แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 เข้ายึดถือที่พิพาทก่อนที่ทางราชการจะกำหนดให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีเจตนากระทำผิด คำขอให้จำเลยที่ 1 และบริวารออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่ยึดถือครอบครองเป็นคำขอในวิธีการอุปกรณ์ของโทษ ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 31 วรรคท้าย เมื่อศาลมิได้พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามบทมาตราดังกล่าว ศาลจึงไม่มีอำนาจสั่งตามที่โจทก์ขอได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 ไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 มาตรา 4, 6, 8, 9, 14, 31, 35 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 มาตรา 3 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2528 มาตรา 4 กฎกระทรวงฉบับที่ 621 (พ.ศ.2516) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 33 ริบของกลาง กับสั่งให้จำเลยทั้งสี่และบริวารออกไปจากเขตป่าสงวนแห่งชาติที่ยึดถือครอบครองด้วย
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 4, 6, 8, 9, 14, 31 วรรคสอง,35 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 มาตรา 3พระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2528 มาตรา 4กฎกระทรวง ฉบับ 621 (พ.ศ. 2516) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 33ลงโทษจำคุก 2 ปี ริบของกลาง ให้จำเลยที่ 1 และบริวารออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติที่ยึดถือครอบครอง ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 เสียด้วย คืนของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1เข้ายึดถือที่พิพาทก่อนที่ทางราชการจะกำหนดให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติจำเลยที่ 1 จึงไม่มีเจตนากระทำผิด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยที่ 1 และบริวารออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติที่ยึดถือครอบครองนั้นไม่ชอบเนื่องจากคำขอส่วนนี้เป็นคำขอในวิธีการอุปกรณ์ของโทษ ตามพระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 31 วรรคท้ายเมื่อศาลมิได้พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามบทมาตราดังกล่าวแล้ว ศาลจึงไม่มีอำนาจสั่งตามที่โจทก์ขอได้ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 ไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้”
พิพากษายืน แต่ให้ยกคำขอให้จำเลยที่ 1 และบริวารออกไปจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ