวุธปืนของผู้อื่นไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก ๑ ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในที่ชุมนุมชนที่ได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการนมัสการ การรื่นเริง การมหรสพหรือการอื่นใดโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก ๖ เดือน รวมจำคุก ๑ ปี ๖ เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่งคงจำคุก ๙ เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงถึง ๑๐ ปี แต่ศาลชั้นต้นมิได้ถามจำเลยว่ามีทนายหรือไม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๗๓ เป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้น ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้องแล้วพิพากษาไปตามรูปคดี
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๗๓ บัญญัติว่า “ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไปก่อนเริ่มพิจารณา ให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการ ก็ให้ศาลตั้งทนายให้ ฯลฯ” คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยเป็น ๒ กรรมตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ ฐานมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย อันเป็นความผิดตามมาตรา ๗ และต้องลงโทษตามมาตรา ๗๒ วรรคสาม ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท กับฐานพาอาวุธปืนไปในชุมนุมชนที่ได้จัดให้มีขึ้น เพื่อนมัสการ การรื่นเริง การมหรสพ อันเป็นความผิดตามมาตรา ๘ ทวิ วรรคสอง และต้องลงโทษตามมาตรา ๗๒ ทวิ วรรคสอง ซึ่งระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปีและปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท ดังนั้นข้อหาความผิดที่โจทก์ฟ้องจึงมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่ถึงสิบปี แม้คำขอของโจทก์ไม่ระบุว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามวรรคใด ก็ต้องถือเอาคำขอที่สอดคล้องกับคำบรรยายฟ้องเป็นสำคัญ ศาลชั้นต้นจึงไม่จำต้องสอบถามจำเลยในเรื่องทนายเสียก่อนเริ่มพิจารณา เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยได้ การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น ปรากฏว่าในชั้นอุทธรณ์ จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษไว้ แต่ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยปัญหาข้อนี้ได้เพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปตามลำดับชั้นศาล ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าว
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share