แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บทบัญญัติเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำนั้น พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 ไม่ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14 ที่ว่านำมาใช้บังคับโดยอนุโลมนั้น หมายความถึงว่านำมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับกฎหมายล้มละลายส่วนที่ว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ป.วิ.พ. บัญญัติเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำไว้ในมาตรา 144 ว่า “เมื่อศาลใดมีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดหรือในประเด็นข้อใดแห่งคดีแล้ว ห้ามมิได้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้น
” บทบัญญัติของกฎหมายล้มละลายส่วนที่ว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาองค์กรทางธุรกิจไว้ และเพื่อให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/8 บัญญัติว่า “ผู้ร้องจะขอถอนคำร้องขอไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต แต่ถ้าศาลได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว ศาลจะอนุญาตให้ถอนคำร้องขอไม่ได้ ในกรณีที่ผู้ร้องทิ้งคำร้องขอ หรือขาดนัดพิจารณา หรือศาลอนุญาตให้ถอนคำร้องขอ ก่อนที่ศาลจะสั่งจำหน่ายคดี ให้โฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อยหนึ่งฉบับเพื่อให้เจ้าหนี้ทั้งหลายและลูกหนี้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน” และมาตรา 90/9 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อศาลสั่งรับคำร้องขอแล้ว ให้ดำเนินการไต่สวนเป็นการด่วน
กับให้ส่งสำเนาคำร้องขอแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายเท่าที่ทราบ
” จากวัตถุประสงค์และหลักกฎหมายดังกล่าวจึงเห็นเป็นที่ประจักษ์ว่าการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่งตามมาตรา 90/4 นั้นเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลาย การดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีฟื้นฟูกิจการโดยผู้ร้องขอฟื้นฟูกิจการในคดีหนึ่งถือเสมือนหนึ่งว่า เป็นการกระทำการแทนบุคคลอื่น ๆ ด้วย เช่นนี้หากคดีก่อนศาลได้วินิจฉัยเกี่ยวกับช่องทางในการฟื้นฟูกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วว่าไม่เป็นช่องทางในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และในคดีหลังมีการเสนอช่องทางในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่มีสาระสำคัญเหมือนกับคดีก่อน การพิจารณาวินิจฉัยคดีหลังย่อมเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14
ในคดีก่อนลูกหนี้ขอฟื้นฟูกิจการโดยอ้างเหตุช่องทางการฟื้นฟูกิจการว่า จะพัฒนาพื้นที่ให้เช่าตอบสนองความต้องการของลูกค้า จัดสรรให้มีพื้นที่เช่าสูงสุดเพื่อให้ผลกำไรของลูกหนี้เพิ่มขึ้นโดยมีแผนกลยุทธ์ด้านต่าง ๆ คือ แผนด้านผลิตภัณฑ์ จะพัฒนาสาธารณูปโภคได้แก่ ไฟฟ้า น้ำประปา ที่จอดรถ การรักษาความปลอดภัย ให้เป็นที่น่าพึงพอใจสูงสุดแก่ลูกค้าและผู้ใช้บริการ แผนด้านราคา เน้นการกำหนดราคาที่หลากหลายขึ้นอยู่กับจำนวนพื้นที่เช่าและรูปแบบการเช่า อาศัยความได้เปรียบของทำเลที่ตั้งอาคารเปรียบเทียบกับค่าบริการของอาคารให้เช่าอื่น ๆ ในระดับใกล้เคียงกัน แผนด้านช่องทางการจัดจำหน่าย เน้นที่ความหลากหลายของโครงการ เช่น การจัดนิทรรศการต่าง ๆ ภายในอาคาร เพื่อช่วยเพิ่มการหมุนเวียนของผู้ใช้บริการในอาคาร ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า แนวทางดังกล่าวไม่น่าเชื่อว่าจะทำให้ลูกหนี้มีรายได้เพิ่มสูงขึ้นจนเพียงพอที่จะนำมาหมุนเวียนในกิจการและแบ่งสรรไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้ในเมื่อผู้ร้องขอก็ไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการระดมทุนตลอดถึงแหล่งเงินทุนที่จะมาสนับสนุนวิกฤติการณ์ทางการเงินอันเป็นข้อสำคัญของการฟื้นฟูกิจการ การปรับโครงสร้างหนี้กับบรรดาเจ้าหนี้ก็ดี การติดตามหนี้สินที่ลูกค้าของลูกหนี้ค้างชำระก็ดี การเจรจากับเจ้าหนี้ภาระค้ำประกันโดยขอให้ใช้สิทธิเรียกร้องต่อลูกหนี้ชั้นต้นให้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ภาระค้ำประกันก่อนก็ดี ล้วนเป็นเรื่องที่เลื่อนลอยไม่อาจคาดหมายได้ คดีไม่มีเหตุอันสมควรและไม่มีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้ จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอ คดีนี้ผู้ร้องขอเสนอช่องทางฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ว่า จะทำให้กิจการของลูกหนี้เกิดผลกำไรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีความสามารถในการบริหารจัดการทางการเงินให้มีกระแสเงินสดหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ภาระหนี้สินต่อทรัพย์สินอยู่ในอัตราที่เหมาะสมตามแนวทางต่าง ๆ ได้แก่ การเพิ่มมูลค่าทรัพย์สิน โดยปรับปรุงคุณภาพสถานที่เพื่อให้เป็นอาคารสำนักงานที่มีความโดดเด่นที่สุดอาคารหนึ่งในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง ปรับเปลี่ยนพื้นที่เช่าบางส่วนให้เป็นสถานบันเทิงแบบครบวงจร เช่น โรงภาพยนต์ขนาดเล็ก ลานโบว์ลิ่ง หรือลานเบียร์สด โดยอาศัยความได้เปรียบด้านที่ตั้งและพื้นที่ของอาคาร การเพิ่มรายได้ด้านอื่น ๆ คือเพิ่มค่าเช่าสำนักงานและพื้นที่การให้เช่า ให้บริการที่จอดรถ ให้เช่าพื้นที่จัดนิทรรศการต่าง ๆ เรียกเก็บค่าบริการและค่าสาธารณูปโภคจากลูกค้า รับเป็นผู้บริหารอาคารสำนักงานอื่น ๆ ขายพื้นที่หรือเช่าพื้นที่ระยะยาวโดยได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้มีประกัน ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น การชำระหนี้จะมีการปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ทั้งหลาย รายละเอียดตามตารางการชำระหนี้ที่จะเสนอภายหลัง ช่องทางฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่ผู้ร้องขอเสนอมาดังกล่าวมีความแตกต่างจากช่องทางที่ลูกหนี้เสนอในคดีก่อนเพียงถ้อยคำและรายละเอียดวิธีปฏิบัติตามช่องทาง แต่สาระสำคัญหรือหลักการเหมือนกับคดีก่อน จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14
ย่อยาว
ผู้ร้องขอยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ และตั้งผู้ทำแผนตามที่ผู้ร้องขอเสนอหากศาลยังไม่มีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนก็ให้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้บริหารชั่วคราวก่อน
ผู้คัดค้านทั้งสี่ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องขอ
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้องขอ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องขออุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า บทบัญญัติเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำนั้น พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 ไม่ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14 ที่ว่านำมาใช้บังคับโดยอนุโลมนั้น หมายความถึงว่านำมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับกฎหมายล้มละลายส่วนที่ว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ป.วิ.พ. บัญญัติเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำไว้ในมาตรา 144 ว่า “เมื่อศาลใดมีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือในประเด็นข้อใดแห่งคดีแล้ว ห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้น
” บทบัญญัติของกฎหมายล้มละลายส่วนที่ว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาองค์กรทางธรุกิจไว้และเพื่อให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/8 บัญญัติว่า “ผู้ร้องขอจะถอนคำร้องขอไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต แต่ถ้าศาลได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว ศาลจะอนุญาตให้ถอนคำร้องขอไม่ได้ ในกรณีที่ผู้ร้องขอทิ้งคำร้องขอ หรือขาดนัดพิจารณา หรือศาลอนุญาตให้ถอนคำร้องขอ ก่อนที่ศาลจะสั่งจำหน่ายคดี ให้โฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันที่เแพร่หลายอย่างน้อยหนึ่งฉบับเพื่อให้เจ้าหนี้ทั้งหลายและลูกหนี้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน” และมาตรา 90/9 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อศาลสั่งรับคำร้องขอแล้ว ให้ดำเนินการไต่สวนเป็นการด่วน
กับให้ส่งสำเนาคำร้องขอแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายเท่าที่ทราบ
” จากวัตถุประสงค์และหลักกฎหมายดังกล่าวจึงเห็นเป็นที่ประจักษ์ว่า การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่งตามมาตรา 90/4 นั้นเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลาย การดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีฟื้นฟูกิจการโดยผู้ร้องขอฟื้นฟูกิจการในคดีหนึ่งถือเสมือนหนึ่งว่าเป็นการกระทำการแทนบุคคลอื่น ๆ ด้วย เช่นนี้หากคดีก่อนศาลได้วินิจฉัยเกี่ยวกับช่องทางในการฟื้นฟูกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วว่าไม่เป็นช่องทางในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ และในคดีหลังมีการเสนอช่องทางในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่มีสาระสำคัญเหมือนกับคดีก่อน การพิจารณาวินิจฉัยคดีหลังนี้ย่อมเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14
ในคดีหมายเลขแดงที่ 717/2544 ลูกหนี้ได้ร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยอ้างเหตุช่องทางในการฟื้นฟูกิจการว่า จะพัฒนาพื้นที่ให้เช่าตอบสนองความต้องการของลูกค้า จัดสรรให้มีพื้นที่เช่าสูงสุดเพื่อให้ผลกำไรของลูกหนี้เพิ่มขึ้นโดยมีแผนกลยุทธ์ด้านต่าง ๆ คือ แผนด้านผลิตภัณฑ์ จะพัฒนาสาธารณูปโภคได้แก่ไฟฟ้า น้ำประปา ที่จอดรถ การรักษาความปลอดภัย ให้เป็นที่น่าพึงพอใจสูงสุดแก่ลูกค้าและผู้ใช้บริการ แผนด้านราคา เน้นการกำหนดราคาที่หลากหลายขึ้นอยู่กับจำนวนพื้นที่เช่าและรูปแบบการเช่า อาศัยความได้เปรียบของทำเลที่ตั้งอาคารเปรียบเทียบกับค่าบริการของอาคารให้เช่าอื่น ๆ ในระดับใกล้เคียงกัน แผนด้านช่องทางการจัดจำหน่าย เน้นที่ความหลากหลายของโครงการ เช่น การจัดนิทรรศการต่าง ๆ ภายในอาคาร เพื่อช่วยเพิ่มการหมุนเวียนของผู้ใช้บริการในอาคาร และมีเจ้าหนี้หลายรายให้ความสนับสนุนการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ซึ่งศาลล้มละลายกลางเห็นว่า แนวทางดังกล่าวไม่น่าเชื่อว่าจะทำให้ลูกหนี้มีรายได้เพิ่มสูงขึ้นเพียงพอที่จะนำมาหมุนเวียนในกิจการและแบ่งสรรไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้ในเมื่อผู้ร้องขอก็ไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการระดมทุนตลอดถึงแหล่งเงินทุนที่จะมาสนับสนุนวิกฤติการณ์ทางการเงินอันเป็นข้อสำคัญของการฟื้นฟูกิจการ การปรับโครงสร้างหนี้กับบรรดาเจ้าหนี้ก็ดี การติดตามหนี้สินที่ลูกค้าของลูกหนี้ค้างชำระก็ดี การเจรจากับเจ้าหนี้ภาระค้ำประกันโดยขอให้ใช้สิทธิเรียกร้องต่อลูกหนี้ชั้นต้นให้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ภาระค้ำประกันก่อนก็ดี ล้วนเป็นเรื่องที่เลื่อนลอยไม่อาจคาดหมายได้ คดีไม่มีเหตุอันสมควรและไม่มีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้ จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอ คดีนี้ผู้ร้องขอเสนอช่องทางฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ว่า จะทำให้กิจการของลูกหนี้เกิดผลกำไรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีความสามารถในการบริหารจัดการทางการเงินให้มีกระแสเงินสดหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ภาระหนี้สินต่อทรัพย์สินอยู่ในอัตราที่เหมาะสมตามแนวทางต่าง ๆ ได้แก่การเพิ่มมูลค่าของทรัพย์สิน โดยปรับปรุงคุณภาพสถานที่เพื่อให้เป็นอาคารสำนักงานที่มีความโดดเด่นที่สุดอาคารหนึ่งในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง ปรับเปลี่ยนพื้นที่เช่าบางส่วนให้เป็นสถานบันเทิงแบบครบวงจร เช่น โรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก ลานโบว์ลิ่ง หรือลานเบียร์สด โดยอาศัยความได้เปรียบด้านที่ตั้งและพื้นที่ของอาคาร การเพิ่มรายได้ด้านอื่น ๆ คือเพิ่มค่าเช่าสำนักงานและพื้นที่การให้เช่า ให้บริการที่จอดรถ ให้เช่าพื้นที่จัดนิทรรศการต่าง ๆ เรียกเก็บค่าบริการและค่าสาธารณูปโภคจากลูกค้า รับเป็นผู้บริการอาคารสำนักงานอื่น ๆ ขายพื้นที่หรือให้เช่าพื้นที่ระยะยาวโดยได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้มีประกัน ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น การชำระหนี้จะมีการปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ทั้งหลาย รายละเอียดตามตารางการชำระหนี้ที่จะเสนอภายหลัง ช่องทางฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่ผู้ร้องขอเสนอมาดังกล่าวมีความแตกต่างจากช่องทางที่ลูกหนี้เสนอในคดีหมายเลขแดงที่ 717/2544 เพียงถ้อยคำและรายละเอียดวิธีปฏิบัติตามช่องทาง แต่สาระสำคัญหรือหลักการไม่ได้แตกต่างจากเดิม ที่ผู้ร้องขอเสนออีกว่าจะระดมทุนเพื่อนำเงินมาชำระหนี้และใช้ในกิจการของลูกหนี้โดยจะขออนุญาตคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ออกหุ้นเพิ่มทุนก็ดี ขออนุญาตขายหุ้นกู้ หรือหุ้นกู้แปลงสภาพก็ดี ไม่ใช่ช่องทางใหม่ที่แตกต่างอย่างเป็นสาระสำคัญจากแนวทางที่ศาลล้มละลายกลางได้วินิจฉัยไว้แต่อย่างใด การที่ผู้ร้องขอยื่นคำร้องขอคดีนี้โดยเสนอช่องทางในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่มีสาระสำคัญเหมือนกับคดีก่อนจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.